ปลูกพืชแบบพึ่งพา ปลูกป่า 5 ระดับ คุ้มค่าทุกตารางเมตร

ปลูกป่า5ระดับ “ ปลูกพืชแบบพึ่งพา ” คือการปลูกพืชเป็นลำดับชั้นในพื้นที่เดียวกัน โดยนำหลักความรู้จากภูมิปัญญาการทำเกษตรของคนสมัยก่อนมาปรับใช้ให้เหมาะกับพื้นที่นั้น อาศัยการสังเกตเรียนรู้จากชั้นเรือนยอด

การ ปลูกป่า5ระดับ ซึ่งเป็นลักษณะและธรรมชาติของต้นไม้ เช่น ระบบการหยั่งรากของพืชที่แตกต่างกันทำให้ไม่แย่งอาหารกัน ความต้องการแสงที่ไม่เหมือนกันทำให้สามารถปลูกพืชอื่นๆบริเวณใกล้เคียงได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นเล็กหรือใหญ่จะมีการอาศัยเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการจัดสวนแบบจำลองสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับระบบนิเวศของป่านั่นเอง ครั้งนี้เรามีไอเดียการจัดและแนะนำพรรณไม้น่าปลูกให้ลองนำไปประยุกต์ใช้กับสวนของคุณดูครับ

ปลูกป่า5ระดับ

ปลูกป่า 5 ระดับ คืออะไร

เป็นการปลูกพืชหลากหลายชนิดให้อยู่ในแปลงเดียวแต่มีความสูงต่างระดับกัน โดยอาศัยลักษณะความแตกต่างของพืชที่มีความสูงต่ำมาอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดการเกื้อกูลกันเหมือนป่าธรรมชาติ สร้างประโยชน์มากมายหลายอย่างและสามารถใช้พื้นที่ทุกตารางเมตรได้อย่างคุ้มค่า เรียกว่า “เบญจเกษตรมาจากคำว่า เบญจะ ในภาษาบาลี หมายถึง ห้า หรือลําดับที่ 5 ส่วนคำว่า เกษตร ย่อมาจากเกษตรกร คือ เกษตร แปลว่า ที่ดิน ที่นา กับ กร แปลว่า ผู้กระทำ ผู้สร้าง เกษตรกร จึงมีความหมายว่า ผู้ทำงานหรืออาศัยที่ดินที่นาเพื่อเพาะปลูกพืชผล เลี้ยงสัตว์ และยังเป็นคำที่ใช้เรียก ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ชาวประมง และผู้เลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าอีกด้วย ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ ดังนี้

ปลูกป่า5ระดับ

ระดับที่ 1 ปลูกพืชประเภทไม้หัวเพื่อเป็นอาหาร เช่น ขิง ข่า หัวหอมใหญ่ หอมแดง กระเทียม เผือก กระชาย มันสำประหลัง มันเทศ

ระดับที่ 2 ปลูกไม้เลื้อย เช่น บวบ น้ำเต้า ถั่วฝักยาว แตงกวา มะระขี้นก ถั่วพู ตำลึง

ระดับที่ 3 ปลูกไม้พุ่มเตี้ยเพื่อใช้ประโยชน์เป็นอาหารและยารักษาโรค เช่น พริก กะเพรา มะเขือ ตะไคร้ ข้าว พืชสมุนไพรต่างๆ เช่น ฟ้าทะลายโจร ว่านหางจระเข้ ช้าพลู กระเจี๊ยบ ดีปลี

ระดับที่ 4 ปลูกไม้ระดับกลาง ซึ่งเป็นชั้นที่มีความสูงเป็นรองกลุ่มไม้ยืนต้น เช่น มะกรูด มะนาว ขี้เหล็ก         ส้มโอ ขนุน ทุเรียน มะม่วง ดอกแค กล้วย ชะอม

ระดับที่ 5 ประเภทต้นไม้ใหญ่ทรงสูงให้ร่มเงา และช่วยรักษาระบบนิเวศ เช่น ตะเคียน ยางนา มะค่า ประดู่ สัก พะยูง มะฮอกกานี จำปาทอง

ปลูกป่า5ระดับ

การจัดกลุ่มพืชในลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดระบบนิเวศซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับป่าในธรรมชาติที่พืชสามารถพึ่งพาอาศัยกันเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ และยังเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า แม้ในพื้นที่จำกัดก็สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด ส่วนผลผลิตที่เหลือจากการใช้หรือบริโภคภายในบ้านยังนำไปแปรรูปจำหน่ายช่วยสร้างรายเพิ่มอีกทาง โดยทั้งหมดนี้ควรยึดหลักการใช้ประโยชน์และความต้องการของตนเองและสมาชิกในบ้านเป็นสำคัญ

การจัดสวนอาจไม่ได้คำนึงถึงการเลือกพรรณไม้เพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงด้านประโยชน์ใช้สอย การรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในธรรมชาติอย่างชาญฉลาด สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ตามแนวทาง “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ซึ่งเป็นการปลูกป่าแบบผสมผสาน ทั้งด้านเกษตร วนเกษตร (ปลูกพืชเกษตรแซมอยู่ในป่าธรรมชาติ) และเศรษฐกิจสังคม มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการของวิถีคนเมืองเพื่อความสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริ

ไม้ใช้สอย ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้สร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำเล้าหรือคอกเลี้ยงสัตว์ ด้ามจอบ ด้านหัตกรรมเครื่องจักรสาน หรือทำฟืนเป็นเชื้อเพลิง เช่น ยางนา สะเดา จำปาทอง มะฮอกกานี พะยูง พะยอม ไผ่

ไม้กินได้ ปลูกตามความต้องการสำหรับบริโภคภายในสมาชิกครอบครัวอย่างเพียงพอ เป็นทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และยารักษาโรค เช่น ประเภทไม้ผล มะปราง ขนุน ชมพู่ มังคุด เงาะ ม่วง กล้วย พืชผักสวนครัว กะเพรา โหระพา แมงลัก พริก มะเขือ ถั่วพู ตะไคร้ พืชสมุนไพร ฟ้าทลายโจร กานพลู ย่านาง พริกไทย กระเจี๊ยบแดง ใบบัวบก ขิง ข่า ขี้เหล็ก เป็นต้น

ไม้เศรษฐกิจ ไม้ยืนต้นที่มีการปลูกเพื่อนำเนื้อไม้มาใช้ประโยชน์โดยตรงหรือเพื่อการค้า สร้างรายได้ในครัวเรือน เช่น ตะเคียนทอง สัก ยางนา มะค่า พะยูง ประดู่ เต็ง จามจุรี ยางพารา ยูคาลิปตัส

เรื่อง : “อิสรา”
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน และนิตยสาร my home
ภาพประกอบ : ปัถยา วาสนสิริ


พืชระยะสั้น ปลูกง่ายขายได้เร็ว

เทคนิคการทำสวนเกษตรพอเพียง

อัปเดทข่าวสารได้ที่บ้านและสวนGarden&Farm