เทคนิคการดูแลต้นไม้ กับผู้เชี่ยวชาญจากโซตัส

การทำเกษตร ไม่ว่าเราจะปลูกพืชชนิดไหนก็ตาม เทคนิค การดูแลต้นไม้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลผลิตของเราออกมามีคุณภาพ ซึ่งแต่ละช่วงอายุของพืชก็ต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน และหากมีโรคหรือแมลงเข้ามารบกวน ก็ต้องป้องกันอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย

กิจกรรมเสวนาย่อยเพื่อคนทำเกษตรจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญของ บริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทั้ง 3 กิจกรรมนี้ ได้แนะนำ เทคนิค การดูแลต้นไม้ เริ่มที่การเสวนาในเรื่องของ “การดูแลทุเรียนและไม้ผล” ที่พูดคุยเกี่ยวกับทุเรียนตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ต่อด้วยการเสวนาที่เอาใจคนรัก “ไม้ดอกไม้ประดับ” ปลูกไม้ดอกอย่างไรให้ออกดอกสวยอยู่เสมอ  หรือเทคนิคการดูแลให้ปุ๋ยไม้ใบ ไม้ประดับให้สวยอยู่ตลอดเวลา และหัวข้อสุดท้ายของการเสวนาคือเรื่อง  “ผักสวนครัว” วิธีการเพาะเมล็ดผัก การดูแลผักสวนครัวของเราให้ได้มีกินอยู่ตลอด

ซึ่งกิจกรรมเสวนาทั้ง 3 หัวข้อนี้ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำเกษตรกับบรรดากูรูจากโซตัส รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาและไขข้อข้องใจในการดูแลต้นไม้ไว้อย่างน่าสนใจ

การดูแลต้นไม้ ภายใต้หัวข้อเสวนา “การดูแลทุเรียนและไม้ผล”

คุณโจ้ – อนุสรณ์ ระเห็จหาญ กูรูท่านแรกจากวงเสวนาย่อยหัวข้อ “การดูแลทุเรียนและไม้ผล”

“การปลูกทุเรียน ต้องเริ่มจากมีพื้นที่กว้างพอสมควรเพราะทุเรียนจะใช้พื้นที่มากในการเจริญเติบโตอย่างน้อย 8×8 เมตร ดินเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปลูกทุเรียน ค่า pH ของดินและน้ำใต้ดินก็อีกเป็นปัจจัยที่สำคัญ ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกทุเรียนจะเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย หรือเป็นดินลูกรังก็ได้  ทุเรียนจะไม่ชอบดินเหนียว หากพื้นที่ไหนที่เป็นดินเหนียว ควรใช้ดินลูกรังถมให้สูงขึ้น เนื่องจากทุเรียนมีระบบรากลอยหากินบริเวณผิวดิน

ทุเรียนเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ไม่ชอบน้ำแฉะ การให้น้ำขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ต้องดูความชื้นสัมพัทธ์ควบคู่ไปด้วย หากทุเรียนขาดน้ำอาการจะแสดงออกที่ใบ ปลายใบจะเริ่มแห้ง ในช่วงฤดูร้อนจึงต้องให้น้ำเพิ่มขึ้น

การตัดแต่งกิ่งทุเรียนจะเริ่มตัดแต่งหลังจากปลูกประมาณ 1 ปี ต้องเลือกตัดแต่งกิ่งที่แห้ง กิ่งที่มีขนาดเล็กและกิ่งที่แทงยอดขึ้นด้านบนออก เพราะกิ่งที่แทงยอดจะไม่ออดดอก ถ้าทุเรียนมีกิ่งที่เยอะเกินไปจะทำให้ติดดอกติดผลได้น้อย

ส่วนโรคที่ควรระวังคือโรครากเน่าโคนเน่า จากเชื้อราไฟทอฟธอรา เป็นเชื้อราที่เข้าทำลายได้ทุกส่วนของทุเรียน ตั้งแต่ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล วิธีการป้องกันโรคชนิดนี้ต้องหมั่นดูแลรักษา ด้วยการพ่นยา ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มา เทอร์ราคลอร์ ซุปเปอร์-เอกซ์  โรคทางใบที่พบบ่อยก็จะมีโรคปลายใบแห้ง โรคใบจุดสาหร่าย”

การดูแลต้นไม้

คุณลอร์ด – กรรณิการ์ แก้วส่องแสง กูรูท่านที่สองจากวงเสวนาย่อยหัวข้อ “การดูแลทุเรียนและไม้ผล”

“การเลือกต้นพันธุ์ทุเรียนปัจจุบันจะมี 2 แบบ คือ มาจากต้นที่เสียบยอดจากกิ่งกระโดงและต้นที่เสียบยอดจากกิ่งข้าง ซึ่งทั้งสองแบบจะเจริญเติบโตแตกต่างกัน ต้นที่มาจากกิ่งกระโดงจะเจริญเติบโตพุ่งสูงขึ้นด้านบน และจะแตกกิ่งข้างรอบทิศทางเป็นทรงพุ่มแบบฉัตร หากเลือกต้นพันธ์ที่มาจากกิ่งกระโดงควรเลือกต้นพันธุ์ที่ต้นตอมีขนาดใหญ่ แข็งแรง

ส่วนต้นที่เสียบยอดจากกิ่งข้างไม่ควรเลือกต้นที่มีลักษณะเป็นง่ามหรือแตกยอด 2 ยอด เพราะเมื่อโตขึ้นกิ่งง่ามนั้นมีโอกาสฉีกขาดได้ง่าย แต่ถ้าหากซื้อมาแล้วก็ควรที่จะตัดกิ่งที่เป็นง่ามออกให้เหลือเพียงกิ่งหลักที่จะเจริญเติบโตขึ้นด้านบน

เทคนิคการเลือกต้นทุเรียนอีกอย่างหนึ่งคือต้องสอบถามกับทางร้านขายต้นพันธุ์ว่าต้นทุเรียนนี้อยู่ในถุงเพาะชำนานหรือยัง หากอยู่มานานแล้วจะทำให้รากของต้นทุเรียนมีลักษณะขดม้วน เมื่อซื้อไปแล้วควรตัดแต่งรากที่ขดออกก่อนเพื่อที่จะให้รากนั้นเจริญเติบโตขึ้นใหม่ ถ้าปลูกโดยไม่ตัดรากต้นทุเรียนจะโตช้า หาอาหารได้ไม่เก่ง

การปลูกทุเรียนจะต้องหันหน้าใบไปทางทิศตะวันออก ถ้าหันกลับด้านกันจะทำให้ต้นทุเรียนเกิดอาการใบไหม้ได้ ช่วงแรกของการปลูกจะไม่แนะนำให้ใส่ปุ๋ย ต้องรอให้ต้นทุเรียนปรับสภาพให้ได้ก่อน เมื่อต้นทุเรียนเริ่มแตกใบใหม่แสดงว่ารากมีการเจริญเติบโตจึงเริ่มใส่ปุ๋ยได้ ความถี่ในการให้ปุ๋ยให้สังเกตที่ใบ เมื่อมีใบชุดใหม่เกิดขึ้นก็ให้ปุ๋ยบำรุงได้ และแนะนำว่าไม่ควรใส่ปุ๋ยชิดบริเวณโคนต้น เพราะจะทำให้เกิดโรคได้ง่าย เนื่องจากปุ๋ยจะมีความเค็มอาจทำให้ใบไหม้ และต้นอ่อนแอลง

สูตรปุ๋ยที่แนะนำในระยะแรกจะเป็น 25-7-8 หรือปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 และอาจจะเสริมด้วยลีโอเทคเพื่อกระตุ้นการแตกรากและเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน

เมื่อก่อนทุเรียนจะใช้เวลา 5-6 ปี ในการเก็บผลผลิต แต่ในปัจจุบันการบำรุงด้วยปุ๋ยทางดิน ปุ๋ยทางใบช่วยให้ทุเรียนเก็บผลผลิตได้เร็วขึ้นเพียง 3-4 ปี ก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว

ในช่วงการกระตุ้นการแตกใบใหม่ ต้องการใบที่สมบูรณ์เราอาจจะเน้นปุ๋ยสูตรที่ตัวหน้าสูง คือไนโตรเจน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ทุเรียนเรามีดอก เริ่มมีการสะสมอาหารจะเน้นปุ๋ยที่ตัวท้ายสูง เพื่อให้มีอาหารสะสมที่บริเวณท้องกิ่ง เนื่องจากดอกทุเรียนจะออกบริเวรท้องกิ่ง และไม่ควรตัดแต่งกิ่งในช่วงนี้ เพราะจะทำให้ดอกร่วงได้”

การดูแลต้นไม้ ภายใต้หัวข้อเสวนา “การดูแลไม้ดอกไม้ประดับ”

การดูแลต้นไม้

คุณมดดำ – ธิดารัตน์ นุ่มปราณี กูรูท่านแรกจากวงเสวนาย่อยหัวข้อ “การดูแลไม้ดอกไม้ประดับ”

“การที่เราจะเลือกซื้อไม้ดอกหรือไม้ประดับ เราควรเลือกที่เป็นต้นพันธุ์ดี ไม่มีโรคและแมลงติดมาด้วย และเมื่อรากของต้นไม้เราโตเต็มกระถาง ก็ต้องทำการย้ายที่อยู่ใหม่ให้ใหญ่ขึ้น การย้ายกระถางจะต้องมีดินที่ดี ดินที่ดีก็คือดีที่ร่วนซุยเหมาะกับพืชชนิดนั้น รื้อดินเก่าที่ติดอยู่กับรากออกเล็กน้อย

ส่วนปุ๋ยที่จะใช้บำรุงต้นไม้ที่เราย้ายมา ควรจะเป็นปุ๋ยที่ละลายช้า อย่างออสโมโค้ด สูตร  13-13-13 ที่มีธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการ ระยะเวลาการปลดปล่อยธาตุอาหารนานถึง 3 เดือน แล้วเราค่อยใส่เพิ่มอีกครั้ง อีกปัจจัยที่สำคัญนั่นก็คือน้ำ น้ำต้องเพียงพอต่อความต้องการของต้นไม้

ปริมาณปุ๋ยที่เราใส่ควรใส่ให้พอเหมาะกับต้นไม้ อย่างเช่น ต้นไม้ในกระถาง 5 นิ้ว ปริมาณที่แนะนำจะอยู่ที่ 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชา สังเกตจากต้นไม้เราถ้าเริ่มมีอาการโทรมหรือไม่สวยเหมือนตอนที่ซื้อมาจากร้านให้เพิ่มปุ๋ยเพื่อบำรุงให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง”

สำหรับไม้ดอกปุ๋ยในกลุ่มละลายช้าที่จะช่วยบำรุงให้ดอกสวยงาม จะเป็นปุ๋ยออสโมโค้ดสูตร 12-25-6+1% แมกนีเซียม ที่มีระยะเวลาการปลดปล่อยนานถึง 5-6 เดือน

การดูแลต้นไม้

คุณปุ๋ย – ภรณ์ทิพย์ คำทำ กูรูท่านที่สองจากวงเสวนาย่อยหัวข้อ “การดูแลไม้ดอกไม้ประดับ”

“หลังจากที่เราเลี้ยงต้นไม้ของเรามาสักระยะก็จะพบปัญหาโรคและแมลงเข้ามาทำลาย โดยโรคที่เข้าทำลายจะแบ่งออกเป็นโรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ไส้เดือนฝอย และโรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต ก็มักจะเกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น อากาศหนาวจัด ร้อนจัด หรือขาดธาตุอาหารเป็นหลัก แต่ช่วงนี้โรคที่พบบ่อยเลยก็คือ โรคเน่า ที่เกิดจากเชื้อราในดิน โรคราสนิม  โรคราแป้งที่จะกำลังมาในช่วงหน้าหนาว ก่อนที่เราจะพบโรค เราต้องป้องกันก่อนโดยฉีดพ่นยาป้องกันเชื้อราหรือใช้ยาราดบริเวณโคนต้น

หลักการใช้ยาป้องกันโรคพืชหรือแมลง ควรจะใช้มากกว่า 2 ชนิดขึ้นไปสลับกัน เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อโรคและแมลง หากพบแมลงเข้าทำลายแนะนำให้ใช้สตาร์เกิล จี ในการป้องกันกำจัด ซึ่งตัวสตาร์เกิล จี นี้ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงด้วย”

การดูแลต้นไม้ภายใต้หัวข้อเสวนา “การดูแลพืชผักสวนครัว”

การดูแลต้นไม้

คุณแจน – ธัญสินี สมงามทรัพย์ กูรูท่านแรกจากวงเสวนาย่อยหัวข้อ “การดูแลพืชผักสวนครัว”

“การปลูกพืชผักสวนครัวจะต้องเริ่มจากการเพาะเมล็ด สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอย่างแรกเลยคือ การงอกของเมล็ด เวลาที่เราจะเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์จะต้องรู้อัตราการงอกหรือเปอร์เซ็นการงอกของเมล็ดและวันหมดอายุ

หลังจากนั้นต้องดูในเรื่องของวัสดุปลูก แหล่งที่มา วัสดุปลูกบางชนิดอาจไม่เหมาะสมที่จะนำมาเพาะเมล็ด เช่น ขุยมะพร้าว เพราะจะมีสารแทนนินที่มีความเค็มอาจทำให้เมล็ดพืชไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ หากจะใช้ขุยมะพร้าวเป็นวัสดุปลูกจะต้องนำไปแช่น้ำเพื่อล้างสารแทนนินออกก่อน วัสดุที่เหมาะสมต่อการเพาะเมล็ดมากที่สุดและส่วนใหญ่นิยมใช้กันนั่นก็คือ พีทมอส

และสิ่งที่ต้องระวังในการเพาะเมล็ดอีกเรื่องหนึ่ง คือ ความลึกของหลุมที่ใช้หยอดเมล็ดจะขึ้นอยู่กับขนาดของเมล็ด หากหลุมมีความลึกมากเกินไป เมล็ดที่จะเพาะปลูกมีขนาดเล็กก็ไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ ส่วนวิธีการรดน้ำต้องรดให้น้ำไหลออกจากรูของถาดเพาะเมล็ด เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำที่เรารดไปนั้นเปียกวัสดุปลูกอย่างทั่วถึง

ต้นกล้าผักแต่ละชนิดจะมีวันที่เหมาะสมในการย้ายปลูกแตกต่างกันออกไป อย่างเช่น ต้นกล้าพริกหรือกลุ่มของมะเขือจะอยู่ที่ 28-30 วัน ผักสลัดอยู่ที่ 20 วัน หากเราไม่รู้ว่าต้นกล้าที่เราเพาะสามารถย้ายลูกได้หรือยังให้ลองดึงต้นกล้าออกมาจากถาดเพาะ ถ้าเกิดว่าดึงต้นกล้าแล้ววัสดุปลูกติดออกมาด้วย แสดงว่าต้นกล้านั้นสามารถที่จะย้ายปลูกได้แล้ว

ถ้าเราเผลอปล่อยให้ต้นกล้าอยู่ในถาดเพาะนานเกินไป ต้นกล้าของผักบางชนิดอาจจะไม่มีผลอะไร แต่ในผักสลัด คะน้า หรือผักทานใบทั่วไป ถ้าหากเราปล่อยให้อยู่ในถาดหลุมนานๆ ต้นกล้าจะแก่ เมื่อย้ายปลูกต้นกล้าก็จะไม่โตและแคระแกร็น”

คุณผึ้ง – พรนภา คำกองแก้ว กูรูท่านที่สองจากวงเสวนาย่อยหัวข้อ “การดูแลพืชผักสวนครัว”

“โรคที่พบบ่อยในผักทานในระยะกล้ามักจะเป็นโรคเน่าคอดิน เกิดบริเวณโคนต้น มีอาการช้ำ สาเหตุมาจากบริมาณน้ำที่มากเกินไปและการเข้าทำลายของเชื้อรา โดยปกติก็จะใช้สารเคมีหรือไตรโคเดอร์มาในการฉีดพ่น

เมื่อผักสลัดหรือผักทานใบของเราโตขึ้นมาสักระยะ โรคที่พบได้บ่อยก็จะเป็นโรคใบจุด ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ก็คือ ปริมาณน้ำที่มากเกินอีกเช่นกัน จนทำให้เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย สามารถป้องกันได้ด้วยสารเคมีที่มีชื่อทางการค้าว่า จอยท์ จะช่วยลดการเข้าทำลายของเชื้อลงได้

ส่วนในพืชอื่นๆ อย่างเช่น พริก ที่ส่วนใหญ่จะพบการเข้าทำลายของไวรัส ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสารเคมี หรือยาตัวไหนกำจัดได้ แต่สาเหตุของการเข้าทำลายจากไวรัสมาจากแมลง พวกเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว ซึ่งสามารถป้องกันแมลงเหล่านี้ได้ด้วยสตาร์เกิลจี โดยสามารถโรยรองก้นหลุมก่อนปลูกได้เลย สารตัวนี้จะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นแนะนำให้ใช้สตาร์เกิลจีชนิดน้ำฉีดพ่น

สำหรับใครที่กังวลว่าสารเคมีที่เราใช้ป้องกันโรคและแมลงจะตกค้างในผักไหม สามารถดูได้จากฉลากข้างกล่องหรือขวดบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะระบุไว้อยู่แล้วว่าหลังจากฉีดพ่นกี่วันถึงจะเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3-7 วัน แล้วแต่ประเภท”

ปุ๋ยฟูจิเทค เป็นปุ๋ยซัลเฟตที่มีกำมะถันผสมอยู่ พืชที่มีรสชาติ กลิ่น และสีที่ดี แนะนำใช้ปุ๋ยที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ปุ๋ยชนิดนี้จึงเหมาะสมที่จะใส่บำรุงทุเรียนรวมไปถึงผลไม้ชนิดอื่นๆ ความถี่ในการใส่ปุ๋ยจะอยู่ที่ 25-30 วันหรือ 1 เดือน แต่ถ้านับตามรอบการแตกใบใหม่ของทุเรียนจะใส่ทุกๆ 45 วัน

ภาพบรรยายกิจกรรมการเสวนา Farm Guru Mini Talk by โซตัส ผู้ฟังตั้งใจเก็บเกี่ยวข้อมูลจากเหล่ากูรูที่มาให้ความรู้
บรรยายกาศการถามตอบกับผู้เชี่ยวชาญจากทางโซตัสเป็นไปอย่างสนุกสนานและครึกครื้นสุดๆ

เพื่อให้การทำเกษตรเป็นเรื่องง่ายและสนุก ด้วยตัวช่วยในการดูแลพืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ รวมถึงไม้ผล กับผลิตภัณฑ์คุณภาพจากทางโซตัส ที่ครอบคลุมทุกการดูแลทั้งการบำรุงเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับพืช และป้องกันกำจัดโรคพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากจะได้ความรู้และเทคนิคในการปลูกแล้ว ยังได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพจากทางโซตัสกลับบ้านไปดูแลต้นไม้ที่บ้านต่อด้วย

จบลงแล้วกับกิจกรรมเสวนาย่อยเพื่อคนทำเกษตรแบบเป็นกันเอง Farm Guru Mini Talk by โซตัส งานครั้งหน้าจะมีกิจกรรมอะไรให้ได้ร่วมสนุก รอติดตามกันนะ

สูตรลับการปลูกผักสลัดออร์แกนิกให้อร่อยและปลอดภัย สไตล์โอ้กะจู๋

หลักการออกแบบ โคก หนอง นา ใจความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม