สิ่งหนึ่งที่คน ปลูกผักปลอดสารพิษ ปลูกผักอินทรีย์ ต่างบอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันคือล้วนแต่ต้องใจเย็น เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติ และปล่อยให้พืชผักได้ค่อยๆ เติบโต เช่นเดียวกับสวนครัวข้างบ้านของคุณเป้ ลัดดาวัลย์ แพรสีดำ คุณแม่ลูกหนึ่งที่ตั้งใจสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับน้องซัน ด.ช.รภัทร เหลืองหิรัญ เด็กชายตัวเล็กลูกชายของเธอ
ความเป็นระเบียบเรียบง่าย สะอาด และสวยงาม ต้องยกให้เป็นจุดเด่นของแปลง ปลูกผักปลอดสารพิษ แห่งนี้ สวนครัวที่ใช้เวลาเดินทางมานานถึง 6 ปี “ตอนแรกก็ปลูกเล่นๆ ค่ะ ปลูกเพื่อทดลองว่ามันทำได้จริงไหม ทำไมผักอินทรีย์มันถึงราคาแพง พอได้ทำก็เลยรู้ว่าที่มันแพงนั้น เพราะผลผลิตที่ได้มันน้อย มันทำยาก ต้องดูแลเอาใส่ใจ แต่เมื่อเริ่มปลูกไปเรื่อยๆ เราจะเข้าใจและรู้จักนิสัยของพืชแต่ละขนิด ก็จะจับทางได้และรู้ว่าเราต้องดูแลอย่างไร” คุณเป้เล่า
- การอยู่ร่วมกันระหว่างผีเสื้อกับการทำเกษตรอินทรีย์
- “ทำสวนกับมาดาม” ฟาร์มผักออร์แกนิกของ 2 นักปลูก ที่อยากให้ทุกคนที่มามีสุขภาพที่ดี
เส้นทางการทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ข้างบ้านซึ่งเป็นร้านจำหน่ายเคมีภัณฑ์ มีความย้อนแย้งชวนตระหนักรู้ถึงผลดีของการปลูกผักเพื่อให้ได้แหล่งอาหารที่ปลอดภัย และเรารับรู้ได้ถึงกลิ่นของความเศร้าเมื่อเล่าถึงเหตุจูงใจให้เธออยากปลูกผักปลอดสารเพราะคำสัญญากับคนสำคัญในชีวิตที่จากไป
ปลูกผักอินทรีย์ ปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อดูแลคนในบ้าน
จากบทเรียนราคาสูงสุดในชีวิตที่ต้องสูญเสียคุณพ่อด้วยโรคมะเร็งซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้สารเคมีในการเกษตร การเริ่มปลูกผักอินทรีย์จึงเต็มไปด้วยแพชชั่นเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก ส่วนหนึ่งแบ่งจำหน่ายให้กับคนที่อยากทานผักที่ปลอดภัย ทั้งในตลาดฟาร์มฝันปันสุขที่จัดขึ้นทุกเดือน ที่ อ.เมือง นครสวรรค์ และกลุ่มชาวบ้านในตัวอำเภอชุมแสงเองด้วย
“ในตอนเริ่มแรก เป้เข้ามาช่วยงานกลุ่มตลาดฟาร์มฝันปันสุขค่ะ ช่วยดูเรื่องการทำการตลาด ทำโซเชียลมีเดีย เริ่มรู้จักเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของนครสวรรค์ทำให้เราเริ่มศึกษาเรื่องการปลูกผักอินทรีย์ และการแปรรูป ช่วงแรกตลาดเกิดปัญหาผักไม่พอขาย เลยช่วยปลูกเพื่อให้พอกับความต้องการ เพราะเราทำเกษตรอินทรีย์อยู่ จึงปลูกเสริมและได้ผลผลิตส่งขายที่ตลาดฟาร์มฝัน บางอย่างก็ขายกันเองในเครือข่ายชุมแสงชื่อตลาดอุ่นใจ ในอนาคตตั้งใจสร้างตลาดเกษตรอินทรีย์ข้างๆ สวนด้วยค่ะ อยากให้เป็นทั้งพื้นที่เรียนรู้ และจำหน่ายอาหารที่ปลอดภัยค่ะ”
แปลงผักเป็นระเบียบกับหลากหลายพันธุ์ผักที่ทดลองปลูก
บทสนทนาลื่นไหลด้วยเครื่องดื่มรับแขก น้ำชาข้าวผสมเคล ที่ทำจากข้าวขาวเกยไชยผสมผงเคลซึ่งบดให้เป็นผงมัชฉะก่อนผสมเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ความน่าสนใจคือ ข้าวที่ใช้เป็นข้าวพื้นถิ่นที่คิดค้นพัฒนา จากเกษตรกรในอำเภอชุมแสง เมื่อเสิร์ฟพร้อมมะเขือเทศสดๆ ที่เก็บจากต้น กับวิวเบื้องหน้าที่มองผ่านช่องแสงสี่เหลี่ยมเปิดให้เห็นสวนครัวในทุกมุม
แม้จะมีพื้นฐานมาจากครอบครัวเกษตรกรรม แต่เมื่อลงมือจริงจังกับการทำเกษตรอินทรีย์ มันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะกว่าจะได้มะเขือเทศเป็นซุ้มเรียงยาวอย่างที่เห็นนั้น ต้องปลูกถึง 5 รอบเลยทีเดียว
“ตอนแรกเราไม่มีประสบการณ์ก็ดูวิธีปลูกจาก YouTube บางคนเขาก็ปลูกกลางแจ้ง ไม่ต้องทำหลังคาโรงเรือน แต่ที่เขาปลูกได้เพราะเขาฉีดยา เจอเชื้อราเจอโรคแมลง อะไรก็ต้องฉีดยา พอปลูกเองเราก็มารู้ว่าต้องมีหลังคาให้มันนะ เพื่อกันน้ำค้างต้องรดน้ำไม่รดน้ำโดนใบ มันถึงจะไม่เป็นเชื้อรา แต่ถ้าจะให้ดีเลยคือต้องเป็นโรงเรือนจะได้ผลผลิตดีกว่า”
มะเขือเทศราชินีที่ปลูกถึงรุ่นที่ 5 ด้วยความตั้งใจอยากจะเก็บเมล็ดพันธุ์ออร์แกนิกที่ต้องใช้เวลาในการปลูกถึง 8 รุ่น เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีความนิ่ง ไม่กลายพันธุ์ แต่รสชาติที่ได้ชิมในตอนนี้ หวานอร่อยทั้งพันธุ์สีเหลืองและสีแดง ในขณะที่มะเขือเทศฟักทองก็ออกผลดกแดงแข่งกันไม่เบา ไม่เพียงเท่านั้น หลากหลายพันธุ์พืชคละผสมอยู่ในพื้นที่สวน ทั้งแบล็คเบอร์รี่ โกโก้ หน่อไม้ฝรั่ง กุยฉ่าย ผักสลัด กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก ผักกาดขาว กวางตุ้งดอกไม้ไฟ ไปจนถึงดอกไม้ล่อแมลงที่ปลูกประดับเพิ่มสีสันให้สวนแห่งนี้
เปลี่ยนดินเหนียวให้ ปลูกผักปลอดสารพิษ ได้
ผักกาดหอมอิตาลี ใบที่อวบอ้วนในช่วงฤดูหนาว มะเขือเทศที่เลื้อยขึ้นค้างออกผลแดงสะพรั่ง ในขณะที่บางส่วนเริ่มแตกใบเป็นต้นกล้าในแปลงดิน ทั้งยังมีพันธุ์ไม้แปลกๆ ที่แอบซ่อนอยู่ในมุมต่างๆ อย่างโกโก้ แบล็คเบอร์รี่ ซึ่งทั้งหมดนี้ปลูกบนดินที่เป็นดินเหนียวและล้อมรอบด้วยหญ้ารกชัฏที่ขึ้นตามธรรมชาติ
“ตอนแรกจ้างรถไถมาไถดิน คิดจะปรับปรุงดินให้มันฟูขึ้น แต่ว่าทำอยู่สองปีมันไม่ดีขึ้นก็เลยทำเฉพาะตรงที่เราจะปลูกก่อน ใส่อินทรีย์วัตถุลงไป ทำแปลงยกขึ้นใช้ไม้ไผ่ตีกรอบแปลงเป็นวัสดุที่มีอยู่แถวนี้ ช่วยซื้อจากชาวบ้าน ระหว่างแปลงเป็นดินเหนียวก็เลยใช้แผ่นพลาสติกคลุมวัชพืชคลุมทับ ป้องกันไม่ให้เลอะเทอะเวลารดน้ำ ป้องกันวัชพืชคลุมหญ้าได้ด้วยค่ะ”
เพราะเป็นดินเหนียว วิธีแก้ปัญหานี้คือการทำแปลงปลูกบนดินเหนียว โดยปรุงดินสูตรใหม่ให้เหมาะกับความต้องการของต้นไม้ โดยใช้ดิน 1 ส่วน หมักกับเศษหญ้าที่เราตัดจากพื้นที่รกร้างรอบๆ ผสมกับมูลวัว มูลไส้เดือน หมักรวมไว้ กองๆ ไว้ในมุมสวน มันเริ่มย่อยหมดค่อยนำมาใช้ปลูกผัก
ใช้แค่มูลไส้เดือนก็เพียงพอแล้ว
“เคยลองมาทุกอย่างแล้ว อย่างใช้น้ำหมักต่างๆ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง แต่มันล้มเหลวสำหรับสวนเราค่ะ ตอนนี้เลยใช้แค่มูลไส้เดือนกับน้ำหมักมูลวัวเป็นหลัก อย่างอื่นไม่ใช้เลย มูลไส้เดือนก็เลี้ยงเองค่ะ เป็นไส้เดือนพันธุ์ AF แล้วก็เลี้ยงใส่กะละมัง ใช้ขี้วัวเป็นอาหารให้มันย่อย ไม่ใช้มูลวัวจากวัวนมในระบบอุสาหกรรม เพราะใช้กากน้ำตาลในการเลี้ยง เคยนำมาใช้แล้วเกิดโรคและแมลงมากค่ะ มูลวัว ใช้ทั้งเป็นอาหารของไส้เดือน และทำเป็นปุ๋ยหมักมูลวัว”
สูตรการใช้ปุ๋ยหมักในสวนไม่มีหลักตายตัว ไม่ว่าจะเป็นผักกินใบหรือผักกินผล ก็จะเลือกใช้สลับกันไปมาเท่านั้น และยังเรียนรู้อีกว่าการปล่อยให้พืชผักได้เติบโตตามความเหมาะสมคือสิ่งที่ดีที่สุดในสวนนี้
ที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะยึดแนวทางการปลูกตามทฤษฎีใดก็ตาม คำตอบของการดูแลสวนครัวของแต่ละคนจึงล้วนแต่ขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นๆ ขึ้นอยู่กับอุปนิสัย ไลฟ์สไตล์ของเจ้าของ และความใส่ใจก็ยังเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสวนผักอยู่เสมอ
อ่านเรื่องราวของคุณเป้ และวิธีทำสวนครัวของเธอเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Farm House สวนเกษตรในบ้าน
เรื่อง JOMM YB
ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม