ทุกวันนี้ผักราคาแพง แถมยังเสี่ยงมีสารเคมีตกค้าง จึงคิดอยากปลูกผักอินทรีย์กินเองที่บ้านบ้าง เปิดเว็บไซต์เจอเรื่องการปลูกผักร่วมกับเลี้ยงปลาของต่างประเทศ โอ้โห… น่าสนใจ ยิ่งได้รู้ว่าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงราย มีตัวอย่าง อะควาโปนิกส์ แบบง่าย ที่ทำได้ไม่ยุ่งยาก เลยอยากนำไอเดียนี้มาบอกต่อกัน
คุณสุภาพ แก้วละเอียด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงราย ให้ข้อมูลว่า “เมื่อได้ยินคำว่า อะควาโปนิกส์ คนทั่วไปมักคิดว่าจับต้องได้ยาก ผมจึงคิดรูปแบบที่เหมาะสมกับบ้านเรามาทำให้ดู โดยใช้เทคโนโลยีที่แตะได้ถึงทุกระดับ ชาวบ้านเคยเลี้ยงปลาอย่างไรก็นำรูปแบบที่เขาคุ้นเคยมาปรับให้เข้ากับระบบ ทั้งเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์และในถังพลาสติกแบบเคลื่อนย้ายได้ แล้วนำปลาที่เลี้ยงง่าย เช่น ปลาดุก ปลาหมอ ปลาช่อน และปลากระดี่ ซึ่งมีอวัยวะพิเศษช่วยหายใจ สามารถฮุบอากาศเอาออกซิเจนจากผิวน้ำไปใช้ได้โดยตรง จึงไม่จำเป็นต้องใช้ปั๊มลมเพิ่มออกซิเจนเหมือนปลาชนิดอื่น และเน้นปลูกผักที่กินกันในชีวิตประจำวันครับ”
หลักการเบื้องต้นของอะควาโปนิกส์เป็นวิธีนำน้ำเลี้ยงปลามาหมุนเวียนเป็นแหล่งปุ๋ยให้พืชผัก ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนเลี้ยงปลาและส่วนปลูกผักซึ่งทำงานเกื้อกูลกัน โดยมีจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บริเวณรากพืชและวัสดุปลูกช่วยปรับสมดุลของน้ำให้ปลาอยู่ได้และผักเจริญงอกงาม พร้อมติดตั้งระบบกรองเพื่อช่วยกรองน้ำอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเข้าใจหลักการปรับสมดุลของน้ำก็สำเร็จได้
“ใครมาดูงานเห็นการทำอะควาโปนิกส์แบบง่าย ๆ นี้ก็นำกลับไปทำต่อ เพราะระบบที่เรานำเสนอไม่ยุ่งยาก โดยเฉพาะคนที่เลี้ยงปลาอยู่แล้ว แค่ติดตั้งระบบกรองต่อท่อส่งน้ำไปยังรางปลูกผักเพิ่ม ไม่นานก็ได้กินผักปลูกเองที่ปลอดภัย ชอบกินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น อย่างคนที่นี่ชอบกินลาบก็ปลูกผักพื้นบ้านไว้กินแกล้ม เช่น ผักแพว ผักคาวตอง ผักชีล้อม และผักกระโฉมหรือโหระพาน้ำ จะกินเมื่อไหร่ก็แวะมาเก็บได้ไม่ต้องซื้อ”
“คนเมืองที่สนใจก็ลองทำกันได้ครับ ไม่ต้องห่วงเรื่องหาซื้อพันธุ์ปลา เพราะกรมประมงมีศูนย์เพาะพันธุ์ในแต่ละภูมิภาค หรือจะซื้อพันธุ์จากชาวบ้านมาเลี้ยงก็ได้ สิ่งสำคัญคือ บริเวณที่นำอะควาโปนิกส์ไปติดตั้งต้องมีแสงแดดเพียงพอให้พืชผักเจริญเติบโต แล้วทำหลังคาพรางแสงโดยใช้ไม้ ท่อพีวีซี หรือปูนเป็นเสาก็ได้แล้วแต่สะดวก เพื่อให้ผักและปลาไม่อยู่ท่ามกลางแดดร้อนจนเป็นอันตราย”
นอกจากได้ผักและปลาไว้กินเองในครอบครัวแล้ว คุณเทวัฒน์ สุขเกษม เจ้าพนักงานประมงปฏิบัติการ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“อะควาโปนิกส์ประหยัดน้ำมากครับ เดิมเลี้ยงปลาต้องเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ ก็เหลือแค่เปลี่ยนถ่ายน้ำในระบบกรองเดือนละครั้ง หากเลี้ยงปลา 200 ตัว ระยะเวลาเลี้ยง 4 เดือน ปลาที่เลี้ยงแบบปกติจะใช้น้ำรวม 14,400 ลิตร ขณะที่ปลาที่เลี้ยงแบบอะควาโปนิกส์ใช้น้ำรวมแค่ 2,400 ลิตรเท่านั้น ช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 12,000 ลิตร ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตรครับ
“ส่วนการดูแลผักก็ไม่ยุ่งยาก แนะนำให้ปลูกผักหลังจากเลี้ยงปลาแล้ว 1-2 สัปดาห์เพื่อให้น้ำมีของเสียที่จะแปลงเป็นธาตุอาหารพืชอย่างเพียงพอ โดยปลูกบนแผ่นโฟมเจาะรูลอยน้ำ มีน้ำไหลผ่านเพิ่มออกซิเจนให้รากพืชตลอดเวลา พร้อมกับใช้น้ำหมักมูลไส้เดือนเสริม เป็นการเพิ่มจุลินทรีย์ในน้ำด้วย ระหว่างนี้ก็หมั่นสำรวจแมลงศัตรู หากเจอแมลงกัดกินใบพืชมากก็ใช้สารสกัดสะเดา เมื่อผักได้ระยะเก็บเกี่ยวก็ทยอยตัดไปทำอาหาร”
ขอขอบคุณ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงราย ตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย
เรื่อง : วิรัชญา จารุจารีต / ภาพ : ธนกิตติ์ คำอ่อน
สั่งซื้อได้ที่นี่
เรื่องที่น่าสนใจ