โรงเรือนของร้าน Little Tree อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยคุณศิริวิทย์ ริ้วบำรุง
เรื่อง : วรัปศร
เมื่อได้เดินทางไปเก็บภาพโรงเรือนต่าง ๆของคนรักต้นไม้มาลงใน หนังสือ Garden & Farm Vol. 10 “โรงเรือนข้างบ้าน” ฉบับนี้ นอกจาก โรงเรือน รูปแบบสวย ๆ เพื่อเก็บต้นไม้แล้ว เราสังเกตว่าบางท่านยังใช้พื้นที่มุมนี้ไว้สำหรับพักผ่อนในสวน และต่อยอดสร้างรายได้เสริมจากต้นไม้ที่พวกเขาปลูกไว้ ตัวอย่างเช่น โรงเรือนทิลแอนด์เซียของ คุณหนุ่ม-วีระพล วิชกิจ ที่สามารถสร้างรายได้เสริมจากงานประจำเดือนละกว่า 50,000 บาท จากพื้นที่ไม่กี่ตางรางเมตรข้างบ้าน โรงเรือนแคคตัสหลังเล็กของ คุณปอย-ปอยเงิน เบญญารัตน์ ต่อยอดเป็นธุรกิจจัดสวนกระถางขายใน IG คุณสม-สมฤดี สิขันธกบุตร ทำโรงเรือนเฟินเป็นทั้งมุมสะสมและพักผ่อนหลังบ้าน เมื่อเพื่อนฝูงมาเห็นต้นไม้สวย ๆก็ขอซื้อไปเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษต่าง ๆ และจ้างให้คุณสมไปออกแบบจัดสวนให้ด้วย รวมทั้งโรงเรือนสะสมต้นไม้ของ คุณวิทย์-ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง นักจัดสวนชื่อดังแห่ง Little Tree ที่ใช้เป็นทั้งห้องพักผ่อน เก็บสะสมต้นไม้ และทดลองปลูกต้นไม้ชนิดใหม่ๆ ก่อนนำไปใช้ในงานจัดสวน เห็นไหมว่าโรงเรือนเป็นได้มากกว่ามุมสะสมต้นไม้จริงๆ
โรงเรือนทิลแอนด์เซียข้างบ้านของคุณหนุ่ม-วีระพล วิชกิจ
โรงเรือนเฟินหลังบ้านทำเป็นเหมือนห้องนั่งเล่นในสวนของคุณสมฤดี สิขันธกบุตร
โรงเรือนแคคตัสสะสมสุดน่ารักของคุณปอย-ปอยเงิน เบญญารัตน์
แม้ว่าในความเป็นจริงต้นไม้ส่วนใหญ่สามารถปลูกเลี้ยงภายนอกได้โดยไม่จำเป็นต้องทำโรงเรือน โดยเฉพาะหากพื้นที่นั้นมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับพืชชนิดนั้นๆ อยู่แล้ว แต่สำหรับพืชบางชนิดการปลูกเลี้ยงในโรงเรือนช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมได้ดีกว่า ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตดีและสวยงามมากขึ้น โดยทั่วไปเรามักนิยมทำโรงเรือนสำหรับปลูกต้นไม้ที่ต้องการสภาพแวดล้อมแบบเฉพาะตัว ต้นไม้มีราคา และต้นไม้ที่ต้องการปลูกเลี้ยงให้สวยงามเป็นพิเศษ เช่น แคคตัส เฟิน หน้าวัวใบ กล้วยไม้ พืชผัก เป็นต้น ประโยชน์ของโรงเรือนพอสรุปง่าย ๆ ดังนี้
- ใช้เป็นสถานที่เพาะเมล็ด ขยายพันธุ์ และอนุบาลต้นกล้า
- ช่วยควบคุมและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช จึงวางแผนการปลูกพืชได้ง่าย และเสี่ยงน้อยกว่าการปลูกในพื้นที่โล่ง
- ปกป้องพืชให้ปลอดภัยจากสัตว์ต่างๆ เช่น นก หนู แมลง
- ป้องกันปัญหาโรคและแมลงรบกวนได้บางส่วน จึงช่วยลดการใช้สารเคมี ทำให้ผลผลิตปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง
- ควบคุมปัจจัยที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ง่ายกว่าการปลูกนอกโรงเรือน ทำให้สามารถปลูกพืชได้หลายรุ่นในรอบปี ปลูกพืชนอกฤดูได้ และยืดอายุการปลูกพืชบางชนิดให้ยาวนานกว่าปกติ
- เก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ และพักฟื้นต้นไม้ที่นำมาใหม่ รวมทั้งใช้เก็บของ เช่น เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์ทำสวน
- จัดเป็นมุมสวยงามสำหรับพักผ่อนในสวนได้
- สามารถติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์พยุงลำต้น แขวนผล เป็นต้น ติดตั้งเพียงครั้งเดียวสามารถใช้งานติดต่อกันได้หลายฤดูปลูก
เตรียมทำโรงเรือน
การเลือกรูปแบบโรงเรือนขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ใช้งาน วิธีง่าย ๆ คือสังเกตโรงเรือนของคนที่ปลูกเลี้ยงต้นไม้ประเภทเดียวกับเราและนำมาปรับใช้ ศึกษาคุณสมบัติเบื้องต้นของวัสดุแต่ละชนิดเพื่อให้เลือกใช้ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น หากเป็นไปได้ควรวางโรงเรือนในแนวเหนือ – ใต้ เพื่อให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดทั่วถึงและลมหมุนเวียนในโรงเรือนได้ดี แต่หากมีพื้นที่จำกัด ควรเลือกตำแหน่งที่ตั้งให้เหมาะกับชนิดต้นไม้ที่ปลูก พรรณไม้ที่ชอบร่ม โรงเรือนอาจจะอยู่ฝั่งทิศตะวันออกหรือทิศเหนือของบ้าน แต่หากเป็นพรรณไม้ที่ชอบแดดให้เลือกวางในทิศตะวันตกหรือทิศใต้ และไม่มีสิ่งปลูกสร้างอื่นใกล้เคียงบดบังแสง หากไม่มีพื้นที่จริงๆ ให้เลือกบริเวณที่สะดวกต่อการใช้งานสามารถเดินต่อเนื่องไปยังส่วนอื่นๆ และขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ได้สะดวก
เตรียมพื้นที่
หากบริเวณที่จะทำโรงเรือนเป็นพื้นคอนกรีตหรือปูกระเบื้องไว้แล้วมีระดับพื้นเรียบเสมอกัน และโรงเรือนไม่มีน้ำหนักมากก็สามารถตั้งโรงเรือนได้เลย แต่ทางที่ดีควรปรับระดับพื้นให้ลาดเอียงไปยังท่อระบายน้ำเล็กน้อยเพื่อไม่ให้น้ำขังในโรงเรือน หากเป็นพื้นดินควรปรับระดับก่อน โดยใช้ทรายถมแล้วปูพื้นด้วยวัสดุที่ต้องการ เช่น อิฐมอญ อิฐบล็อก อิฐตัวหนอน บล็อกพรุน แผ่นทางเดินสำเร็จรูป หินคลุก เป็นต้น หากทำโครงสร้างจริงจังควรเตรียมฐานรากและลงเสาเข็มให้พร้อมก่อนทำโรงเรือนเพื่อความมั่นคง แข็งแรง
ลงมือสร้าง
สำหรับโรงเรือนขนาดเล็ก เจ้าของบ้านสามารถทำเองได้ อาจใช้วัสดุที่หาได้ทั่วไปหรือวัสดุที่มีในท้องถิ่น แต่หากจ้างช่างมืออาชีพเข้ามาทำโรงเรือนควรมีแบบหรือตัวอย่างให้ช่างดูเป็นแนวทาง ระบุระยะ กำหนดวัสดุที่ต้องการ โรงเรือนแบบจริงจังอาจมีเรื่องการทำฐานรากเข้ามาเกี่ยวข้อง พื้นที่ใช้สอยภายในโรงเรือนควรมีส่วนทำงาน เก็บของ ปลูกต้นไม้ให้เป็นสัดส่วน และใช้งานได้สะดวก และควรคำนึงถึงจำนวนต้นไม้ที่จะเพิ่มเติมในอนาคต จึงควรมีพื้นที่เผื่อวางต้นไม้ไว้ด้วย
ยังมีเรื่องน่ารู้ ในการทำโรงเรือน รูปแบบโรงเรือนสวย ๆ พร้อมวิธีการเลือกใช้วัสดุสำหรับโรงเรือนแต่ละประเภท รวมทั้งเรื่องน่าสนใจอื่น ๆอีกมากมาย
ติดตามได้ใน หนังสือ Garden & Farm Vol.10 โรงเรือนข้างบ้าน
สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ https://www.facebook.com/Baanlaesuanbooks/