ปุ๋ยเคมีมีกี่ชนิด ดีอย่างไร เลือกใช้ให้เหมาะกับต้นไม้

พืชพรรณทั้งหลายในโลกล้วนงอกงามได้ด้วยธาตุอาหารตามธรรมชาติจากน้ำฝน และเศษซากอินทรียวัตถุที่ทับถมย่อยสลาย แต่พรรณไม้ที่เรานำมาปลูกเลี้ยง ปุ๋ยเคมี

โดยเฉพาะไม้ประดับกระถางชนิดต่าง ๆ นั้นอยู่ในพื้นที่จำกัด เมื่อเลี้ยงได้ไม่นานรากพืชก็ดูดซึมธาตุอาหารในดินไปจนหมด ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องให้ “ปุ๋ย” ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และอาหารเสริมบางอย่างเพื่อช่วยบำรุง และเพิ่มความแข็งแรงแก่พืช ปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยที่นิยมใช้โดยทั่วไปมีอยู่ 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ ในที่นี้ขอกล่าวถึง เฉพาะปุ๋ยเคมี ซึ่งนิยมใช้กับการปลูกไม้ดอกไม้ประดับชนิดต่าง ๆ เนื่องจากมีข้อดีคือเป็นปุ๋ยที่มีปริมาณธาตุอาหารมาก แม้ใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืชแล้ว ทั้งยังใช้ง่าย และหาซื้อได้สะดวกด้วย

เพื่อให้สามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ เรามาทำความรู้จักปุ๋ยเคมีกันก่อน

ปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยเคมีคืออะไร

ปุ๋ยเคมี (Chemical Fertilizer) คือ ปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์หรืออินทรีย์สังเคราะห์ รวมถึงปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสม และปุ๋ยเชิงประกอบ ตลอดถึงปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปุ๋ยเคมีผสมอยู่ด้วย แต่ไม่รวมถึงปูนขาว ดินมาร์ล ปูนพลาสเตอร์ หรือ ยิปซัม โดโลไมต์

ปุ๋ยเคมี มีปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการมี 3 ตัว คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) รวมเรียกกันว่า ปุ๋ยเอ็นพีเค (N-P-K) ส่วนธาตุอาหารที่สำคัญรองลงมา คือ แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และซัลเฟอร์ (S) หรือกำมะถัน โดยหน้าที่ของธาตุอาหารต่าง ๆ สรุปย่อ ๆ ได้ดังนี้

  • ไนโตรเจน ช่วยบำรุงใบ ทำให้ต้นเติบโตเร็ว อวบอ้วน ใบสีเขียวสด
  • ฟอสฟอรัส ช่วยกระตุ้นตาดอก สร้างรากฝอย รากแขนง ที่ช่วยดูดน้ำและธาตุอาหารในขณะที่ยังเล็ก
  • โพแทสเซียม ช่วยสร้างคาร์โบไฮเดรตให้กับไม้หัว สร้างน้ำตาลทำให้ผลไม้หวาน ต้นแกร่ง แข็งแรง ทนต่อโรค ช่วยให้สีดอกสดขึ้น
  • แคลเซียม ทำให้ผนังเซลล์แข็งแรง ก้านและดอกแข็งแรง ช่วยเคลื่อนย้ายและเก็บคาร์ดบไฮเดรตและโปรตีน
  • แมกนีเซียม ทำให้ใบเขียว เพราะเป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ ช่วยดูดฟอสฟอรัสและเคลื่อนย้ายน้ำตาล
  • ซัลเฟอร์ ช่วยสร้างโปรตีนและกรดแอมิโน สังเคราะห์คลอโรฟิลล์ ทำให้ดอกสีสวย

ที่กล่าวนี้เป็นเพียงหน้าที่ของธาตุอาหารคร่าว ๆ ยังมีหน้าที่มากกว่านี้และสลับซับซ้อนมาก นอกจากธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองแล้ว ก็ยังมีธาตุอาหารเสริมอีกหลายชนิด เช่น โบรอน (Br) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โมลิบดินัม (Mo) สังกะสี (Zn) ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่ต่างกันไป โดยธาตุอาหารเสริมเหล่านี้จำเป็นกับพืช แต่ต้องการปริมาณน้อยมาก ถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่ง จะทำให้พืชมีอาการผิดปกติ เช่น ใบเหลือง ใบลีบ เป็นต้น วิธีแก้ไข คือ ให้ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารเสริมแก่พืชนั้น

ปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยเคมีมีกี่ประเภท

ปุ๋ยเคมีสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  1. ปุ๋ยเชิงเดี่ยว หมายถึง ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหลักธาตุเดี่ยว ได้แก่ ปุ๋ยไนโตรเจน (N) ปุ๋ยฟอสเฟต (P) และปุ๋ยโพแทส (K)
  2. ปุ๋ยเชิงประกอบ หมายถึง ปุ๋ยเคมีที่ทำขึ้นด้วยกรรมวิธีทางเคมี และมีธาตุอาหารหลักอย่างน้อย 2 ธาตุขึ้นไป
  3. ปุ๋ยเชิงผสม หมายถึง ปุ๋ยเคมีที่ได้จากการผสมปุ๋ยเคมีประเภทต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ธาตุอาหารในปริมาณตามต้องการ

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งประเภทของปุ๋ยเคมีจากแหล่งที่มา ตามชนิดของธาตุปุ๋ย ตามลักษณะทางกายภาพ และตามความสามารถในการปลดปล่อยธาตุอาหาร

ปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยเคมี ที่นิยมใช้กันทั่วไป มีแบบไหนบ้าง

ปุ๋ยเคมีที่นิยมใช้กันทั่วไปบางชนิดอยู่ในรูปของแข็ง ได้แก่ ปุ๋ยผง ปุ๋ยเกล็ด ปุ๋ยเม็ด และปุ๋ยอัดเม็ด บางชนิดอยู่ในรูปของของเหลวหรือปุ๋ยน้ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต นอกจากนี้ปุ๋ยเคมีแต่ละชนิดมีความสามารถในการละลายน้ำ หรือ การปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชแตกต่างกัน ดังนี้

  • ปุ๋ยละลายเร็ว เป็นปุ๋ยเคมีที่ละลายน้ำได้ดี พืชสามารถดูดใช้ได้ทันทีเมื่อใส่ลงดินหรือเมื่อละลายน้ำแล้วฉีดพ่นทางใบ ได้แก่ ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต และปุ๋ยผสมสูตรต่าง ๆ ที่ใช้เป็นปุ๋ยทางใบ เช่น ปุ๋ยสูตร 12-60-0, 10-50-10 และ 10-20-30 เป็นต้น
  • ปุ๋ยกึ่งละลายช้าละลายเร็ว เป็นปุ๋ยเคมีที่มีส่วนประกอบบางส่วนละลายน้ำได้ดี และบางส่วนไม่ละลายน้ำ เช่น ปุ๋ย PAPRซึ่งมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสในรูปและสัดส่วนต่าง ๆ
  • ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อย หรือปุ๋ยสูตร 3 เดือน เป็นปุ๋ยเคมีที่มีการเคลือบเม็ดปุ๋ยด้วยสารเคลือบที่ไม่ละลายน้ำ แต่เมื่อมีน้ำผ่านเข้าไปจะทำให้สารเคลือบมีการยืดหยุ่นหรืออ่อนตัวลง และการปลดปล่อยของปุ๋ยจะทำงานผ่านชั้นเคลือบอย่างคงที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  

การปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับส่วนใหญ่นิยมใช้ปุ๋ยเม็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อย ซึ่งบางครั้งเรียกว่าปุ๋ย 3 เดือน เพราะให้ปุ๋ยแค่ 3 เดือนต่อครั้งก็เพียงพอแล้ว เนื่องจาก เม็ดปุ๋ยถูกเคลือบด้วยสารพอลิเมอร์ชนิดพิเศษ เช่น เฟอร์ติไลฟ์เคลือบด้วย Polyolefin ซึ่งสารตัวนี้มีความยืดหยุ่นสูง ไม่แตกง่าย จึงทำให้เมื่อรดน้ำหรือมีความชื้นจากดิน ปุ๋ยจะค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาผ่านชั้นเคลือบอย่างคงที่สม่ำเสมอและเหมาะสม โดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามความชื้น pH ของดิน และชนิดดิน จึงช่วยลดการสูญเสียของปุ๋ยได้ดี และช่วยประหยัดเวลาในการดูแลต้นไม้ เมื่อครบ 3 เดือนจึงค่อยใส่ปุ๋ยใหม่อีกครั้ง

ปุ๋ยประเภทนี้ไม่เป็นอันตรายกับพืชที่ไวต่อผลกระทบของสารเคมีมากเหมือนปุ๋ยเม็ดประเภทที่ละลายทันทีเมื่อรดน้ำ ทั้งยังใช้งานง่ายและสะดวก เพียงแค่โรยรอบโคนต้นหรือฝังลงในวัสดุปลูกเวลาเปลี่ยนกระถางใหม่

ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อยมีให้เลือกหลายสูตร หลายยี่ห้อ ราคาแตกต่างกันที่จำหน่ายทั่วไปมีธาตุอาหารหลักคือ N-P-K ซึ่งบอกอัตราส่วนเป็นตัวเลขแสดงเปอร์เซ็นต์ของเนื้อปุ๋ย เช่น ปุ๋ยสูตร 14-13-13 หมายความว่า ในปุ๋ย 100 กิโลกรัมมีธาตุไนโตรเจน 14 กิโลกรัมมีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมอย่างละ 13 กิโลกรัม ฉะนั้นปุ๋ย 14-13-13 มีเนื้อปุ๋ยรวม 40 กิโลกรัม อีก 60 กิโลกรัมเป็นวัสดุเติมเต็มอื่น ๆ อาจเป็นดินเหนียวหรืออะไรก็ได้ที่ใช้ผสมเพื่อปั้นให้เป็นเม็ด ที่เรียกว่า “ฟิลเลอร์”

ปุ๋ยเคมีบางสูตรมีธาตุอาหารรอง คือ แคลเซียม แมกนีเซียม หรือซัลเฟอร์ผสมมาด้วย ซึ่งระบุอยู่หน้าถุงปุ๋ย การที่ผู้ผลิตทำปุ๋ยมาขายหลายสูตร เพื่อให้ผู้ใช้เลือกปุ๋ยที่มีสัดส่วนธาตุอาหารเหมาะกับพืชที่ปลูก เพราะ พืชแต่ละชนิด แต่ละอายุหรือเวลา ต้องการธาตุอาหารไม่เหมือนกัน

ติดตามวิธีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้อย่างไรไม่ให้ทำร้ายดิน ได้ในตอนต่อไป

อ้างอิง :พระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550

ใส่ปุ๋ยต้นไม้อย่างไรให้ถูกวิธี ไม้ดอกไม้ประดับเติบโตงามดีและไม่ทำร้ายดิน