“เกมจบ แต่บานาน่าแลนด์ยังไปต่อ” นั่นคือเสียงเล็กๆ ที่เอ่ยผ่านใบหน้าเปื้อนยิ้มของคุณบั้ม – ลักขณา แสนบุ่งค้อ สาวร่างเล็กผู้มีพลังเหลือล้น เธอเข้ารอบเป็น 1 ใน 5 ทีมสุดท้าย จากรายการ WIN WIN WAR Thailand ซีซั่นแรก และนี่ก็เป็นเสมือนคำต้อนรับเมื่อทีมงานเดินทางไปถึงบ้านเกิดของเธอในจังหวัดเลย สถานที่ที่มีชื่อเรียกว่า “บานาน่าแลนด์”
ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่หญิงสาวร่างเล็กคนนี้ เป็นผู้ปลุกปั้นขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของเธอเอง ด้วยพลังอันล้นเหลือที่ผุดมาพร้อมกับไอเดียมากมายที่พร้อมสานต่อหลังจากได้ร่วมรายการนี้ ทำให้ที่ดินเปล่าผืนนี้ได้รับการเติมเต็มขึ้นมาอีกสเต็ป หากยังมีอีกหลายไอเดียที่ซุกซ่อนอยู่ในความคิดของเธอ
จากที่ดินเปล่าซึ่งเดิมทีเป็นเพียงทุ่งนาที่ภาพความสวยงามแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล วิวเบื้องหน้านำสายตาสู่ภูหอ ภูเขาที่มีรูปลักษณ์แปลกตา มองดูคล้ายเป็นกับ งอบ หรือหมวกของชาวอีสานที่เป็นเครื่องแบบแดดลมฝนในตอนทำสวนทำนา ฝั่งขวากั้นขอบฟ้ากับผืนนาด้วยสันเขาภูหลวง บานาน่าแลนด์จึงคล้ายกับเป็นแอ่งระหว่างเทือกเขาทั้งสอง ซึ่งเป็นผลดีทำให้ที่แห่งนี้ยังคงความสดชื่นด้วยอากาศที่ปลอดโปร่ง มีลมพัดผ่านตลอดปี และมีอากาศเย็นสบายแม้จะเป็นช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิในตอนกลางวันอาจระอุขึ้นไปถึง 35 องศาเซลเซียส แต่ในตอนกลางคืนอุณหภูมิจะเหลือเพียง 18 องศาเซลเซียสเท่านั้น ฤดูฝนกับฤดูหนาวจึงถือว่าเป็นช่วงที่งดงามที่สุดของที่นี่
จุดเริ่มต้น Banana Land ภาคต่อของ Banana Family
“บานาน่าแลนด์เริ่มขึ้นตอนไปแข่งรายการ WIN WIN WAR Thailand ก่อนหน้านี้ก็คิดไว้ว่าอยากสร้างสถานที่สักแห่งไว้เป็นที่รองรับนักท่องเที่ยว พี่เจ (คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการของรายการ) บอกว่าให้เริ่มเลย เพราะขนมกล้วยของเราเริ่มลงตัวแล้ว ด้วยพื้นฐานที่ตัวเองเป็นคนชอบป่า ชอบทำเกษตร พอเริ่มทำบานาน่าแลนด์ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เก่งเรื่องแลนด์สเคป จึงต้องค่อยๆ ทำไป เริ่มจากสะพานไม้ที่เราเรียกกันว่า ‘สะพานดาว’ เป็นจุดชมวิวที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจของชุมชน เพื่อสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเล็กๆในอำเภอภูหลวง” สะพานดาวเป็นเหมือนหมุดหมายที่คนต่างถิ่นต้องมาเยือน โดยออกแบบเป็นสะพานไม้ไผ่ที่ทอดยาวเป็นทางเดินกลางทุ่งนา ขนานไปกับวิวภูหอที่กลายเป็นฉากหลังอันงดงาม และไหนๆเมื่อมาถึงบานาน่าแลนด์แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “ต้นกล้วย” ซึ่งมีทั้งที่ปลูกใหม่และของเดิมที่ปลูกมาก่อนหน้านี้
เรื่องกล้วยๆ ที่ไม่กล้วย และเป็นมากกว่ากล้วย
“ที่นี่จะปลูกกล้วยน้ำว้ากัน นอกจากใช้เป็นวัตถุดิบทำขนมแล้วยังแปรรูปเป็นอย่างอื่นได้เยอะด้วย คือกล้วยหนึ่งต้น หลังจากที่เราเอาผลกล้วยไปทำขนม ส่วนอื่นๆก็จะนำมาทำงานคราฟต์ อย่างกาบกล้วยที่คิดไว้คือจะทำเป็นสมุดทำมือ ก็เลยตั้งใจสร้างเถียงนาน้อยๆขึ้นมา แต่ตอนนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำเวิร์คชอปการทำสมุดจากกาบกล้วย สอนวาดรูปจากยางกล้วย เราพบว่ายางกล้วยสามารถใช้เป็นหมึกได้โดยไม่ต้องผ่านการต้มใดๆ ทั้งสิ้น เหตุเกิดจากเสื้อเราเปื้อนยางกล้วยแล้วซักไม่ออก ก็เลยรู้สึกว่ายางกล้วยมีคุณลักษณะพิเศษ ถ้าเรานำมาเพ้นต์เสื้อ เมื่อยางแห้งก็จะได้สีน้ำตาลเข้มสวย นอกจากนี้ยังมีการทำอาหารจากกล้วยที่ปลูกในสวนของเราด้วย”
ปลูกผักแบบสัมมะปิ เรียกรู้จากปราชญ์ท้องถิ่น
หากอยากเที่ยวแบบเข้าถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรอย่างแท้จริง อาหารมื้อเย็นของที่นี่ก็สามารถบอกเล่าความเป็นไปได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับพื้นที่รอบเพิงไม้ที่คุณบั้มเรียกว่า “เถียงนาน้อย” กับการทำเกษตรแบบพึ่งพา ปลูกผักสวนครัวแบบผสมผสาน “ผักในสวนเราปลูกแบบสัมมะปิ หมายถึง ปลูกแบบมั่วๆ (หัวเราะ) ก็เป็นการปลูกแบบผสมผสานกัน ไม่ได้มีการแบ่งโซนชัดๆ เพื่อให้ผักแต่ละชนิดมีระบบนิเวศพึ่งพากัน อย่างริมสระน้ำเราจะปลูกไม้ยืนต้นเพื่อช่วยอุ้มดินริมตลิ่ง แต่ตอนนี้ต้นยังมีขนาดเล็กอยู่ มีผักที่ปลูกผสมๆกันทั้งในระดับสูง กลาง ต่ำ เพื่อว่าหากมีแมลงหรือเพลี้ยลง มันก็จะกินไปทีละต้นพอต้นข้างๆเป็นอีกชนิดมันก็จะไม่กิน เพราะเป็นพืชต่างชนิดกัน ซึ่งเป็นวิธีไล่แมลงแบบธรรมชาติ ส่วนที่ปลูกไม้ดอกแซมด้วย ก็เป็นการหลอกผีเสื้อให้มาดูดน้ำหวานแล้วมาผสมเกสรให้ต้นผักที่อยู่ใกล้ๆ เราก็จะได้เมล็ดผัก
“กว่าจะรู้เรื่องเกษตรเหล่านี้เราต้องเรียนเพิ่มค่ะ ตอนเด็กชอบปลูก ชอบถาม เรียนรู้จากคุณพ่อ และได้ไปศึกษาเพิ่มอีกทีก็หลังปี 2550 ซึ่งได้เป็นสมาชิก อสพ. หรืออาสาพัฒนา รุ่นรักบ้านเกิด ที่จัดตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย ทำให้ได้พบปราชญ์ชาวบ้านบ่อยๆ เราก็จะชอบถาม รู้สึกว่าความรู้ต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป เราชอบถามคำถามกับผู้เฒ่าผู้แก่ แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่คาใจ อย่างการปลูกต้นไม้ในวันดับกับวันไม่ดับ ซึ่งเป็นความเชื่อที่เรางงมากและอยากหาคำตอบว่าทำไมปลูกต้นไม้วันพุธไม่ได้ ไหนจะเรื่องคนมือร้อนมือเย็น อันนี้เราค้นพบว่าคนมือร้อนคือคนที่ไม่ตั้งใจดูแลต้นไม้ต่างหาก” และเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีเกษตรอย่างเต็มรูปแบบที่นี้ยังมีกิจกรรมทดลอง ดำนาข้าว ด้วยตัวเองได้ ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง ตุลาคม ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวแบบเต็มรูปแบบของที่นี่
For Fang For Fun เรื่องสนุกแบบมีสาระของงานศิลปะแบบบ้านๆ
แม้ว่าบานาน่าแลนด์จะเพิ่งเริ่มตั้งไข่ในเวลาแค่ไม่กี่เดือน แต่ยังคงมีการจัดกิจกรรมต่างๆขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างโครงการ For Fang For Fun ก็เป็นความร่วมมือจากชุมชนเกษตรกรเพื่อรณรงค์ไม่ให้เผาฟางข้าวที่มักเกิดขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว การเผาฟางนี้เป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่นควันและทำให้ดินเสียคุณภาพ และส่งผลกระทบต่อพื้นที่อำเภอภูหลวงโดยตรง เนื่องจากทำเลเป็นเหมือนแอ่งตรงกลางระหว่างภูเขา ควันไฟ ฝุ่นละอองต่างๆจึงมักสะสมอยู่ในบริเวณนี้ ปัญหานี้เกิดขึ้นทุกปี จนคุณบั้มมองว่าควรมีกิจกรรมอะไรสักอย่างที่ใช้ฟางข้าวจากท้องนามาเป็นกุญแจในการสร้างสรรค์ และนั่นคือที่มาของโปรเจ็กต์นี้ โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นจะมีหลายรูปแบบ เริ่มจากการสร้างปราสาทฟางกลางทุ่งนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเข้ามาถ่ายภาพและชมภาพศิลปะผลงานของเด็กๆที่มาจากการประกวดวาดภาพที่เคยจัดไปก่อนหน้านี้ โดยโครงการ For Fang For Fun ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2562 เก็บค่าเข้าชมงานเพียงท่านละ 20 บาทเท่านั้น
สำรวจแหล่งท่องเที่ยวรอบๆ ภูหอ
เนิบๆ ช้าๆ ในท้องนาและวิถีชุมชน
ความโดดเดี่ยวไม่เคยนำมาซึ่งความสำเร็จ เช่นเดียวกับเครือข่ายชุมชนที่จับมือกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรนิเวศ อำเภอภูหลวง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งกลุ่มชาวบ้านที่จับมือสร้างเครือข่ายท่องเที่ยวนี้เป็นเสมือนส่วนเติมเต็มต่อจากบานาน่าแลนด์ ที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนภูหออย่างลึกซึ้ง
สวนพืชไทย
สวนเกษตรเนื้อที่ 9 ไร่บริเวณริมเขาที่มีบ้านหลังเล็กซุกตัวอยู่ท่ามกลางแนวป่าอันร่มรื่นและเงียบสงบ เกิดขึ้นจากความคิดของ “ป้าเพริศ” เจ้าของบ้านที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพักแบบโฮมเสตย์ได้ โดยคิดค่าบริการคนละ 350 บาทพร้อมอาหารหนึ่งมื้อ ความพิเศษอยู่ที่แขกสามารถเก็บพืชผักในสวนที่ออกผลตามฤดูกาลมารับประทานได้ตามใจชอบ เช่น มะขามหวาน มะนาว มะม่วง ฯลฯ ที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรที่มีผลิตภัณฑ์เด่นคือข้าว 28 สายพันธุ์
เฮือนโบราณของ ตาสวน ยายบัว
เฮือน หรือบ้าน ยังคงเป็นสิ่งสะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในชุมชนนั้นๆ ได้เสมอ เช่นเดียวเฮือนโบราณ บ้านตาสวนกับยายบัว สองปราญช์ชุมชนที่อยู่ร่วมเรือนหลังเก่า เรือนหอของสองตายาย ที่อยู่อาศัยมาร่วม 60 ปี และยังคงรักษาแบบแผนของเฮือนไม้อีสานในทุกส่วนไว้เฉกเช่นดังเดิม
Banana Family
ก่อนเดินทางกลับ ต้องกลับไปที่ Banana Family หากไม่ได้ลิ้มรสของ Banana Stick ขนมรับประทานเล่นจากกล้วยน้ำว้าของแบรนด์ Banana Family อันเป็นสินค้าเด่นที่คุณบั้มและสมาชิกจากกลุ่มน้องออมรักพ่อหลวงปลุกปั้นขึ้นมา ต้องถือว่ามาไม่ถึงภูหอ แม้จะใช้วัตถุดิบจากสวนกล้วยของชาวบ้านในชุมชน แต่มาตรฐานการผลิตอยู่ในระดับส่งออกต่างประเทศ ได้รับการรับรองจาก อย. และได้มาตรฐาน GMP สำหรับการส่งออก มีการควบคุมการผลิตและตรวจร่างกายพนักงานเข้า-ออกอย่างละเอียด แต่กว่าจะเป็นขนมกล้วย Banana Family ที่มีหลายรสชาติให้ชิมกันนี้ คุณบั้มเล่าว่าเธอต้องผ่านบททดสอบความตั้งใจมามากมาย ตั้งแต่การทดลองผลิตในขั้นแรกที่พบเจอกับความล้มเหลว ทั้งรสชาติและรูปแบบการผลิตที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือการวางจำหน่ายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และที่สำคัญคือการต่อสู้กับทัศนคติของคนที่มองว่ากล้วยเป็นพืชที่ไม่ได้มีมูลค่า ทั้งที่มีคุณประโยชน์มากมาย
Banana Family ถือเป็นธุรกิจ SE หรือ Social Enterprise ที่เป็นการทำธุรกิจเพื่อชุมชนซึ่งสาวร่างเล็กเพียรทำ สร้างความเข้าใจให้ชุมชนได้รู้จักอีกหนึ่งรูปแบบของอาชีพ ไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปอยู่ในเมือง ไปใช้ชีวิตท่ามกลางแสงสีและความวุ่นวายของผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ธุรกิจ SE เป็นการกลับมาตั้งหลักให้ตัวเองและชุมชนได้อย่างเข้มแข็ง สามารถมีรายได้ มีอาชีพ และยังคงอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดของตน “ตัวอย่างธุรกิจ SE ที่เห็นชัดที่สุดคือ โครงการหลวง นี่คือสิ่งที่เราอยากให้ทุกคนได้รู้ สิ่งที่เราพร่ำอธิบายต่อใครมากมายว่าอะไรคือ SE เราทำไปทำไม จนวันหนึ่งเห็นข่าวการเปิดรับสมัครรายการ WIN WIN WAR Thailand เรารีบสมัครเลยค่ะ เพราะนี่แหละคือสิ่งที่เราเพียรทำมาตลอดและไม่เคยมีใครเข้าใจ แต่รายการนี้จะทำให้ทุกคนได้เห็นถึงสิ่งที่เราทำว่ามันเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากเพียงใด” คุณบั้มกล่าวทิ้งท้าย
เรื่อง : JOMM YB
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล