ช่วงนี้เทรนด์ไม้ใบสีคงไม่มีอะไรฮิตเท่า “บอนสี” ที่ได้รับสมญานามมาแต่อดีตว่าเป็น “ราชินีแห่งไม้ใบ” ด้วยลวดลายและสีสันของใบที่มีแปลกและแตกต่างกันไปดูไม่เบื่อ นี่คือเหตุผลที่ทำให้บอนสีกลายเป็นไม้ใบยอดฮิตกันในขณะนี้ จนมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ
บอนสีมีรูปใบหลายแบบทั้ง ใบไทย ใบยาว ใบกลม ใบกาบ และใบไผ่ ซึ่งแต่ละประเภทก็มีความหลากหลายของรูปทรงและสีสันที่สวยงามแตกต่างกันไป จนอดใจไม่ไหวต้องหาซื้อมาปลูกสะสมไว้จนเต็มบ้าน และเมื่อมีจำนวนพันธุ์มากมายอย่างนี้ จะมี วิธีขยายพันธุ์บอนสี ไว้จำหน่าย เพื่อสร้างรายได้อย่างไรบ้าง โดยที่ต้นแม่ต้นเดิมยังสวยงามเหมือนเดิมและไม่ล้มตายไป
วันนี้ลองมาเรียนรู้ วิธีขยายพันธุ์บอนสี อย่างง่ายกัน ด้วยวิธีผ่าหัวบอนสีแบบไม่ล้มต้น กันค่ะ ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากในระยะเวลาที่สั้นแล้ว ยังมักกลายพันธุ์เกิดเป็นบอนแผลงและบอนป้าย ซึ่งจะมีสีสันและลวดลายที่ต่างไปจากเดิม และทำให้เกิดพันธุ์ใหม่ที่มีราคาสูงขึ้นได้อีกด้วย
Step 1 เริ่มจาก ล้างหัวบอนที่ต้องการขยายพันธุ์ให้สะอาด อาจใช้แปรงเล็ก ๆ ขัดดินออกให้หมด ระวังอย่าให้เขี้ยวหัก และเป็นแผลถลอก ผึ่งลมให้แห้งในที่ร่ม แล้วตัดโคนต้นให้เหลือส่วนหัวและรากติดอยู่ เพื่อนำไปปลูกต่อ ทาปูนแดงที่บาดแผลส่วนโคนต้นที่มีรากติด ผึ่งให้แห้งก่อนนำไปปลูก
Step 2 นำหัวไปผ่าเป็นชิ้นเล็ก ๆ ระวังอย่าให้มือสัมผัสน้ำยางในหัวบอน เพราะ อาจทำให้เกิดอาการคันได้
Step 3 ล้างน้ำยางออกให้สะอาด จนไม่ลื่น สังเกตได้ว่าน้ำจะขุ่นจากน้ำยางที่ละลายออกมา หรืออาจนำไปใส่น้ำแกว่งสารส้ม แล้วทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที
Step 4 ผึ่งหัวบอนให้พอแห้งในที่ร่ม
Step 5 นำไปชำในภาชนะ เช่น กะละมังพลาสติกที่บรรจุขุยมะพร้าวที่ผ่านการแช่น้ำแล้วคั้นเอาน้ำสีน้ำตาลออกเหมือนคั่นกะทิ 3-4 ครั้ง กดชื้นบอนเบา ๆ ให้จมลงในขุยมะพร้าวเล็กน้อย ติดป้ายระบุชื่อพันธุ์และวันเดือนปี และจำนวนชิ้นที่ปักชำ อาจฉีดพ่นสารละลายป้องกันกำจัดเชื้อราเพื่อป้องกันชิ้นบอนเน่า
Step 6 ใช้พลาสติกใสคลุมภาชนะ มัดเชือกให้แน่น เพื่อควบคุมความชื้น และห้ามโดนแสงเลย 25-26 วัน
Step 7 อีก 3-4 สัปดาห์จะเริ่มผลิยอดเล็ก ๆ
Step 8 ต่อมา 1-2 สัปดาห์ เมื่อต้นแข็งแรงขึ้น จึงย้ายปลูกลงในกระถางขนาดเล็ก โดยใช้ดินใบก้ามปูที่ผ่านการหมักจนย่อยสลายแล้ว และนำไปวางในกระโจมพลาสติก เพื่อควบคุมความชื้น
รอจนต้นบอนผลิใบมากขึ้น ใบมีสีสันมากขึ้นหรือที่เรียกกว่า “กัดสี” จึงพร้อมนำไปจำหน่าย
ตู้พลาสติก เป็นอีกสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการปลูกเลี้ยงบอนสีให้สวยงาม และเมื่อต้องการผลิตเป็นการค้า เพราะจะช่วยควบคุมความชื้นให้สม่ำเสมอ ทำให้ต้นบอนสีแข็งแรงและเติบโตได้สวยงาม ในอดีตทำด้วยโครงไม้ ปัจจุบันทำด้วยโครงเหล็ก และมีซาแรนพรางแสง โดยแต่ละตู้สามารถวางกระถางบอนขนาดเล็กได้หลายร้อยต้น
อาจสร้างตู้พลาสติกบนพื้นปูนซึ่งสะดวกในการควบคุมวัชพืชในกระโจม
ดอกบอนสี เป็นอีกส่วนหนึ่งของต้นบอนที่ช่วยให้นักปลูกเลี้ยงสามารถปรับปรุงพันธุ์ให้มีลักษณะใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากเดิม และมีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น ปัจจุบันจึงมีบอนสีหลายพันธุ์ที่สามารถปลูกเลี้ยงในสภาพธรรมชาติโดยไม่ต้องอยู่ในตู้พลาสติกแล้ว
เมล็ดบอนสีทีได้จากการผสมเกสร พร้อมนำไปเพาะพันธุ์ เพื่อสร้างพันธุ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากเดิม
หลังจากนำเมล็ดมาเพาะ จะเกิดเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ ที่ให้สีสันใบแตกต่างกัน เมื่อต้นกล้าเติบโตจนแน่น นักปลูกเลี้ยงจึงเริ่มคัดเลือกต้นที่คาดการณ์ว่าต้นไหนจะมีลักษณะใบที่หวังไว้ และนำไปปลูกเลี้ยงในภาชนะต่อไป เพื่อรอดูใบที่เติบโตเต็มที่ว่าสวยงามเพียงใด
ลองมารู้จักบอนสีพันธุ์ต่าง ๆ
“ฟ้อนนางไหม” บอนใบยาวลูกผสมใหม่จากรังบอนแก่นคร จุดเด่นของพันธุ์นี้คือ ใบที่บิดม้วนคล้ายการฟ้อนรำ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ
“สองฝั่งชี” บอนสีใบยาวลูกผสมใหม่จากรังบอนแก่นนคร มีแผ่นใบหนา ก้านแข็งแรง เส้นใบเปนร่างแหดูสวยงาม
“ชายชล” บอนสีใบไทย ที่กลายพันธุ์จากพันธุ์อัปสรสวรรค์ เป็นอีกพันธุ์หนึ่งที่เลี้ยงนอกตู้ได้ เพราะ แข็งแรงทนทาน
“ไทยนิยม” บอนใบไทยพื้นใบสีขาว กระดูกสีเขียว เม็ดสีแดงเด่นชัด ก้านแข็งแรง เป็นบอนสีทีสามารถปลูกเลี้ยงนอกตู้พลาสติกได้
“ยูเรนัส” บอนใบกลมลูกผสมจากสวนพิพัฒน์พงษ์ มีแผ่นใบขนาดใหญ่ จุดเด่นของพันธุ์นี้คือเม็ดสีแดงที่ดูโดดเด่นสะดุดตา
“เรือวาสุกรี” เป็นบอนสีพันธุ์เก่าที่เกิดขึ้นมานานกว่าเกือบสี่สิบปีแล้ว
“อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ลูกผสมใหม่ของสวนพิพัฒน์พงษ์ ที่เพิ่งตั้งชื่อจดทะเบียนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 จุดเด่นของพันธุ์นี้คือป้ายสีเขียวอมเหลืองบนใบที่เด่นสะดุดตา
“เมืองเกาะเกร็ด” บอนสีใบไทยที่มีป้ายสีขาวอมเขียวอ่อน ดูคล้ายบอนใบด่าง ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน
“ไผ่ธารสวรรค์” บอนใบไผ่อีกต้นที่มีสีหวาน จุดเด่นของบอนใบไผ่คือ ต้นเตี้ยดูคล้ายบอนแคระ และใบเรียวแหลมคล้ายใบไผ่สมชื่อ ถ้าปลูกในตู้ทรงพุ่มใบจะสวยงามกว่าเลี้ยงนอกตู้
ยังมีเทคนิคการปลูกเลี้ยงบอนสี และบอนสีลูกผสมใหม่ ๆ ที่นักปลูกเลี้ยงบอนสีผลิตขึ้นอีกมากมาย ไว้ให้ผู้ที่ชื่นชอบบอนสีได้ศึกษาเรียนรู้ อ่านเพิ่มเติมในหนังสือ “บอนสี : Caladium” โดยสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย
สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ >>https://bit.ly/3haOsJy
เรื่อง วิฬาร์น้อย
ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย