สำหรับใครที่กำลังอยาก เพาะเห็ดฟาง อยากปลูกเห็ดอร่อยและปลอดภัยไว้กินเอง แต่มีพื้นที่ไม่มาก เวลาว่างน้อย เรามีไอเดีย “ปลูกเห็ดฟางในถังน้ำ ทำเองง่าย ๆ 7 วันได้กิน” มาฝากกัน
การ เพาะเห็ดฟาง ทานเอง หรือ ปลูกเห็ดในบ้าน เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องด้วย เห็ด จัดเป็นอาหารกลุ่มพืชผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะมีโปรตีน วิตามิน และเส้นใยอาหารมาก เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย อีกทั้งมีไขมันต่ำ จึงนิยมรับประทานเป็นอาหารควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้เห็ดหลายชนิดยังมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกายและเป็นยารักษาโรคด้วย จึงไม่แปลกที่หลายคนหันมาสนใจรับประทานเห็ดกันมากขึ้น เพาะเห็ดฟาง
นอกจากความสนใจบริโภคแล้วยังขยับมาลงมือปลูกเห็ดด้วยตัวเอง ทั้งเพื่อบริโภคในครอบครัวและต่อยอดเป็นอาชีพเสริม หนังสือ My Little Farm Vol.10 ปลูกเห็ดแบบคนเมือง ซึ่งเรียบเรียงโดย Mushroom Man ได้ถ่ายทอดทุกเรื่องราวเกี่ยวกับเห็ดจากประสบการณ์ซึ่งมีเทคนิคไม่เหมือนใคร ให้ผู้สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับพื้นที่ของตัวเอง เพาะเห็ดฟาง

เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ลักษณะเด่นคือ มีหมวกรูปร่ม สีขาวอมเทา ก้านสีขาว โคนก้านมีเยื่อหุ้มหนา เป็นเห็ดที่มีสรรพคุณช่วยลดการติดเชื้อ ช่วยสมานแผล ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน (ลักปิดลักเปิด) โรคเหงือกอักเสบ ช่วยบำรุงตับและยับยั้งเซลล์มะเร็ง

เทคนิคการ ปลูกเห็ดฟาง ในถังแบบไม่ให้น้ำ เป็นรูปแบบการปลูกเห็ดแนวใหม่ของ Mushroom Man ที่เกิดจากแนวคิดต้องการลดปัญหาขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เกิดจากการเพาะเห็ดแบบทั่วไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยคำนึงถึงความคุ้มทุนต่อการใช้งาน ถังพลาสติกเหล่านี้หาซื้อง่าย ใช้งานสะดวก และใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ สามารถวางซ้อนในแนวตั้งทำให้ประหยัดพื้นที่ โดยใช้เทคนิคการปลูกแบบไม่ให้น้ำ
Step by Step เพาะเห็ดฟาง ในถังน้ำอย่างง่าย

1 เริ่มจากเตรียมถังพลาสติก วัดระยะและทำตำแหน่งสำหรับเจาะรูรอบถัง ใช้สว่านเจาะถังตามตำแหน่งที่ทำไว้

2 เจาะถังให้ทะลุโดยใช้ดอกสว่านแบบพิเศษ จะได้ช่องใหญ่สำหรับเห็ดแทงดอก และเจาะรูเพิ่มกระจายโดยรอบเพื่อเพิ่มพื้นที่ระบายความชื้นออกจากถัง

3 นำฟางข้าวใส่ในถังแล้วเติมน้ำจนท่วม แช่ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้ฟางข้าวดูดความชื้นได้เต็มที่

4 ฆ่าเชื้อโรคบนฟางข้าวโดยนำฟางข้าวใส่ลงในถาดซึ่ง กดพอแน่น จากนั้นนำไปนึ่งบนเตาแก๊ส นานประมาณ 1 ชั่วโมง พักไว้พออุ่น นำไปใช้เป็นวัสดุเพาะเห็ดฟางต่อ

5 ฉีกเชื้อเห็ดฟางเป็นชิ้นๆ แช่ในน้ำหมักจุลินทรีย์ นานประมาณ 10 นาที
* เชื้อเห็ดฟางสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเชื้อเห็ดทั่วไป
* จุลินทรีย์ที่ใช้แช่เชื้อเห็ด สามารถสอบถามเพิ่มเติมจาก Mushroom Man

6 ใส่ฟางข้าวที่ฆ่าเชื้อแล้วลงในถังพลาสติก ให้สูงประมาณรูชั้นล่างสุด จากนั้นนำเชื้อเห็ดฟางลงเรียงรอบขอบถัง

7 ใส่ฟางข้าวเพิ่มลงไป สลับกับเชื้อเห็ดฟางจนครบทุกชั้น จากนั้นปิดฝาถังให้สนิท

8 ปิดรูด้วยสำลีเพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น นำถังไปวางในห้องหรือพื้นที่ที่สะอาด อุณหภูมิประมาณ 30-32 องศาเซลเซียส (หรืออุณหภูมิห้อง) ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 เปอร์เซ็นต์

9 ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ดอกเห็ดจะทยอยแทงออกมาให้เก็บไปบริโภคได้

10 ปลูกเห็ดฟางกินเอง ทั้งสะอาดและปลอดภัย สามารถทยอยเก็บผลผลิตได้เรื่อย ๆ
ปลูกเห็ดในถังพลาสติกมีข้อดีอย่างไร?
ถังพลาสติกนำกลับมาใช้ซ้ำได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งจึงช่วยลดปริมาณขยะถุงพลาสติกที่ใช้ในการปลูกเห็ดแบบเดิมได้ สามารถซ้อนถังปลูกได้หลายชั้นจึงประหยัดพื้นที่ ลดปัญหาก้อนเห็ดเน่าเสียจากเชื้อราเนื่องจากปลูกโดยไม่ให้น้ำ คุ้มค่ากับการลงทุน เหมาะสำหรับการทำเกษตรในเมืองและทุกพื้นที่ที่มีพื้นที่น้อย


เราสามารถเก็บผลผลิตเห็ดฟางในถังได้เรื่อย ๆ เช่นเดียวกับการปลูกเห็ดในก้อนทั่วไป ปริมาณที่ได้คิดเป็นน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมต่อถัง เนื่องจากปลูกโดยไม่ให้น้ำ ดอกเห็ดจึงมีความชื้นต่ำ น้ำหนักน้อย แต่เนื้อเห็ดจะแน่น กลิ่นน้อย และมีรสหวาน สามารถเก็บรักษาได้นานโดยไม่เน่าเสีย แต่เห็ดจะค่อย ๆ แห้งลง
ส่วนฟางข้าวที่เหลือใช้จากการเพาะเห็ด เราสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักต่อได้ โดยใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2 เดือน ฟางข้าวเหล่านี้มีข้อดีคือ แม้หมักทิ้งไว้จนเปลี่ยนเป็นสีดำก็ไม่มีกลิ่นเหม็น จึงช่วยลดปัญหาแมลงวัน

นอกจากเห็ดฟาง ยังสามารถใช้รูปแบบการปลูกในถังได้กับเห็ดนางฟ้า เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางรมสีทอง เห็ดนางนวลสีชมพู และเห็ดที่มีก้านขนาดเล็กได้ ทั้งนี้ต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับเห็ดแต่ละชนิดด้วย

เรียนรู้เทคนิคการปลูกเห็ดแบบละเอียดได้ใน หนังสือ My Little Farm Vol.10 ปลูกเห็ดแบบคนเมือง