หลายคนที่มีที่ดินอยู่แล้วอาจจะคิดไว้ว่าสักวันหนึ่งจะพัฒนาที่ดินเป็นพื้นที่เกษตร ทำ เกษตรผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับบ้านไปต่อยอดพัฒนาที่ดินของครอบครัว คนวัยทำงานหรือวัยเกษียณที่ต้องการสร้างอาชีพหรือรายได้เสริมจาการทำเกษตร ไม่ว่าจะเป็นปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ปลูกไม้ยืนต้นเพื่อใช้งานในระยะยาว เป็นต้น
การทำเกษตรยุคปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในการทำเกษตรที่ยั่งยืนและได้ผลดี สามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่คือการทำ เกษตรผสมผสาน ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการแบ่งพื้นที่เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มจากจัดการดินและน้ำให้เพียงพอ ปลูกพืช ไม้ยืนต้น เลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดี ปลูกป่าไว้ใช้เป็นพลังงาน อนุรักษ์พันธุกรรมพืชเพื่อสร้างความหลากหลาย ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีกิน มีอยู่ มีใช้ในพื้นที่ของตัวเอง
เมื่อบริหารพื้นที่ได้สมดุลก็สามารถสร้างผลผลิตที่ดี และขยับขยายไปสู่การทำธุรกิจเกษตรอย่างยั่งยืน โดยอาจจะรวมกลุ่มร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรที่ดำเนินแนวทางเดียวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี เครื่องมือเกษตรต่างๆ ตลอดจนตลาดผู้บริโภคของตนเอง เป็นต้น
การแบ่งพื้นที่เกษตรผสมผสาน
การจัดสรรพื้นที่ตามโมเดลเกษตรทฤษฎีใหม่ ขั้นต้นแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 สระเก็บกักน้ำประมาณ 30% นาข้าว 30% ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร 30% ที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือนอื่นๆ 10% สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับที่ดินของตนเอง
การแบ่งพื้นที่ในการทำเกษตรนั้นสามารถนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับที่ดินของตนเอง โดยคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ดิน น้ำ ตลอดจนเลือกทำเกษตรที่ตนเองชอบและถนัดได้ เรามีตัวอย่างการทำเกษตรจากเกษตรกรรุ่นใหม่ 3 ท่าน สำหรับผู้ที่กำลังมองหาแนวทางจัดสรรที่ดิน ซึ่งอาจจะนำไปปรับใช้ สร้างแรงบันดาลใจ รวมทั้งนำเกร็ดความรู้และเทคนิคในการดีๆเหล่านี้ไปทดลองทำตามได้เช่นกัน
คุณกอล์ฟ-ศุภชัย เณรมณี ฟาร์มศุภัสสร ตำบลมงคลธรรมนิมิต อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง
สวนเกษตรผสมผสาน มะพร้าวน้ำหอม ทำนา เลี้ยงปลา ปลูกผัก และสร้างเครือข่ายกลุ่มปลูกผัก
พื้นที่สวนนี้เดิมมี 7 ไร่ ปัจจุบันขยายเพิ่มเป็น 25 ไร่ ทยอยซื้อสะสมจากกำไรที่ขายผลผลิตได้ คุณกอล์ฟเปลี่ยนที่ดินจากนาข้าวเดิมเป็นสวนเกษตรผสมผสาน แบ่งพื้นที่เป็นสวนไม้ผลปลูกมะพร้าวน้ำหอม และพื้นที่กักเก็บน้ำ เนื่องจากที่นี่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี เฉพาะแหล่งน้ำมีขนาด 30 % ของพื้นที่เลยทีเดียว นอกจากใช้เพื่อรดน้ำต้นไม้ในสวนแล้วยังสามารถเลี้ยงปลาเป็นผลพลอยได้จากบ่อน้ำที่ขุดไว้ไม่ให้สูญเปล่า ปลาที่เลี้ยงจะเป็นปลาเบญจพรรณซึ่งกินเศษพืชผักเป็นอาหาร ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปลานวลจันทร์ ปลาจีน ปลายี่สก เป็นต้น ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารปลาและปล่อยให้ปลาหากินเองในน้ำได้
คุณกอล์ฟจัดสรรพื้นที่ในฟาร์มอย่างคุ้มค่า มีการปลูกผักระหว่างร่องสวน ใช้วิธีปลูกผักลงกระสอบแทนการปลูกบนดิน ข้อดีของการปลูกผักในกระสอบคือสามารถปรุงดินให้เหมาะสมตามที่พืชต้องการได้ ลดการสะสมโรคในดิน ลดการสูญเสียน้ำและปุ๋ยที่ใส่ให้พืชเมื่อเก็บผลผลิตจึงไม่เสียเวลาในการพักดิน และนำดินเดิมไปผสมทำปุ๋ยหมักต่อได้ อีกทั้งยังสามารถคำนวณปริมาณผลผลิตได้คร่าว ๆ สวนแห่งนี้ยังมีการผลิตมาตรฐาน GAP และมาตรฐานอินทรีย์ มีการกระจายผลผลิตหลายช่องทางเพื่อลดความเสี่ยง ได้แก่ จำหน่ายในตลาดสดในพื้นที่ ส่งยริษัทและห้างสรรพสินค้าผ่านซับพลายเออร์ เป็นต้น
คุณณัฐ-ณัฐพงษ์ ธุระพันธุ์ บ้านไร่ปลายฝันฟาร์มเสตย์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
สวนเกษตรผสมผสาน ผักสลัด น้ำเสาวรส ไวน์หม่อน กล้วยตาก และผลผลิตแปรรูปอื่น ๆ แบรนด์ บ้านไร่ปลายฝัน ฟาร์มสเตย์
Facebook : บ้านไร่ปลายฝันฟาร์มสเตย์
บ้านไร่ปลายฝัน ฟาร์มสเตย์ คือสวนผสมผสานขนาด 2 ไร่ 3 งาน ของ ณัฐ-ณัฐพงษ์ ธุระพันธุ์ ประกอบไปด้วยแปลงผัก เสาวรส บ่อกุ้งฝอย นาข้าว มีไม้ยืนต้นท้องถิ่นเช่น ขี้เหล็ก ยางนา พะยูง ปลูกตามแนวขอบที่ดินเพื่อป้องกันไฟจากไร่อ้อยข้างเคียง มีบ้านไม้หลังเล็กปลูกเองง่ายๆจากไม้ยืนต้นที่ปลูกเองในที่ดิน
ที่ดินแปลงนี้เดิมทีเป็นนาข้าว ต่อมาทำไร่อ้อย เมื่อถางออกจึงเป็นที่ว่างเปล่า คุณณัฐถมที่บางส่วนโดยใช้ดินจากการขุดลอกสระน้ำของหมู่บ้าน ซึ่งคุณภาพดินไม่ดีนักเพราะเป็นดินก้นสระ จึงต้องปรับปรุงดินก่อนใช้วิธีที่ง่ายที่สุดคือปลูกกล้วยเป็นอันดับแรกเพราะรากกล้วยจะมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดิน ทำให้ดินโปร่ง เนื่องจากรากกล้วยจะชอนไชให้ดินร่วนซุยและเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้ดี บริเวณไหนต้องการปลูกผักก็ลงหน้าดินเฉพาะส่วนนั้น ปรับปรุงดินโดยใช้แกลบ ปุ๋ยคอก และจุลินทรีย์ เน้นการปลูกพืชแบบอินทรีย์ทั้งหมด
ภายในพื้นที่ยังมีสระน้ำที่คุณณัฐลงแรงใช้จอบขุดเองและปูผ้าใบพลาสติกทำเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งฝอย นอกจากนี้ยังปลูกผักสลัด คึ่นช่าย ต้นหอม พริก ฟิกส์ หม่อน กุ่ยช่าย เน้นปลูกพืชหลากหลายชนิด และทำแปรรูปเองด้วย เพื่อลดความเสี่ยงทั้งจากโรคระบาด ราคาผลผลิตตกต่ำ นอกจากนี้ก็มีนาข้าวที่ทำกันเองในครอบครัวพื้นที่ไม่มากนักแต่ได้ข้าวเพียงพอรับประทานตลอดทั้งปี
คุณกิ๊บ-อัจฉรา แสงบุญ สวนหลังบ้าน The Backyard ตำบลเจริญเมือง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
เกษตรอินทรีย์ผสมผสาน พืชผักต่าง ๆกล้วยตาก และผลผลิตแปรรูปอื่น ๆ
Facebook : สวนหลังบ้าน The Backyard
ที่ดินแปลงนี้เดิมมีการทำนาอย่างเดียว แต่คุณกิ๊บปรับพื้นที่ 15 ไร่ จัดสรรให้ทำเกษตรครบทุกอย่างทั้งทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ไม้ผล เป็นสวนเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน และยังแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ทำนาปีละ 2 ครั้งเนื่องจากที่นี่มีความพร้อมด้านแหล่งน้ำ แต่ก็มีการจุดบ่อเพิ่มเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ด้วยโดยดึงน้ำจากลำรางส่งน้ำการเกษตรมากักในบ่อ เพื่อพักน้ำและปลูกผักตบชวาช่วยดูดสารเคมีจากน้ำที่ดึงเข้ามาในที่ดิน ภายในบ่อก็เลี้ยงปลาไปด้วย
ผลผลิตในสวนมีพืชผักหลากหลายที่ใช้ในครัวเรือน ได้แก่ พริก มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือเปราะ ผักสลัด สำหรับแปลงผักมี 2 ส่วนคือแปลงผักที่ปลูกประจำหมุนเวียนพืชแต่ละชนิด และแปลงผักที่ใช้พื้นที่นาข้าวซึ่งจะปลูกผักในช่วงหน้าหนาวหลังเกี่ยวข้าวไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังปลูกกล้วยเป็นพืชพี่เลี้ยงในสวนและนำกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยตาก รวมทั้งเลี้ยงเป็ดไว้เก็บไข่และนำมูลเป็ดมาหมักเป็นปุ๋ยไว้ใช้ในสวน คุณกิ๊บยังสร้างที่นี่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้ผู้ที่สนใจมาพักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกัน และมีร้านอาหารสวนหลังบ้านที่ใช้วัตถุดิบส่งตรงจากในสวนอีกด้วย
ติดตามแนวคิดการทำเกษตรแบบคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และรูปแบบการวางผังบริเวณสวนเกษตรแบบอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ หนังสือ Garden & Farm Vol.13 กลับบ้านไปทำเกษตร
บทความเรียบเรียงจากหนังสือ Garden & Farm Vol.13 กลับบ้านไปทำเกษตร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ , ธนกิตติ์ คำอ่อน , ชัชวัสส์ เกียรติคุณโสภณ