การทำเกษตรในเมืองเป็นอีกเทรนด์ที่กำลังนิยม โดยเฉพาะผู้ที่สนใจเรื่องการปลูกพืชและต้องการผลิตอาหารสดใหม่ไว้รับประทานเอง โดยไม่ต้องกังวลกับสารเคมี สำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัดแต่อยากจะเริ่มต้นปลูกผักง่าย ๆ โรงเรือนปลูกผัก ขนาดเล็ก
เรามีตัวอย่าง โรงเรือนปลูกผัก ขนาดเล็ก ที่ใช้พื้นที่ไม่มาก ลักษณะเหมือนการปลูกผักกางมุ้งแต่ดีไซน์สวยงาม ที่ช่วยป้องกันสัตว์ต่าง ๆทั้งศัตรูพืชและสัตว์เลี้ยงได้ด้วย เจ้าของโรงเรือนหลังนี้คือ คุณเจเจ-สุทัศนันท์ พิทักษ์วงศ์ สถาปนิกและนักออกแบบ ลองตามไปดูไอเดียและเทคนิคการปลูกผักของเขากันค่ะ
คุณเจเจเล่าว่าแรกเริ่มมาจากที่ตัวเขาทำงานสายออกแบบและผลิต จึงหันมาสนใจผลิตอาหารบ้าง แต่แทนที่จะเป็นอาหารที่ออกจากครัวก็เป็นอาหารที่ออกมาจากสวน
“ผมมองว่าการทำสวนเป็นเหมือนการทดลองวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างที่ทำต้องมีที่มาที่ไป ปุ๋ยที่ใส่เพราะอะไร และต้องการแค่ไหน ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ มีผลกับพืชอย่างไร รวมไปถึงผลลัพธ์ ไม่ว่าจะเป็น ขนาดและปริมาณผลผลิตที่ได้ รสชาติความอร่อย หรือแม้แต่ต้นทุนที่ใช้ ผมมองว่าเมื่อไหร่ที่พืชผักปลอดสาร เริ่มมีมากขึ้น คนตื่นตัวเรื่องนี้กันมากขึ้น พืชผักแบบเดิม ๆ ที่มีการใช้สารเคมีก็จะหายไปเองตามกลไกและเวลา”
โรงเรือน…ผู้ช่วยป้องกันแมลงและสัตว์ต่าง ๆ
“โรงเรือนมีประโยชน์หลายอย่างครับ หลักๆ คือช่วยกันแมลงและสัตว์ที่จะมารบกวนต้นไม้ของเรา เช่น ต้นกล้าก็ต้องระวังนก หนู แมลงกินใบต่าง ๆ ไปจนถึงแมลงที่จะมาทำลายผลผลิต ซึ่งหากปลูกกลางแจ้งก็ยากที่จะควบคุม การทำโรงเรือนจึงลดการระบาดของแมลงต่าง ๆ และช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณน้ำที่จะให้พืชในช่วงหน้าฝนได้ด้วย ทำให้พืชไม่เกิดเชื้อราได้ง่าย”
“โรงเรือนของผมมีสองส่วน ส่วนแรกคือโรงเรือนในสวนหน้าบ้าน ขนาด 2×3 เมตร เป็นโครงสร้างไม้ มุงหลังคาพลาสติกใส กับมุ้งขาวกันแมลงโดยรอบ ด้านในเสริมโต๊ะทำงานสวน อีกส่วนคือพื้นที่เพาะต้นกล้าทำไว้ในบ้าน เพราะช่วงแรกต้นกล้าไม่ชอบแดดแรง”
ถาดเพาะกล้าผักคลุมลวดตายข่ายป้องกันสัตว์มาคุ้ยเขี่ย และกินต้นกล้า ส่วนโรงเรือนพลาสติกหลังเล็กสำหรับเพาะกล้า นำเอาผ้าสะท้อนแสงคลุมอีกชั้นเพื่อให้แสงกระจายทั่วถึงและสม่ำเสมอ
ปลูกอะไรในโรงเรือน
“ปลูกมะเขือเทศเป็นหลัก มีผักและสมุนไพรปลูกควบคู่กันไปบ้างเป็นรอบๆ เพราะผักจะมีรอบปลูกแค่ประมาณเดือนครึ่ง แต่มะเขือเทศจะมีรอบประมาณหกเดือน” นอกจากมะเขือเทศแล้ว พืชผักชนิดอื่นๆที่คุณเจเจปลูกหมุนเวียนสลับกันมีทั้งผักสลัด ได้แก่ บัตเตอร์เฮด ร็อคเก็ต คอส และพืชสมุนไพรแต่งกลิ่นเสริมรสอาหารอย่างเช่น เบซิล พาสลีย์ โรสแมรี่ เป็นต้น
ผลผลิตมะเขือเทศบางรอบการปลูกสามารถเก็บได้ถึง 25 กิโลกรัม
วิธีดูแลพืชในโรงเรือน
“หลัก ๆ ที่พยายามทำอยู่คือปลูกพืชแบบปลอดสารพิษครับ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และกระบวนการธรรมชาติ เน้นให้ต้นไม้แข็งแรง มีภูมิต้านทาน เริ่มจากมีดินที่ดี แล้วดินหรือพื้นที่เพาะปลูกก็สามารถหมุนเวียนได้เรื่อยๆ เพราะดินที่ใช้จะยิ่งอุดมสมบูรณ์ขึ้น ต่างจากการใช้สารเคมีที่จะทำให้ดินของเราเสื่อมลงไป
คุณเจเจปรุงดินเองโดยใช้ปุ๋ยหมักที่ทำเองมาผสมกับดิน ใส่ลงในกระบะที่เปิดก้นลงดินโดยตรง ดินคุณภาพดีที่ใส่ลงไปจะช่วยปรับปรุงดินเดิมที่อยู่ด้านล่างให้ดีไปเรื่อย ๆ
“ผมใช้ระบบน้ำหยดที่ทำขึ้นเองง่าย ๆ มีไทเมอร์ตั้งเวลาให้น้ำ แต่ว่ายังต้องคอยปรับตามสภาพอากาศอยู่ โดยเฉพาะเวลาอากาศแห้งกับชื้น หลักๆ มะเขือเทศจะมีเชื้อรากับเพลี้ยหน้าแล้งจะเจอเพลี้ย หน้าฝนเป็นเรื่องเชื้อรา ทั้งทางรากและทางใบ วิธีป้องกันคือฉีดเชื้อราที่เป็นปฏิปักษ์กับเพลี้ย ถ้าทางดินใช้เชื้อราที่เป็นตัวดีไปทำลายตัวที่ไม่ดี ส่วนทางใบก็ตัดแต่งทรงพุ่มต้นให้โปร่ง ไม่เป็นที่สะสมโรคและแมลง รวมทั้งควบคุมสภาพลมหมุนเวียนในโรงเรือนครับ และฉีดธาตุอาหารให้พืชแข็งแรงไม่โทรมเมื่อโดนศัตรูพืชเข้าทำลาย”
ปลูกพืชหมุนเวียนภายในโรงเรือน
“สำหรับมะเขือเทศจะเพาะกล้าแยกไว้ส่วนหนึ่ง พอช่วงที่ต้นเก่ากำลังจะถึงรอบเก็บเกี่ยวหมดและรื้อแปลงผมจะเริ่มเพาะชุดใหม่รอไว้ หลังจากเคลียร์รอบเก่าออกก็สามารถเตรียมดินสำหรับรอบใหม่ และลงต้นไม้ชุดใหม่ได้เลย ส่วนพืชหมุนเวียนเน้นคุณสมบัติเบนความสนใจแมลงศัตรู หรือล่อแมลงที่เป็นประโยชน์พวกดอกไม้ กับสมุนไพร ควบคู่กันไป”
กระบะไม้กั้นขอบสำหรับปลูกมะเขือเทศและวางระบบน้ำหยดอัตโนมัติ พื้นโรงเรือนปูผ้าใยสังเคราะห์ให้เดินสะดวก และช้วยป้องกันหญ้า
นอกจากนี้ปลูกผักแล้วเขายังเลี้ยงไก่ไข่ที่เก็บไข่ไว้รับประทานได้ทุกวัน เมื่อเข้ามาในบริเวณบ้านจึงเหมือนฟาร์มย่อม ๆ ที่เต็มด้วยอาหารสดใหม่ และปลอดภัย ซึ่งทำได้แค่ในรั้วบ้านนี่เอง
ข้อมูลทั้งหมดจากหนังสือ
Garden & Farm Vol. 10 โรงเรือนข้างบ้าน
เรื่อง วรัปศร
ภาพ สุทัศนันท์ พิทักษ์วงศ์
เรื่องที่น่าสนใจ