ทุกวันนี้วงการ กระบองเพชร ของไทยนั้นเติบโตจากเดิมมากมายหลายเท่า เมื่อนักเล่นเยอะขึ้นก็มีการเพาะพันธุ์เพิ่มขึ้นไปด้วย ทำให้เกิดแรงจูงใจในการคัดสรรสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด มีการตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อป้องกันความสับสน และเพิ่มความสะดวกในการสื่อความหมายถึงต้นนั้นๆให้ถูกต้อง โดยเฉพาะ กระบองเพชร ในกลุ่ม “ ยิมโนคาไลเซียม ” (Gymnocalycium) ที่มีลักษณะด่าง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
ในบรรดา ยิมโนคาไลเซียม ด่างสายพันธุ์ใหม่ๆที่ถูกพัฒนาขึ้นนั้นจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกนั้น น้อยคนจะรู้ว่าหลายต้นเกิดขึ้นจากฝีมือของ อาป้อม-คุณพิกุล สังข์สุวรรณ และคุณภูเขา ชากะสิก เจ้าของสวนชั้นนำอย่าง “กระท่อมลุงจรณ์” อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี แหล่งเพาะพันธุ์กระบองเพชรระดับแนวหน้าของเมืองไทยที่นักเล่นทุกคนต้องรู้จักเป็นอย่างดี กระบองเพชร
วิธีคัดเลือกสายพันธุ์ของที่นี่นั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน เริ่มจากการคัดเลือกต้นที่มีลักษณะดีมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ เพาะเเละคัดเอาต้นที่สวยที่สุดมาขยายพันธุ์ เพื่อให้มั่นใจว่าหน่อที่ได้นั้นจะคงลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์เอาไว้ เมื่อมั่นใจแล้วจึงนำออกขาย ทำให้มีราคาค่อนข้างสูง แต่ก็มีคุณภาพอย่างที่ตลาดต้องการตามไปด้วย คุณภูเขาบอกว่าการทำต้นไม้ให้ออกมาสวยต้นหนึ่งว่ายากแล้ว แต่การทำให้มันมีคุณภาพมากพอที่ตลาดจะยอมรับได้ในวงกว้างนั้นเป็นสิ่งที่ยากกว่า ซึ่งเมื่อทำได้แล้วก็ต้องรักษาคุณภาพของงานไม่ให้ตกลงไปด้วย
1.เดย์ดรีม (Gymnocalycium ‘Daydream’)
เป็นยิมโนต้นแรกๆ ที่เปิดตลาดยิมโนให้คึกคักอย่างทุกวันนี้ มีลักษณะเด่นคือไร้หนาม (หรือมีบ้างเล็กน้อยเมื่อต้นยังมีขนาดเล็ก) ผิวสีม่วงเปลือกมังคุด ลายสีเขียว ดอกสีชมพู ปลูกเลี้ยงและให้หน่อง่าย หน่อออกมาเหมือนต้นพันธุ์ มักไม่กลายไปเป็นลักษณะอื่น
2.ซีเปีย (Gymnocalycium ‘Sepia’)
ยิมโนด่างสีน้ำตาลอมแดง มีลายเขียว คุณภูเขาตั้งชื่อนี้ตามชื่อที่ใช้เรียกโทนสีของภาพเก่า อันมาจากรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “σηπία” (sēpía) ที่หมายถึงปลาหมึกกระดอง ซึ่งจะพ่นน้ำหมึกที่มีสีน้ำตาลแดง อันเป็นที่มาของชื่อเรียกสีนี้นั่นเอง เดิมทียิมโน ‘ซีเปีย’ มีอยู่สองโคลน คือโคลนเอ ที่มีสีอมเหลืองและให้หน่อยากกว่า กับโคลนบี ที่มีสีอมน้ำตาลแดง และให้หน่อมากกว่า ต่อมามีไม้เมล็ดที่ไม่ได้ตั้งชื่อ ซึ่งได้จากพ่อแม่สองโคลนนี้ออกมาบ้าง และยังคงลักษณะสีพิเศษเหล่านี้ไว้ได้อย่างครบถ้วน
3. พิงค์ ไดมอนด์ (Gymnocalycium ‘Pink Diamond’)
ยิมโนด่างต้นนี้เป็นโทนสีชมพูที่ไม่เหมือนใคร เพราะมีความสว่างสดใสกว่ายิมโนสีชมพูต้นอื่นๆ พิงค์ไดมอนด์เกิดขึ้นที่สวนกระท่อมลุงจรณ์เมื่อหลายปีก่อน แต่ใช้เวลาขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนให้มั่นใจว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดี ไม่หลุดเพี้ยนจากเดิมมากนัก จึงนำออกขายเมื่อไม่นานมานี้ จัดเป็นยิมโนด่างที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งในและต่างประเทศ
4. รูทเบียร์ (Gymnocalycium ‘Root Beer’)
รูทเบียร์ต้นนี้ไม่ใช้เครื่องดื่ม แต่เป็นยิมโนด่างสีส้มอมน้ำตาลที่เลี้ยงและให้หน่อง่ายมาก คุณภูเขาตั้งใจตั้งชื่อให้สอดคล้องกับ ‘ซีเปีย’ ที่ปล่อยออกไปในตลาดก่อนหน้านี้ จัดเป็นยิมโนที่เหมาะสำหรับนักเล่นมือใหม่ที่ต้องการของใหม่แปลกตาเป็นอย่างมาก
5. ไฟร์เวิร์ค (Gymnocalycium ‘Firework’)
ไฟร์เวิร์คเป็นยิมโนด่างสีชมพูอมแดง ลายสีเขียวที่ใครเห็นก็ต้องชื่นชมกับสีสันที่แสนจะโดดเด่น ข้อเสียคือ ให้หน่อได้ค่อนข้างยาก ถ้าหากเป็นไม้รากตัวเองต้องรอจนมีขนาดใหญ่ จึงจะผลิหน่อออกมาบ้าง
หนังสือ 100 New Hybrid & Cultivar Gymnocalycium Thailand 2017
หนังสือ รวมพันธุ์ใหม่แคคตัสและไม้อวบน้ำ
ชมรมกระบองเพชรและไม้อวบน้ำแห่งประเทศไทย
เรื่อง : ชมรมกระบองเพชรและไม้อวบน้ำ / ภาพ : ภวพล ศุภนันทนานนท์
เรื่องที่น่าสนใจ
- โรงเรือนแคคตัส และไม้อวบน้ำย่อส่วนสำหรับพื้นที่จำกัด
- วิธีแยกหน่อแคคตัส
- 7 ไอเดียแต่งบ้านให้สวยด้วยไม้อวบน้ำ จำลองจากผ้าสักหลาด
ติดตามข้อมูลดีๆเกี่ยวกับ บ้านและสวนแฟร์ ได้ทาง แฟนเพจบ้านและสวน