อากาศร้อน ๆ แค่ได้ดื่มน้ำเย็นสักแก้วก็ชื่นใจอย่าบอกใคร และจะยิ่งดีไปใหญ่เมื่อน้ำเย็นแก้วนั้นมีกลิ่นหอมของดอกมะลิหรือน้ำยาอุทัยที่คุ้นเคยกัน เครื่องดื่มสมุนไพร
บางคนอาจนำผักและผลไม้สดมาคั้นหรือปั่นเป็นเมนูเพื่อสุขภาพ ทั้งช่วยดับกระหายคลายร้อน รสชาติอร่อยถูกปาก อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร และยังมีสรรพคุณทางยาช่วยบรรเทาอาการป่วยเป็นผลพลอยได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม พืชหลายชนิดมีทั้งประโยชน์และโทษหากใช้ไม่ถูกส่วน ถูกปริมาณ หรือถูกวิธี ก่อนนำมาบริโภคจึงต้องศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน เครื่องดื่มสมุนไพร
หนังสือ Garden & Farm Vol.14 ปลูกและแปรรูปพืชเครื่องดื่ม ได้รวบรวมเรื่องราวของพืชเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ไว้ให้ผู้อ่านตระหนักถึง “ข้อควรระวัง” ในการนำพืชมาใช้เป็นเครื่องดื่มเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการบริโภค เครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพอย่างมากในปัจจุบัน วันนี้มีเครื่องดื่มสมุนไพรจากอภัยภูเบศร สปา คิวซีน หลายเมนูมาแนะนำ ซึ่งคุณพิม – ฐานิตา บุญเชิด แพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ดูแลอภัยภูเบศร เดย์ สปา ให้ข้อมูลว่า
“สมุนไพรบางชนิดหลายคนอาจหลงลืมไปแล้ว เช่น ใบหูเสือ ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางยา มีน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นคล้ายออริกาโน สมัยก่อนเป็นสมุนไพรที่หมอโบราณปลูกกันทุกบ้านเพื่อกันคุณไสย และนิยมกินเป็นผักสดแกล้มลาบหรือกินกับน้ำพริก ที่นี่มีเมนูแนะนำอย่างผัดใบหูเสือ ต้มจืดบะช่อหูเสือ รวมถึงเครื่องดื่มหูเสือปั่น”
“สมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณไม่เหมือนกัน มีข้อควรระวังที่ต่างกัน จำเป็นต้องศึกษาและรู้จักสมุนไพรชนิดนั้น ๆ ให้ดีก่อนนำมาใช้”
เมนูเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพมีให้ชิมหลายเมนู ทั้งเครื่องดื่มร้อน ได้แก่ กาแฟผสมเกล็ดน้ำตาลสมุนไพรจากเมล็ดหมามุ่ยอินเดีย รากสามสิบ และบัวบก ชาสมุนไพร เช่น ชาดอกไม้ ชาเบญจเกสร ชาว่านสาวหลง ชาดาวเรืองอัญชันใบเตย ชาโม่ยตั๋น (พญา 32 เมีย) ชารางจืดผสมใบเตย ชาชะพลู ชาหญ้าฮี๋ยุ่ม และชาตัวหอมซึ่งมีส่วนผสมจากลีลาวดี จำปี กระดังงา ขลู่ และบัวบก เป็นต้น
สำหรับเครื่องดื่มเย็นก็น่าลิ้มลองไม่แพ้กัน ทั้งน้ำตรีผลาที่ทำจากผลสมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม ช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ น้ำตะไคร้ น้ำผึ้งมะนาว สมู้ตทีขิงแมงลัก สมู้ตทีดับกระหายคลายร้อน หรือการนำน้ำต้มสมุนไพรมาผสมกับนมสด ปรุงรสด้วยไซรัป ได้เป็นนมอัญชัน นมกระเจี๊ยบ และนมขมิ้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่แนะนำในวันนี้ ได้แก่ สามสหายทลายพุง และสมู้ตทีลดความดัน
สามสหายทลายพุง
เมนูนี้มีรสเปรี้ยวจากกระเจี๊ยบและรสหวานจากน้ำเชื่อมพอชื่นใจ จุดเด่นอยู่ที่สรรพคุณของส่วนผสมหลัก 3 ชนิด ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง ผลสำรอง และเมล็ดแมงลัก ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน ชำระล้างลำไส้ ช่วยขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต เป็นยาระบายอ่อน ๆ และแก้กระหายน้ำ
ส่วนผสมสำหรับ 1 แก้ว
- น้ำกระเจี๊ยบพุทราจีน 150 มิลลิลิตร
- เนื้อผลสำรอง 100 มิลลิลิตร
- เมล็ดแมงลักที่แช่น้ำจนอิ่มตัว 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำเชื่อม 20 มิลลิลิตร
- น้ำแข็งหลอดเล็ก 1 แก้ว
วิธีทำ
- ผสมเนื้อผลสำรองกับน้ำกระเจี๊ยบพุทราจีน ปรุงรสด้วยน้ำเชื่อม
- ใส่เมล็ดแมงลัก คนส่วนผสมให้เข้ากัน เติมน้ำแข็ง ตกแต่งด้วยผลพุทราจีนพร้อมเสริ์ฟ
Tips
– วัตถุดิบทุกอย่างต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาต้ม สำหรับกระเจี๊ยบแดงควรต้มน้ำจนเดือดจะได้รสเปรี้ยว ถ้าน้ำไม่เดือดจะได้แค่สี แต่ไม่เปรี้ยวเท่าที่ควร
– การใส่พุทราจีนจะช่วยลดผลข้างเคียงจากกรดซิตริกของกระเจี๊ยบแดง และช่วยเสริมฤทธิ์ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ
– ควรแช่เมล็ดแมงลักในน้ำให้อิ่มตัวก่อนนำมารับประทาน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ท้องอืดหรือท้องผูกได้
สมู้ตทีลดความดัน
มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ช่วยขับลม และลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง
ส่วนผสมสำหรับ 1 แก้ว
- น้ำตะไคร้ 50 มิลลิลิตร
- น้ำกระเจี๊ยบ 50 มิลลิลิตร
- ขิงสดหั่นแว่น 3-4 ชิ้น
- น้ำเชื่อม 20 มิลลิลิตร
- น้ำผึ้ง 15 มิลลิลิตร
- นำมะนาว 10 มิลลิลิตร
- เกลือป่น ¼ ช้อนชา
- น้ำแข็งหลอดเล็ก 1 แก้ว
วิธีทำ
- ผสมน้ำตะไคร้กับน้ำกระเจี๊ยบ ปรุงรสด้วยน้ำเชื่อม น้ำผึ้ง น้ำมะนาว และเกลือป่น คนให้เข้ากัน
- เทน้ำสมุนไพรที่ปรุงรสแล้วลงในเครื่องปั่น ใส่ขิงสดหั่นแว่นและน้ำแข็ง
- ปั่นจนส่วนผสมทุกอย่างเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน จะได้สมู้ตทีสีแดงเรื่อน่ารับประทาน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของขิงสดชวนสดชื่น
คุณพิมให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “เราพยายามเลือกใช้วัตถุดิบจากผู้ปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี เป็นผลผลิตตามฤดูกาลที่มีอยู่ในท้องถิ่น สมุนไพรหลายชนิดสามารถปลูกเองได้ ไม่ว่าจะเป็นตะไคร้ กระเจี๊ยบแดง ขิง นำมาทำเครื่องดื่มได้หลากหลาย ในรูปแบบที่ดื่มได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องระวังเมื่อนำมาใช้ เช่น ผู้ที่กินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ไม่ควรดื่มน้ำขิงเพราะขิงช่วยเสริมฤทธิ์ของยา อาจทำให้เลือดออกได้ง่าย ฉะนั้นไม่ว่าจะนำพืชชนิดใดมารับประทาน เราต้องศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับพืชนั้น ๆ ให้ดีก่อน ต้องใช้ให้ถูกส่วน ถูกวิธี รวมถึงรู้ขนาดและปริมาณที่ควรกิน ไม่กินมากเกินไปจนเป็นภัยมากกว่าผลดี”
ติดตามเรื่องน่ารู้และสูตรเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพิ่มเติมได้ในหนังสือ Garden & Farm Vol.14 ปลูกและแปรรูปพืชเครื่องดื่ม
ขอขอบคุณ : ร้านอาหารอภัยภูเบศร สปา คิวซีน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตำบลท่างาม อำเภอเมืองฯ จังหวัดปราจีนบุรี เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 9.00-16.30 น. โทรศัพท์ 0-3721-7127
เรื่อง : อังกาบดอย / ภาพ : ธนกิตต์ คำอ่อน
เรื่องที่น่าสนใจ
- เข้าสวนเก็บดอกไม้มาตกแต่งเครื่องดื่ม กับคุณศิริวิทย์ ริ้วบำรุง แห่ง Little Tree
- มาดับร้อนกันด้วยผลไม้ประจำฤดูร้อนอย่าง มะม่วง กันเถอะ!