ปัจจุบันจะเห็นว่ามีผู้สนใจปลูกผักสวนครัวกันมากขึ้น คนที่อาศัยอยู่คอนโดมิเนียมก็เลือกปลูกผักง่าย ๆ ไว้ริมระเบียง บางคนมีพื้นที่ด้านข้างหรือด้านหลังบ้าน ก็ลงมือปลูกผักหลายรูปแบบ
สำหรับคนที่สนใจเรื่องการ เพาะเห็ด แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร การเพาะเห็ดในเมือง และมีพื้นที่น้อยจะได้ผลจริงหรือไม่ ทุกคำถามล้วนมีคำตอบ เพราะความจริงแล้ว ‘เห็ดปลูกง่ายกว่าที่คิด’
การ เพาะเห็ด ทำได้ง่ายมาก สามารถขยายเชื้อเห็ดอย่างง่าย ๆ ด้วยวัสดุที่หาได้ทั่วไป มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และตอบโจทย์คนเมืองอย่างมาก สามารถนำวิธีที่แนะนำนี้ไปทำตามได้อย่างแน่นอน
“เห็ด” จัดเป็นอาหารกลุ่มพืชผักที่ได้รับความนิยมบริโภคมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพและผู้รับประทานมังสวิรัติ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งโปรตีน วิตามิน เส้นใยอาหารสูง และมีไขมันต่ำ สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูทั้งอาหารไทยและต่างประเทศ อีกทั้งเห็ดบางชนิดยังมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกายและเป็นยารักษาโรคได้อีกด้วย ถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์เหมาะกับทุกเพศทุกวัย


ก่อนลงมือขยายเชื้อเห็ด ไม่ว่าจะเป็นเห็ดนางฟ้า เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดฟาง เห็ดโคนญี่ปุ่น ฯลฯ เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า เห็ดต้องการอะไรบ้าง
อาหารของเห็ด
สารอาหารที่เห็ดต้องการคือ เซลลูโลส ซึ่งมีในข้าวเปลือก เมล็ดข้าวฟ่าง และเมล็ดข้าวโพด จึงนิยมนำธัญพืช 3 ชนิดนี้มาใช้เป็นอาหารของเชื้อเห็ด นอกจากนี้ในธรรมชาติเห็ดยังสามารถเติบโตได้ดีบนท่อนไม้ผุ Mushroom Man จึงนำไม้เสียบลูกชิ้นที่หาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งส่วนมากทำมาจากไม้ไผ่ซึ่งมีเซลลูโลสเป็นส่วนประกอบ มาประยุกต์ร่วมกับกระดาษลูกฟูกสำหรับใช้ทำอาหารเลี้ยงเชื้อเห็ด ปรากฏว่าได้ผลดีไม่แพ้การใช้เมล็ดธัญพืช


น้ำและความชื้น สำหรับ เพาะเห็ด
เห็ดสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง สำหรับการเพาะเห็ดแบ่งความชื้นเป็น 2 ประเภท คือ ความชื้นในวัสดุเพาะ และความชื้นในอากาศ หากความชื้นในวัสดุเพาะมากเกินไปเส้นใยจะขาดออกซิเจน ส่งผลให้เส้นใยอ่อนแอ เชื้อราและแบคทีเรียจะเจริญเติบโตแทนทำให้ก้อนเห็ดเสียหายได้ ส่วนความชื้นในอากาศ หากน้อยเกินไปจะทำให้การเจริญเติบโตของเห็ดชะงัก หากมากเกินไปเห็ดจะฉ่ำน้ำ มีคุณภาพต่ำ และเน่าเสียง่าย

อุณหภูมิ สำหรับ เพาะเห็ด
มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเห็ดในทุกระยะ และมีความสัมพันธ์กับความชื้น เห็ดแต่ละชนิดต้องการอุณหภูมิแตกต่างกัน เช่น เห็ดมิลกี้ ต้องการอุณหภูมิ 30 – 32 องศาเซลเซียส เห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรมต้องการอุณหภูมิ 25 – 28 องศาเซลเซียส เป็นต้น ปัญหาหลักที่พบเมื่อปลูกเห็ดในเมืองก็คือ อุณหภูมิสูงเกินไป ดังนั้นจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับความต้องการของเห็ดแต่ละชนิด

อากาศ สำหรับ เพาะเห็ด
ไม่ควรอัดวัสดุเพาะในก้อนเห็ดจนแน่นหรือหลวมเกินไป เนื่องจากเห็ดต้องการก๊าซออกซิเจน โดยเฉพาะในระยะออกดอก ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีผลทำให้เส้นใยเจริญได้ดี ดังนั้นภายในก้อนเห็ดควรมีช่องอากาศที่เหมาะสม
แสง
เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นใย แต่เห็ดไม่ต้องการแดดเพราะความร้อนมาด้วย เมื่อวัสดุเพาะที่มีความชื้นอยู่ในอุณหภูมิสูง จะทำให้เห็ดเน่าเสียได้
Step By Step วิธีขยายเชื้อเห็ดด้วยไม้เสียบลูกชิ้น
การขยายเชื้อเห็ดบนไม้เสียบลูกชิ้นนิยมใช้ขยายเชื้อเห็ดนางฟ้าและเห็ดนางรม เป็นวิธีที่คิดค้นมาเพื่อให้สะดวกต่อการเพาะเห็ดในถังพลาสติก โดยมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แม้มีพื้นที่จำกัดอย่างคนในเมืองก็สามารถทำได้

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ ได้แก่ ไม้เสียบลูกชิ้น กระดาษลูกฟูกจากกล่องกระดาษเหลือใช้ หัวเชื้อเห็ดจากข้าวฟ่าง (หาซื้อได้จากร้านจำหน่ายเชื้อเห็ด) อุปกรณ์นึ่งฆ่าเชื้อ ได้แก่ เตาแก๊ส หม้อนึ่ง และผ้าขาวบาง อุปกรณ์ขยายเชื้ออย่างง่าย ได้แก่ ถุงพลาสติกทนความร้อน คอขวดพลาสติก (คอจุกก้อนเห็ด) และสำลี

Step 1. แช่ไม้เสียบลูกชิ้นในน้ำนานประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ไม้ดูดซับความชื้นเข้าไปจนทั่ว แล้วเทน้ำออก จากนั้นตัดกระดาษลูกฟูกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แช่ในน้ำจนอิ่มตัว

Step 2. นำกระดาษลูกฟูกมาคลุกเคล้ากับไม้เสียบลูกชิ้น แล้วมาใส่ลงในถุงพลาสติกทนความร้อน ปิดปากถุงด้วยคอขวดพลาสติก พับขอบถุงลงมาแล้วอุดด้วยสำลี จากนั้นนำถุงไม้เสียบลูกชิ้นไปนึ่งฆ่าเชื้อโดยใช้เวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง นำออกจากหม้อนึ่ง วางทิ้งไว้ให้เย็นลง

Step 3. เขย่าหัวเชื้อเห็ดจากข้าวฟ่างจนเมล็ดร่วน เทใส่ในถุงไม้เสียบลูกชิ้นปริมาณ 1 ใน 3 ของขวดต่อถุง ปิดปากถุงด้วยคอขวดพลาสติก อุดด้วยสำลี แล้วนำถุงไปวางไว้ในพื้นที่ที่สะอาด

Step 4. ใช้เวลาประมาณ 15 วัน เชื้อเห็ดจะเจริญเต็มไม้เสียบลูกชิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อเห็ดที่ใส่ลงในถุง ยิ่งใส่มาก เชื้อเห็ดยิ่งเจริญได้ไว

Step 5. ใส่ฟางข้าวที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้วลงในถังพลาสติก ปิดฝาถังให้สนิท นำเชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่างหยอดลงในรู เพื่อเพิ่มความเร็วในการเจริญของเชื้อเห็ดในถัง พร้อมใส่เชื้อเห็ดจากไม้เสียบลูกชิ้นลงในรูเพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อเห็ด จากนั้นปิดรูด้วยสำลีเพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้น นำถังไปวางในห้องที่สะอาด ใช้เวลาประมาณ 20-30 วัน ดอกเห็ดจะทยอยแทงออกมาให้เก็บไปบริโภคได้

การปลูกเห็ดในพื้นที่จำกัด สภาพอากาศและอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงอย่างในเมืองยังมีอีกหลายวิธี การขยายเชื้อเห็ดด้วยไม้เสียบลูกชิ้นเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาง่ายและขั้นตอนไม่ยุ่งยาก อีกทั้งยังสามารถเพาะในพื้นที่เล็ก ๆ ได้ ถ้าหากใครสนใจอยากทดลองเพาะเห็ดในรูปแบบใหม่ และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ Garden & Farm Vol.15 เกษตรในเมือง Urban Farming และ My Little Farm Vol.10 ปลูกเห็ดแบบคนเมือง โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน
เรียบเรียง นิชานาถ ชมญาติ
ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม