Orchid anatomy

ทำความรู้จักกับเรือนร่างอันสวยงาม แตกต่าง และหลากหลายของกล้วยไม้กัน

ราก เป็นเนื้อเยื่อพิเศษ สีขาว ลักษณะคล้ายฟองน้ำเรียกว่า วีลาเมน (velamen) ที่ห่อหุ้มรากจริงเอาไว้ มีหน้าที่กักเก็บความชื้นป้องกันแสงแดดให้รากที่แท้จริงที่อยู่ภายใน ส่วนปลายรากมีสีเขียว สามารถสังเคราะห์แสงได้

ลำต้น มีหลายลักษณะ ทั้งแบบลำต้นตั้งขึ้น เป็นลำ อวบน้ำ เติบโตตามแนวดิ่ง ตั้งขึ้นหรือห้อยลง มีลำเป็นทรงกระบอกแคบยาวหรือรูปทรงกลมแป้น คล้ายผลกล้วย จึงเรียกว่า ลำลูกกล้วย (pseudobulb) บางสกุลมีลำต้นขนาดเล็กทอดเลื้อยไปกับผิวดินหรือลำต้นของไม้ใหญ่ แตกรากสั้นเป็นกระจุกตามข้อเรียกว่า เหง้า (rhizome) เช่น สกุลสิงโตกลอกตา (Bulbophyllum) นอกจากนี้กล้วยไม้บางชนิดมีลำต้นเป็นหัวทำหน้าที่เก็บน้ำและสะสมอาหารใต้ดิน สามารถแตกกอได้ หรือบางชนิดก็ไม่มีลำต้นเลย เช่น กล้วยไม้รองเท้านารี

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจะ ช่อแยกแขนง หรือช่อกระจุกแน่น ออกจากหัวหรือตามข้อตรงข้ามกับใบ หรือออกจากโคนลำลูกกล้วย เป็นดอกสมบูรณ์เพศมี 6 กลีบ แบ่งเป็น
ชั้นนอก คือ กลีบเลี้ยง(sepal) หรือกลีบชั้นนอก อยู่ด้านบน 1 กลีบ  ด้านล่าง 2 กลีบ
ชั้นใน คือ กลีบดอก (petal)ด้านข้าง 2 กลีบ และด้านล่าง 1 กลีบที่เปลี่ยนรูปเป็นกลีบปากหรือกระเป๋า กึ่งกลางดอกมีเส้าเกสร (staminal column) ซึ่งเป็นที่รวมของเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย ลักษณะเป็นแท่งกลางดอก ด้านบนมีฝาเล็กๆ (anthercap หรือ operculum) ปิดคลุมอับเรณูไว้ถัดจากฝาเล็กๆ ลงมาจะเป็นแอ่งเว้าเข้าไป
orchid-anatomy

orchid-fruit
ฝักกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิสที่แก่และแตกออก

ผล เป็นฝัก มีรูปร่างแตกต่างกัน ทั้งรูปไข่รูปรี รูปทรงกระบอก และรูปกลม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแตกออกตามยาวภายในมีเมล็ดเล็กคล้ายฝุ่นมากมายและปลิวไปตามลมได้ง่าย หากเมล็ดปลิวไปตกในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นและมีแสงแดดเพียงพอก็จะเติบโตเป็นต้นใหม่ได้อย่างง่ายดาย

ชมกล้วยไม้หลากชนิดได้ที่ Plant Library

ข้อมูลจาก คู่มือคนรักต้นไม้ ชุดที่ 6 “กล้วยไม้ไทย” โดย อุไร จิรมงคลการ

สงวนสิทธิ์โดย บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน) ใช้เพื่อเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต ห้ามดัดแปลง ทำซ้ำด้วยวิธีการใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต