ช่วงนี้เป็นฤดูกาลของ “อะโวคาโด” ไม้ผลต่างถิ่นจากทวีปอเมริกาที่ปลูกเลี้ยงกันมากในเมืองไทย ความต้องการความรู้เรื่องการ ปลูกอะโวคาโด ขยายพันธุ์อะโวคาโด กำลังเป็นที่ต้องการ
ด้วยรสชาติหวานอ่อนๆ พร้อมให้ไขมันที่มีประโยชน์กับร่างกาย จึงกลายเป็นผลไม้ยอดกันในขณะนี้ มาทำความรู้จักและเรียนรู้วิธี ขยายพันธุ์ ปลูกอะโวคาโด กันค่ะ วิธีปลูกอะโวคาโด
อะโวคาโด (Avocado) หรือ Alligator Pear เป็นพืชในวงศ์ Lauraceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Persea americana Mill. มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว มิชชันนารีชาวอเมริกันได้นำมาปลูกในเมืองไทยเป็นครั้งแรกที่จังหวัดน่านซึ่งสามารถเติบโตและผลิดอกออกผลได้ดี
อะโวคาโด้เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ สูงถึง 18 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน ผิวขรุขระ ใบรูปรีถึงรูปใบหอก มีหลายแบบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ แผ่นใบหนาสีเขียวสด บางพันธุ์เมื่อขยี้ใบจะมีกลิ่นหอม ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็กเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สีเขียวอมเหลือง ผลขนาดใหญ่ รูปทรงคล้ายสาลี่ รูปไข่หรือรูปกลม ผลรูปทรงกลม แต่ละผลมี 1 เมล็ดที่นำไปเพาะได้ ที่ปลูกในบ้านเรามีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์แฮส (Hass) พันธุ์พิงเคอร์ตัน (Pinkerton) ที่มีทรงผลคล้ายรูปลูกแพร์ พันธุ์ปีเตอร์สัน (Peterson)
ผลอะโวคาโด มีเนื้อสีเหลือง อ่อนนุ่ม เมล็ดทรงกลม (ภาพ : ธีรพงศ์ จันทร์พริ้ม)
พันธุ์ปีเตอร์สัน เป็นพันธุ์ที่ปลูกเลี้ยงและให้ผลผลิตได้ดีในพื้นที่ๆมีอากาศร้อน จุดเด่นอยู่ที่ผลทรงกลม
(ภาพ : ธีรพงศ์ จันทร์พริ้ม)
พันธุ์บัคคาเนีย เป็นอะโวคาโด้ที่ชอบอากาศเย็น นิยมปลูกมากทางภาคเหนือของไทย ผลเป็นทรงรูปรี (ภาพ : ธีรพงศ์ จันทร์พริ้ม)
พันธุ์แฮส เป็นอะโวคาโดที่ชอบอากาศเย็นอีกพันธุ์หนึ่ง จุดเด่นที่แตกต่างจากพันธุ์อื่นคือ ผิวผลที่ขรุขระ (ภาพ Facebook : Teerapong Junprim)
หลังจากรู้จักพันธุ์อะโวคาโดกันแล้ว ลองเก็บเมล็ดมาเพาะกันค่ะ
วิธีเพาะเมล็ดอะโวคาโดอย่างง่าย
- ล้างเมล็ดอะโวคาโดให้สะอาด ใช้ไม้จิ้มฟันปลายแหลม ปักสี่ด้านของเมล็ด ให้อยู่กึ่งกลางเมล็ดในแนวนอน
- เตรียมแก้วปากแคบใส่น้ำ ให้สูงเกือบเต็มภาชนะมีส่วนที่เหลือของแก้วเท่าๆ กับความสูงที่ปักเมล็ด ดังภาพ
- วางเมล็ดลงบนแก้ว ให้ด้านท้ายเมล็ดจุ่มลงในน้ำ ตั้งไว้ในครัวมีแสงส่องบ้าง
- อีก 1 สัปดาห์จะเริ่มแตกราก รอจนแตกรากเต็มและผลิใบแล้ว จึงย้ายปลูกลงดินในกระถาง เมื่อต้นแข็งแรง จึงย้ายปลูกลงในสวน
การปลูกอะโวคาโด้ที่ได้จากการเพาะเมล็ด จะใช้เวลามากกว่า 5 ปี ต้นจึงเริ่มผลิดอกและติดผลให้เราเก็บกินได้ และอาจเกิดการกลายพันธุ์ ให้ผลผลิตไม่ดีนัก หลายคนจึงอยากได้อะโวคาโดที่ให้ผลผลิตเร็วขึ้น วิธีง่ายๆ คือ ต้องปลูกต้นที่ได้จากการการเสียบยอดจึงจะให้ผลผลิตได้เร็ว ซึ่งเราสามารถทำเองได้
ขั้นตอนการเสียบยอด
- เลือกต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ดที่มีอยู่ มีอายุประมาณ 1 ปี และมีเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 5-10 มิลลิเมตร แล้วตัดยอดต้นตอให้เหลือตอสูงประมาณ 10 เซนติเมตรจากดิน
- ผ่ากึ่งกลางต้นตอตามแนวดิ่งให้เป็นแผลยาว 2.5 เซนติเมตร
- เตรียมกิ่งพันธุ์ดีที่ต้องการเสียบ ลิดใบออกให้หมด ปาดโคนกิ่งพันธุ์ดีให้เป็น ปากฉลาม 2 ด้าน อย่าให้เนื้อเยื่อช้ำ
- เสียบกิ่งพันธุ์ดีลงบนกึ่งกลางต้นตอ กดเบา ๆ ให้เนื้อเยื่อประสานกัน
- พันด้วยแถบพลาสติกใสจากล่างขึ้นบนให้แน่น กิ่งไม่ขยับ
- ใส่ต้นที่เสียบยอดลงในถุงพลาสติกใส รัดปากถุงให้แน่น แขวนไว้ที่โคนต้นไม้ใหญ่ ที่มีแสงแดดรำไร
หลังเสียบยอด 1-2 สัปดาห์ ถ้ายอดยังเขียวสด แสดงว่าเนื้อเยื่อเริ่มเชื่อมติดกันแล้ว รอจนกว่าผลิใบใหม่จึงค่อยๆ เปิดถุงออกวันละนิด จนเปิดออกทั้งหมด นำไปวางในที่มีแสงรำไร เมื่อต้นแข็งแรงแตกกิ่งก้านมากขึ้นจึงนำไปปลูกต่อ
TIPS
- ก่อนเสียบยอดควรงดให้น้ำต้นตอ และฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราก่อน 3 – 5 วัน
- ควรเลือกยอดพันธุ์ดีที่ไม่มีโรคเข้าทำลาย และมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดต้นตอ
- หลังเสียบยอดไม่ควรรดน้ำต้นตอ เพราะจะทำให้ต้นตอเน่าและต่อยอดไม่สำเร็จ
- ระวังอย่าให้ถุงพลาสติกห่อตัวลงจนสัมผัสกับกิ่งพันธุ์ดี เพราะจะทำให้กิ่งพันธุ์ดีเน่าได้
10 ข้อควรรู้กับการ ปลูกอะโวคาโด
- หลังจากได้ต้นอะโวคาโดที่ได้จากการเพาะเมล็ดมาแล้ว สามารถนำไปปลูกลงพื้นที่ที่ต้องการได้ แต่ควรปลูกให้ห่างกันอย่างน้อย 5 เมตร
- ควรเลือกพันธุ์ที่ต้องการปลูกให้เหมาะกับสภาพอากาศของพื้นที่ เพราะบางพันธุ์อาจต้องการอากาศเย็นจึงให้ผลผลิตได้ดี เช่น พันธุ์แฮส, พิงเคอตัน ขณะที่พันธุ์ปีเตอร์สัน เป็นพันธุ์ที่ทนอากาศร้อนได้ดี
- ควรผสมคลุกเคล้าสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma) รองก้นหลุมปลูก
- ควรปลูกช่วงต้นฤดูฝน แล้วคลุมโคนต้นด้วยหญ้าแห้ง ใบไม้แห้งหรือฟางข้าว ในระยะแรกควรพรางแสงด้วยซาแรนหรือทางมะพร้าว จนกว่าต้นแข็งแรงพอจึงนำออกได้
- ระวังอย่าให้น้ำท่วมขังโคนต้น อาจทำให้รากเน่าตายได้
- หมั่นให้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก โรยรองพุ่มต้นทุกเดือน จะช่วยให้ต้นแข็งแรงขึ้น
- ต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดหลังปลูกลงพื้นที่ อีก 5 ปี จึงเริ่มออกดอกครั้งแรก กรณีที่ปลูกจากต้นที่ได้จากการเสียบยอดพันธุ์ดี หลังปลูก 2 ปี ก็เริ่มให้ผลผลิตแล้ว
- โรคที่สำคัญคือโรครากเน่า ป้องกันโดยรดเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่โคนต้นและฉีดพ่นตามพุ่มใบเป็นประจำ
- วิธีการสังเกตว่าผลอะโวคาโดแก่พร้อมเก็บหรือไม่ ให้ดูที่สีผิวผล มีจุดประสีน้ำตาลบนผล ขั้วผลเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง การเปลี่ยนสีของผล (พันธุ์แฮส) เป็นต้น เมื่อผลยังอ่อนหากผ่าดูเยื่อหุ้มเมล็ดจะมีสีขาว ถ้าผลแก่เยื่อหุ้มเมล็ดจะเหี่ยวแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หากเก็บผลอ่อนมาทิ้งไว้ให้สุก ผลมักจะเน่าเสีย
หลังเก็บผลิตแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งแห้งกิ่งเสียออกบ้างเพื่อให้พุ่มใบโปร่งขึ้น พร้อมกับใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ บำรุงต้นบ้าง เพื่อให้ต้นแข็งแรงและพร้อมในผลผลิตในฤดูกาลหน้า
การตัดแต่งทรงพุ่มหลังเก็บผลผลิต จะช่วยให้ต้นไม่สูงมากนักและเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูต่อไปได้ง่ายขึ้น
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหนังสือ เทคนิคขยายพันธุ์พืช ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน รับรองว่าคุณจะประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์พืชได้ด้วยเองอย่างแน่นอนค่ะ
สั่งซื้อหนังสือออนไลน์ได้ที่นี่
ขอบคุณภาพถ่ายอะโวคาโดพันธุ์ต่างๆ จาก Facebook : Teerapong Junprim
เรื่อง : วิฬาร์น้อย
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย