วิธี ปลูกหอมแดง พืชเครื่องแกงที่ต้องมีติดครัวไว้ เพราะอาหารไทยส่วนใหญ่จะมีหอมแดงเป็นส่วนประกอบแทบจะทุกเมนูไม่มากก็น้อย
แต่หอมแดงไม่ได้เป็นพืชที่ไว้ใช้ประกอบอาหารเพียงเท่านั้น ยังมีประโยชน์ที่หลากหลายมากกว่านั้น เราจะพามาทำความรู้จักกับ วิธี ปลูกหอมแดง ให้มากขึ้น และบอกเคล็ดลับวิธีการปลูกหอมแดงไว้ใช้ได้ตลอดในครัวเรือน
หอมแดง พืชที่ใครหลายคนไม่รู้ว่าอยู่ตระกูลเดียวกับพลับพลึง (AMARYLLIDACEAE) ชื่อสากลของหอมแดงคือ Shallot และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium ascalonicum L. หอมแดงเป็นพืชที่มีติดครัวไว้แทบทุกบ้าน มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในประเทศไทยปลูกหอมแดงมากในพื้นที่ทางภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดศรีสะเกษ บุรีรัมย์ นครราชสีมา
หอมแดง เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสั้นอยู่ใต้ดิน ลำต้นจะมีส่วนที่เป็นกาบใบห่อซ้อนกันหลายชั้นรวมเป็นหัวทรงกลมสีม่วงแดง กาบใบชั้นนอกสุดมีสีน้ำตาลแดงและจะแห้งห่อหุ้มส่วนหัวไว้ มีใบจะเรียวยาวเป็นท่อสีเขียว ด้านในกลวง ออกเป็นกระจุก ดอกออกเป็นช่อแทงออกมาจากตรงกลางหัว ช่อดอกมีลักษณะคล้ายร่ม ดอกมีสีขาวอมม่วง ผลกลมมีเมล็ดอยู่ด้านใน เมื่อเมล็ดจะแตกออก เมล็ดทรงรีเล็กๆ สีดำ หอมแดงสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด หรือจะใช้ส่วนหัวปักชำก็ได้ วิธีขยายพันธุ์โดยการปักชำหัวจะให้ผลผลิตที่รวดเร็ว และทำได้ง่าย เพียงไม่กี่ขั้นตอน
เทคนิคและขั้นตอนในการ ปลูกหอมแดง
การเตรียมวัสดุปลูก
วัสดุปลูกที่ใช้ ปลูกหอมแดง ต้องมีความร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดี ไม่ควรเป็นที่ดินละเอียดเกินไป เพราะเมื่อรดน้ำไปนานจะทำให้ดินแน่น หัวหอมจะขยายขนาดได้ยาก แนะนำให้ใช้ขี้เถ้าแกลบ แกลบดิบ ดินใบก้ามปูหรือกาบมะพร้าวสับผสมกัน ในอัตราส่วน 1:1:1 คุมหน้าดินด้วยฟางข้าว หรือแกลบดิบเพื่อรักษาความชื้นในดิน
วิธีการปลูก หอมแดง
การ ปลูกหอมแดง สามารถใช้เมล็ดหรือใช้หัวปลูกได้ ถ้าปลูกหอมแดงโดยใช้เมล็ด จะใช้เวลาในการเติบโตจนถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ 5 เดือนหรือ 150 วัน แต่ถ้าหากใช้หัวในการปลูก ในช่วงฤดูฝนจะใช้เวลา 2 เดือนหรือ 45-60 วัน ในช่วงฤดูหนาวที่อากาศเย็นจัดหอมแดงจะเจริญเติบโตค่อนข้างช้ากว่าฤดูฝน ใช้เวลาในการเติบโตนานถึง 3 เดือน หรือราวๆ 100 วัน
โดยการปลูกหอมแดงโดยใช้หัว ควรเลือกหัวที่สมบูรณ์ ไม่ฝ่อ ไม่มีโรคหรือเชื้อราติดมาด้วย ใช้กรรไกรตัดแต่งรากเก่าออกให้หมด แล้วใช้มืดกดหัวให้จมลงในวัสดุปลูกประมาณครึ่งหัว ให้ส่วนบนของหัวโผล่พ้นวัสดุปลูก ระยะปลูกระหว่างหัวห่างกันพอประมาณ หอมแดง 1 หัว จะแตกกอให้หัวเพิ่มอีก 5-8 หัวหรืออาจมากน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ หลังจากปลูกประมาณ 7-10 หอมแดงจะเริ่มแทงใบใหม่ขึ้นมา
การดูแล
หอมแดงเป็นพืชที่เติบโตได้ตลอดทั้งปี ชอบอากาศเย็น ไม่ต้องดูแลหรือบำรุงอะไรมากมาย เพียงแค่ได้ต้นหอมแดงได้รับแสงแดดที่เพียงพอ รดน้ำเช้าเย็นเหมือนพืชผักทั่วๆไป แต่จะต้องดูแลเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน เนื่องจากความชื้นและปริมาณน้ำที่มากจะทำให้ส่วนหัวเน่าเสียได้ และเมื่อหอมแดงโตเต็มที่จะเริ่มทิ้งใบ ใบจะแห้งเหี่ยวแห้งลง และควรงดน้ำก่อนเก็บเกี่ยวเนื่องจากการเก็บรักษาหอมแดงไว้ใช้ในครัวเรือนจะต้องเก็บในที่แห้ง เพื่อป้องกันเชื้อรา ถ้าหากหอมแดงได้รับความชื้นจะไปกระตุ้นการงอกของต้นใหม่ได้
โรคที่ต้องระวังในหอมแดง
หอมแดงเป็นพืชที่ใช้รับประทานหัว ลำต้นอวบน้ำ ยาวเรียวและเป็นแนวตรง เมื่อลมหรือฝนตกหนักต้นเหนือดินจะพับหักเสียหายได้ง่าย ทำให้เชื้อราก่อโรคต่างๆ เข้าทำลายได้ง่าย โรคที่เกิดขึ้นในหอมแดงส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงฤดูฝน เมื่อฝนตกหนักดินระบายน้ำได้ไม่ดีก็จะทำให้เกิดหัวเน่ารากเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Sclerotium sp. โรคใบไหม้ จะเกิดขึ้นในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงและใบของหอมแดงเปียกเป็นเวลานาน
เชื้อรา Stemphylium sp. ก็มักจะเข้าทำลาย โรคแอนแทรคโนส โรคยอดฮิตที่มักเข้าทำลายในพืชผักหลายชนิด เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อรา Collectotrichum sp.โดยโรคนี้จะเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง หรือฝนตกติดต่อกันหลายวัน และเชื้อนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคหอมเลื้อย ทำให้หอมแดงแคระแกร็น หัวรีบยาว ไม่ลงหัว ใบบิดเป็นเกลียว และโรคใบจุดสีม่วง เป็นโรคที่ระบาดได้ดีในช่วงที่อากาศเย็นมีหมอกและน้ำค้างลงจัด ใบจะฉ่ำน้ำ และเมื่อแผลแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงหรือม่วง ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Alternaria sp. โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ โดยการไม่ปลูกซ้ำที่ วัสดุปลูกต้องระบายน้ำได้ดี หัวพันธุ์ต้องปลอดจากเชื้อโรคและสิ่งเจือปน
ประโยชน์และสรรพคุณ
หอมแดงนิยมใช้เป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารต่างๆ หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องแกง หลายๆคนอาจทราบว่าหอมแดงสามารถช่วยบรรเทาหวัด ลดอาการคัดจมูกและลดน้ำมูกได้ แต่หอมแดงยังมีสรรพคุณอีกมากมาย อาทิ แก้ท้องอืด ขับลม ลดการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และยังช่วยลดรอยด่างดำและรักษาสิวได้อีกด้วย
เรียนรู้การปลูกพืชเครื่องแกงอื่นๆได้จาก หนังสือ Garden & Farm vol.16 เครื่องแกงและพืชเครื่องเทศ
เรื่อง สรวิศ บุญประสพ
ภาพ คลังภาพบ้านและสวน และ สรวิศ บุญประสพ