ช่วงอากาศเย็น แห้งแล้งในฤดูหนาวอย่างนี้ อาจจะเห็น ไม้ต้นกินดอก เริ่มผลิดอกตามธรรมชาติให้ชมบ้าง เหล่าไม้ยืนต้นที่เคยให้ร่มเงาบริเวณบ้าน มักผลัดใบ ทิ้งใบหมดต้น เพื่อหยุดการเติบโตพร้อมกับเก็บสะสมอาหารไว้ในต้น เตรียมตัวผลิยอดอกและชูช่อดอก ในช่วงฤดูร้อนต่อไป
แต่มี ไม้ต้นกินดอก บางชนิดที่เริ่มทยอยผลิดอก ส่งกลิ่นหอมต้นไม้หลายชนิดต่างเตรียมตัวเก็บสะสมอาหารพร้อมผลิดอกบานให้ชม และบางชนิดยังใช้เก็บมากินเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำมาปรุงอาหารได้อีกด้วย มาทำความรู้จักดอกไม้เหล่านั้นกันค่ะ
กระพี้จั่น หรือ ปี้จั่น เป็นพืชในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Millettiabrandisianaเป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันนิยมปลูกประดับสวนกันมาก เพราะปลูกเลี้ยงง่าย ชอบดินร่วนปนทราย ทนแล้งได้ดี และให้ดอกสวยงาม ซึ่งเป็นจุดเด่นของพืชชนิดนี้คือ ต้นสูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกต้นแตกเป็นสะเก็ด ใบแบบขนนกปลายคี่ มักผลัดใบในช่วงฤดูหนาว จากนั้นจะทยอยผลิยอดอ่อนสีแดง และผลิดอก ซึ่งมีทั้งสีม่วงอมชมพูและสีขาว
ประโยชน์ของกระพี้จั่น นอกจากปลูกเป็นไม้ประดับได้ดีแล้ว ยอดอ่อนสีแดงในระยะใบเพสลาดยังเก็บกินเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือใส่ในแกง ยำต่างๆ รสชาติฝาดมัน ซึ่งจะแตกยอดให้เก็บกินได้ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ว่ากันว่า บางต้นก็อาจไม่อร่อย คงต้องเลือกต้นอร่อยมาปลูกกัน ส่วนช่อดอกยังไม่มีรายงานการนำมาใช้ประโยชน์เนื้อไม้ใช้งานก่อสร้าง หรืออุปกรณ์การเกษตร และทำเยื่อกระดาษ นอกจากนี้บางตำรายังกล่าวว่า หากใครปลูก ไม้ต้นกินดอก อย่างกระพี้จั่นไว้ในบริเวณบ้านจะช่วยให้เงินทองไหลมาเทมา
กุ่ม เป็นไม้ยืนต้นที่พบทั่วไปในเมืองไทย ตามริมน้ำ ต้นสูงได้ถึง 20 เมตร มีใบประกอบแบบนิ้วมือ ใบย่อย 3 ใบ พอถึงฤดูหนาวจะผลัดใบหมดทั้งต้น จากนั้นจะเริ่มออกดอกทั้งต้นและทยอยผลิใบตามมา
กุ่มในบ้านเรามี 2 ชนิดคือ กุ่มน้ำ (Crateva magma) และกุ่มบก (C. adansoniissp. trifoliata) ทั้งสองชนิดปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี ชอบน้ำทนน้ำท่วมขัง อีกทั้งกินเป็นผักได้ทั้งคู่ โดยนำยอดอ่อนมาลวกหรือดองก่อนบริโภค เพื่อทำลายกรดไฮโดรไซยานิกที่เป็นพิษ กินกับอาหารรสจัดให้แคลเซียมและใยอาหารสูง และยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรแก้ไข้ ช่วยให้เจริญอาหาร และช่วยขับปัสสาวะ
สำหรับข้อแตกต่างระหว่างกุ่มน้ำและกุ่มบก คือ กุ่มน้ำมีใบรูปใบหอกยาวเรียว ส่วนกุ่มบกใบป้อมกว่า และมีผลสีน้ำตาล
สูตรผักกุ่มดอง
นำใบและช่อดอกมาต้ม คั้นน้ำทิ้ง 1-2 ครั้งเพื่อลดความขม ใส่ใบและช่อดอกลงในโหล ปรุงด้วยข่า ตะไตร้ ฝานเป็นแว่น พร้อมใบแมงลัก ผักชีฝรั่ง น้ำปลาร้า น้ำปลา เกลือ และข้าวสารเล็กน้อย ถ้ามีน้ำคั้นใบย่านางใส่เพิ่มจะช่วยให้ผักกุ่มรสชาติดีขึ้น นำไปหมักกับน้ำเกลือ และน้ำซาวข้าว ปิดฝาโหลให้สนิท อีก 2-3 วันนำมากินได้
แคฝรั่งเป็นพืชในวงศ์ถั่ว (Fabaceae)เช่นเดียวกับกระพี้จั่น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gliricidiasepiumเป็นไม้ประดับที่นำเข้ามาปลูกในเมืองไทยนานแล้ว ซึ่งถิ่นกำเนิดที่แท้จริงอยู่ในอเมริกาเขตร้อน และเติบโตได้ดีในบ้านเรา เพราะเลี้ยงง่าย ทนแล้งให้ร่มเงาได้ดีแต่ไม่ทนน้ำท่วมขัง พบปลูกมาทางภาคอีสานและภาคเหนือ
จุดเด่นของไม้ประดับชนิดนี้คือ เป็นไม้ต้นผลัดใบที่สูงได้ถึง 15 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ โดยในฤดูหนาว จะทิ้งใบจนหมดต้นและทยอยผลิดอกตั้งแต่เดือนธันวาคม สีดอกมีทั้งดอกขาวและดอกชมพู ซึ่งเก็บกินเป็นผักได้ ทั้งผัดน้ำมัน ลวกกินกับน้ำพริก หรือใส่ในไข่เจียบ ชุบแป้งทอด ใส่ในแกงส้มแทนดอกแคอร่อยไม่แพ้กัน
นอกจากนี้ยังมีบันทึกไว้ว่า ใช้เป็นสมุนไพรแก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ ใบแห้งใช้ทำปุ๋ยหมักได้ ในต่างประเทศใช้ใบเป็นพืชอาหารให้วัวควาย แพะ (ยกเว้นกระต่าย เต่า) หรือนำเปลือกต้นมาต้มกับข้าวโพดใช้เบื่อหนูได้ น้ำต้มจากเปลือกใช้ฉีดพ่นไล่แมลงได้อีกด้วย
ผักติ้ว หรือติ้วส้ม, แต้วหอม เป็นพืชในวงศ์ Hypericaceaeมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cratoxylumformosumเป็นไม้ต้นที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน ในเมืองไทยพบทางภาคเหนือและภาคอีสาน ทนแล้งได้ดี แต่ไม่ทนน้ำท่วมขัง
ผักชนิดนี้มักพบปลูกเป็นไม้ประดับกันน้อย ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นที่เติบโตในป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาค ต้นสูงได้ถึง 25 เมตร ให้ร่มเงาได้ดี แต่ผลัดใบในช่วงฤดูหนาว หลังจากนั้นจะทยอยผลิใบอ่อนสีแดงเป็นมันให้เก็บกิน หลังจากนั้นจะผลิดอกสีขาวอมชมพูส่งกลิ่นหอม รอให้เก็บไปชิม ซึ่งทั้งยอดอ่อนและดอกมีรสเปรี้ยว กินเป็นผักสดหรืออาหารรสจัดได้ดี เช่น แกงเผ็ดต่างๆ และอาหารเวียดน้ำ ให้วิตามินบี 2 และไนอะซินสูง
นอกจากนี้ยังมีผักติ้วอีกชนิดหนึ่ง ทางภาคเหนือเรียกว่า ติ้วเกลี้ยง หรือติ้วแดง (Cratoxylumcochinchinensis) ลักษณะแตกต่างกันชัดเจน เพราะติ้วเกลี้ยงลำต้นจะมีหนามแหลม แผ่นใบด้านไม่เป็นมันเงาเหมือนผักติ้ว และมีรสฝาด ส่วนดอกมีสีชมพูอมแดง ดอกมีกลิ่นหอมเช่นเดียวกัน
สำหรับประโยชน์ในด้านอื่น ทั้งสองชนิดนี้มีเนื้อไม้แข็งแรง ใช้ทำเสา ด้ามอุปกรณ์การเกษตร เพิ่มเติมคือ เปลือกต้นของผักติ้วใช้ทำสีย้อม ให้สีน้ำตาล จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของผักติ้วคือ รากที่ทอดเลื้อยใต้ผิวดินสามารถแตกต้นใหม่ และนำมาปลูกได้ แต่ติ้วเกลี้ยงต้องขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดเท่านั้น
ผักเสี้ยวเป็นพืชในวงศ์ถั่ว (Fabaceae)มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bauhinia sp. หรือสกุลชงโคนั่นเอง ผักเสี้ยวเป็นไม้ยืนต้นที่พบทั่วทุกภาคของไทย เป็นไม้ผลัดใบ ต้นสูง 10-15 เมตร ผลัดใบในช่วงฤดูหนาว ก่อนผลิดอกสีขาวให้ชม สำหรับผักเสี้ยวที่กินเป็นผักมีสองชนิดคือ ชงโค หรือเสี้ยวหวาน (Bauhinia purpurea) ที่ให้ดอกสีชมพูอ่อน พบปลูกเป็นไม้ประดับทั่วทุกภาค และดอกสีขาวที่เรียกว่า เสี้ยวดอกขาว (B. variegata) ที่พบมากทางภาคเหนือ
สำหรับผักเสี้ยว นิยมกินส่วนยอดอ่อน เป็นผักสด ต้ม หรือลวกจิ้มน้ำพริก หรือนำมาปรุงในแกงต่างๆ รสฝาดมัน ให้แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ และโปรตีนค่อนข้างสูง
เสี้ยวปลูกเลี้ยงง่าย ทนแล้ง ไม่ทนน้ำท่วมขัง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง แต่สำหรับเสี้ยวดอกขาว ต้องปลูกในพื้นที่เย็น จึงผลิดอกให้ชมกันค่ะ
พะยอม, สุกรม หรือยางยวม เป็นพืชวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Shorearoxburghiiมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไม้ต้นผลัดใบที่สูงได้ถึง 20 เมตร ให้ทรงพุ่มสวยงาม จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับกัน อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย ที่สำคัญที่คนรุ่นใหม่อาจไม่ทราบก็คือ ดอกกินได้ ทั้งนำมาปรุงในแกงจืด แกงส้ม แกงเลียง หรือชุบไข่ทอดจิ้มกับน้ำพริก ซึ่งจะมีให้ชิมในช่วงนี้เท่านั้น
นอกจากนี้ เปลือกต้นของพะยอม มีสารแทนนินสูง มีสรรพคุณแก้ท้องเสีย และลำไส้อักเสบ ดอกช่วยลดไข้ บำรุงหัวใจ อีกทั้งเปลือกหรือเนื้อไม้พะยอมหากนำมาใส่ในกระบอกตาลขณะปาดงวงตาลและมะพร้าว จะทำให้น้ำตาลที่ได้ไม่บูดเสียอีกด้วย เนื้อไม้ยังแข็งใช้ทำเครื่องเรือนและก่อสร้างบ้านเรือนได้ดี
พะยอมเป็นไม้ทนแล้ง ชอบดินร่วน แสแงดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
มะตาดเป็นพืชในวงศ์ Dilleniaceaeมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dilleniaindicaมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเมืองไทยพบตามป่าดิบชื้นริมน้ำ ต้นสูงใหญ่ได้ถึง 15 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบทรงพุ่มสวยงาม ให้ร่มเงาได้ดี แผ่นใบขนาดใหญ่ เป็นเส้นใบขนานกันชัดเจน ดอกขนาดใหญ่ จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับกันมาก มักให้ดอกดกในช่วงฤดูฝน และติดผลให้เก็บกินจนถึงช่วงฤดูหนาว
ผลมะตาดเป็นผักที่ชาวมอญในจังหวัดนนทบุรี รู้จักกันดี เพราะนิยมนำผลอ่อนมาฝานกลีบหนาด้านนอกเป็นแว่นๆ เพื่อทำแกงส้ม ต้มยำ ให้รสเปรี้ยว ในด้านสมุนไพร มีบันทึกไว้ว่า ผลช่วยบำรุร่างกาย แก้ไข้ เป็นยาระบาย แก้ปวดท้อง ผลสุกที่มีรสหวานอมเปรี้ยว นำมาคั้นน้ำผสมกับน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มบำรุงร่างกาย แก้ไข้ แก้ไอและขับเสมหะได้ดี
มะตาดเป็นไม้ยืนต้นที่ปลูกเลี้ยงง่าย ชอบดินชุ่มชื้นริมน้ำ แสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หลังปลูก 5-6 ปี จึงเริ่มให้ดอก คนไทยในอดีตกล่าวกันว่า มะตาดมีสองพันธุ์คือ พันธุ์ข้าวเหนียว ที่มีเนื้อหนา ให้กลิ่นหอม และพันธุ์ข้าวเจ้า ที่มีเนื้อบางและฝาด ลองเลือกพันธุ์มาปลูกกันนะคะ
มะรุมเป็นพืชในวงศ์ Moringaceaeมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Moringaoleiferaมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย เป็นไม้ยืนต้นที่อยู่คู่กับครัวไทยมานาน เพราะทรงพุ่มโปร่งสวยงาม มีใบประกอบแบบขนนกสองถึงสามชั้น ดูสวยงาม ช่อดอกสีขาวอมเหลืองอ่อนขนาดใหญ่ ออกที่ปลายยอด ซึ่งมักออกในช่วงต้นฤดูหนาว และติดฝักยาวกว่า 30 เซนติเมตร ซึ่งดูคล้ายกับไม้ตีกลอง จึงมีชื่อสามัญว่า Drumstick Tree
คุณประโยชน์ของมะรุม สามารถกินเป็นผักได้ทั้งยอดอ่อน ช่อดอก และฝัก สำหรับยอดอ่อน ช่อดอกนำมาต้ม ลวก จิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงส้ม แกงเลียงก็ได้ มีรสขมเล็กน้อย ส่วนฝักอ่อน นำมาปอกเปลือกออก ก่อนหั่นเป็นท่อน ใช้ใส่ในแกงส้ม หรือแกงลาวของชาวอีสานได้
ส่วนฝักอ่อนที่เมล็ดยังนิ่มก็กินเป็นผักสดกับน้ำพริก ส้มตำ ลาบได้เช่นกัน ให้วิตามินซีสูง ใบและดอกมีสรรพคุณดีๆ คือ แก้อักเสบ เป็นยาบำรุง ช่วยขับปัสสาวะ นอกจากนี้น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดแก่ยังใช้ปรุงอาหารได้ หรือใช้ทำน้ำสลัด เครื่องสำอาง หรือใช้เป็นยาแก้ปวดและช่วยบำรุงหัวใจ
มะรุมปลูกเลี้ยงง่าย ชอบแสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง หลังปลูก 2-3 ปีจึงออกดอกติดผล ว่ากันว่า มีทั้งพันธุ์ฝักใหญ่ ที่บางคนเรียกว่า พันธุ์ข้าวเหนียว และฝักเล็กเนื้อน้อย หรือพันธุ์ข้าวเจ้า ลองเลือกปลูกกันค่ะ
สะเดา เป็นพืชในวงศ์ Meliaceaeมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าAzadirachtaindicavar. siamensisมีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบอินโดจีน ในเมืองไทยพบทั่วทุกภาค เป็นไม้ยืนต้นที่สูงได้ถึง 20 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ จุดเด่นของสะเดาที่รู้จักกันดี คือ รสขมของช่อดอกและยอดอ่อนที่นิยมกินกับน้ำปลาหวานและปลาดุกย่าง ซึ่งมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรที่ดี ช่วยบำรุงธาตุ และช่วยย่อยอาหาร
นอกจากนี้ ใบและผลของสะเดายังมีสารสำคัญคือ Azadirachinที่ช่วยไล่แมลง ซึ่งในอดีตใช้ไล่เหาในศีรษะ ปัจจุบันนิยมใช้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ดีในสวนเกษตรอินทรีย์
นอกจากนี้เนื้อไม้สะเดายังมีความแข็งแรงไม่แพ้ไม้ยืนต้นชนิดอื่น ๆ สามารถใช้ทำสิ่งก่อสร้างและด้ามอุปกรณ์การเกษตร ทั้งยังเป็นพืชโตเร็วที่เติบโตได้ทุกสภาพพื้นที่ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือเสียบยอด หากใครที่ไม่ชอบความขม ลองหาพันธุ์สะเดามัน ที่มีรสขมน้อย มาปลูกกันค่ะ
โสกน้ำ, อโสกน้ำ หรือส้มสุก เป็นพืชในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saracaindicaมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเมืองไทยพบปลูกกันมาแต่โบราณ ตามพื้นที่ริมน้ำ ปัจจุบันพบปลูกกันบ้าง ต้นสูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียวยาว ยอดอ่อนมีสีแดงเรื่อ ไม่ผลัดใบก่อนออกดอก และส่งกลิ่นหอมอ่อนๆไปทั่ว โดยดอกจะทยอยบานตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม และติดฝักแบนยาวทั่วทั้งต้น
ชาวเหนือมักเรียกโสกน้ำว่า “ส้มสุก” ด้วยรสเปรี้ยวอมฝาดของใบอ่อนสีแดงเรื่อที่เรียกว่า ใบเพสลาด และช่อดอกอ่อน ที่นำมาปรุงใน “ซ่าผัก” ซึ่งเป็นยำของชาวเหนือ นอกจากนี้อาจทำดอกและยอดอ่อนมาทำแกงส้มได้อร่อยไม่แพ้กัน
โสกน้ำปลูกเลี้ยงง่าย ชอบดินร่วนชุ่มชื้น แสงแดดตลอดวัน ขยายพันธุ์ง่ายด้วยการเพาะเมล็ด
เมืองไทยนับเป็นแหล่งรวมของพรรณไม้ที่มีประโยชน์ในคุณค่ากับชาวไทยมากมาย โดยเฉพาะประโยชน์ด้านอาหารและสมุนไพร ลองหามาชิม หามาปลูกกันนะคะ หรือถ้าอยากรู้จักผักและสมุนไพรพื้นบ้านของไทยเพิ่มเติม อ่านได้ใน Garden & Farm vol.5 ผักและสมุนไพรพื้นบ้าน ของสำนักพิมพ์บ้านและสวนกันค่ะ
เรื่อง : อุรไร จิรมงคลรัช
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย