จากวิกฤติที่เราเผชิญกันอยู่ในเวลานี้ ทำให้การปลูกผักสวนครัวในบ้านกลายเป็นกิจกรรมที่หลายคนได้ลงมือทำกันอย่างจริงจัง นอกจากช่วยผ่อนคลายความเครียดแล้ว ยังทำให้ได้ออกมายืดเส้นยืดสาย พักสายตาจากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ แถมยังมีผักสดให้ได้ทยอยเก็บมาปรุงอาหาร แม้เพียงเล็กน้อยก็ชื่นใจ ฟาร์มเกษตร
ข้อดีของการปลูกผักไม่ได้มีเพียงเท่านี้ โดยเฉพาะในช่วงที่หลายคนจำเป็นต้องทำงานที่บ้าน และมีลูกหลานอยู่บ้านรอวันเปิดเทอม ลองมาทำสวนผักของคุณให้กลายเป็นสวนสนุกที่เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาว่างนี้ในการเรียนรู้ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้วางมือและละสายตาจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ดังตัวอย่างกาฟีฟาร์มซึ่งฝากเรื่องราวไว้ในหนังสือ Garden & Farm Vol.15 เกษตรในเมือง Urban Farming ฟาร์มเกษตร
ครูบุชรอ สมันเลาะ ผู้ก่อตั้งกาฟีฟาร์ม ฟาร์มเกษตร สำหรับการเรียนรู้แบบอยู่บ้านหรือโฮมสกูล (Homeschooling) ซึ่งตั้งอยู่ย่านคู้ฝั่งเหนือ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ เล่าว่า
“เรามีพื้นที่ของตัวเอง ทั้งคุณตาและคุณพ่อเป็นชาวนา ตั้งใจไว้ตั้งแต่เรียนต่อมหาวิทยาลัยแล้วว่าถ้าเรียนจบก็อยากกลับมาทำอาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนตัวเป็นคนชอบวิชาชีววิทยา จึงเลือกเรียนเอกส่งเสริมการเกษตร สาขาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดระยะเวลาที่เรียนได้ฝึกงาน ลงพื้นที่กับปราชญ์ชาวบ้าน ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและสิ่งที่ตั้งใจทำ
“หลังจากเรียนจบได้ทำงานเป็นครูพิเศษสอนวิชาวิทยาศาสตร์และเกษตรให้กับนักเรียนของกลุ่มบ้านเรียน ศูนย์การเรียนพัฒนปัญญา รวมถึงโรงเรียนเอกชนต่าง ๆ ตอนนั้นทำแปลงผักเพื่อสอน โดยผู้ปกครองเด็ก ๆ โฮมสกูลรวมตัวกันให้ช่วยสอนและทำกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องเกษตรผ่านการลงมือทำจริง ควบคู่ไปกับการบูรณาการการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และกลุ่มสาระวิชาอื่น ๆ มากกว่าเปิดสอนจากในตำรา
“เมื่อมีลูกก็อยากสอนลูกเองจึงสอนโฮมสกูล ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เนื่องจากเรามีความพร้อม มีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ด้านงานสอน เมื่อคุณพ่อแบ่งที่ดินให้เป็นสัดส่วนจึงปลูกบ้านและทำแปลงผัก”
ภายในกาฟีฟาร์มนอกจากมีบ้านพักชั้นเดียว ลานกิจกรรม แปลงผัก โรงเรือนเพาะเห็ดและเลี้ยงไส้เดือนแล้ว ยังมีพื้นที่รกร้างบางส่วนที่กำลังปรับปรุง ขยับขยายสำหรับใช้เป็นฐานเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ ที่เข้ามาทำกิจกรรมได้ใช้ประโยชน์มากที่สุด
“จากพื้นที่รกร้างก็รื้อออกแล้วทำโรงเห็ดและแปลงผัก แน่นอนว่าการทำเกษตรนั้นทั้งเหนื่อยและร้อน แต่ก็แก้ไขได้ง่ายแค่เพียงปรับเวลา ทำไปเรื่อย ๆ เหมือนเป็นงานอดิเรกตามกำลังของตัวเองและครอบครัว ไม่เครียดกับตัวเอง ทำเกษตรให้มีความสุข
“ครูอยากให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว น่าสนใจ น่าทดลองสำหรับเด็ก จึงออกแบบการสอนโฮมสกูลให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับกิจกรรมในสวน ให้ลูกหลานและเด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากการเก็บพืชผักมาศึกษา เปิดตำรา ทดลองคิดค้น รวมทั้งประยุกต์ใช้
“กิจกรรมทุกอย่างบูรณาการความรู้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ การเกษตร ศิลปะ ฯลฯ อย่างเรื่องการเกษตรเด็กหลายคนอาจเรียนรู้บางเรื่องมาจากที่อื่นแล้ว เราก็พยายามหากิจกรรมหรือเกมที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อให้เขาได้ความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม”
ก่อนแสงแดดแรงกล้าก็พากันเริ่มกิจกรรมแรกด้วยการทำเกษตร ให้เด็ก ๆ เล่นซ่อนหา สัมผัสกับพืชผักที่ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี สอดแทรกให้เห็นความสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งมีผลโดยตรงต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม แล้วลงมือเพาะเมล็ดผักที่เล่นซ่อนหากัน
“กิจกรรมนี้นอกจากเด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีเพาะเมล็ดแล้ว ยังได้ฝึกสมาธิ ความอดทน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ถ้ารดน้ำใกล้กระบะเพาะหรือน้ำแรงเกินไปอาจทำให้ดินและเมล็ดกระเด็นได้ เมื่อได้เห็น ได้ทำทุกกระบวนการด้วยตัวเอง ก็เกิดการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาว่าต้องทำอย่างไรจึงได้ผลดี
“ต่อด้วยการเรียนวิทยาศาสตร์ นำขวดที่ใช้เล่นซ่อนหามาใส่พืชผักไว้ทำยาหม่องน้ำแบบง่าย ๆ กิจกรรมนี้ช่วยฝึกทักษะการสัมผัส ตั้งแต่ลักษณะ รูปทรง รส และกลิ่น เพื่อให้รู้ว่าพืชผักแต่ละชนิดมีกลิ่นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ บางคนไม่ดมอย่างเดียว แต่ยังทดลองชิม ก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับรสด้วย
“สำหรับการเรียนภาษาอังกฤษ มีบัตรคำให้จับคู่กับพืชผักในสวน เด็ก ๆ ได้ฝึกพูด ฟัง และเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ เช่น Hot Basil แม้ไม่รู้ว่าคือต้นอะไร แต่สามารถเดาจากคำศัพท์ง่าย ๆ นั่คือคำว่า Hot หมายถึง ร้อน เด็ก ๆ จะไปหาใบหรือผลมาชิมดูเพื่อช่วยตอบคำถาม ส่วนพืชบางชนิดอย่างมะนาว (Lime) กับเลมอน (Lemon) อาจยังแยกไม่ออกเพราะเป็นเด็กเล็ก แต่เขาก็ได้เห็นและรู้จักพืชมากขึ้น
“บางครั้งให้ออกกำลังด้วยการวิ่งตามทางวิ่งพร้อมบอกประโยชน์ของพืชผักที่เรียนมา ก่อนหลบแดดพักเหนื่อยด้วยการเรียนศิลปะ นอกจากวาดรูปลงสีตามจินตนาการแล้ว ยังทำศิลปะจากธรรมชาติ โดยนำพืชผักที่เก็บได้มาแปะลงบนกระดาษ นำกิ่งไม้มาทอหรือสานกันเป็นรูปร่าง ทำรูปปั้น เอาก้อนหินมาระบายสี กิจกรรมนี้เด็ก ๆ ได้ผ่อนคลาย ขณะที่เราได้เห็นความคิดที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละคน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับช่วงอายุและประสบการณ์ของเด็กด้วย
“เมื่อเสร็จกิจกรรมก็มาเติมพลังด้วยการทำอาหารกินกันแบบง่าย ๆ โดยมุ่งหวังให้เด็ก ๆ รักการกินผัก ที่ผ่านมาพบว่าเด็กทั่วไปมักเขี่ยผักออกจากจานอาหาร ไม่ชอบกินผักเพราะติดว่าขม แต่เมื่อได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ปลูก ก็เหมือนเปลี่ยนทัศนคติของเขา โดยเฉพาะผักที่ปลูกเองแบบไม่ใช้สารเคมีส่วนใหญ่จะไม่ขม จากเด็กที่ไม่กินผักเลยก้หันมากินผักอย่างเอร็ดอร่อย ที่สำคัญคือ เมื่อกินผักเป็นประจำเขาจะไม่ค่อยเจ็บป่วย
“ผักที่ปลูกในสวนหมุนเวียนไปตามฤดูกาล เช่น ช่วงหน้าหนาวปลูกผักกาดขาวเยอะก็เอามากินเป็นผักสด ไม่ก็ทำแซนด์วิช แล้วแต่ว่าเด็ก ๆ อยากกินอะไร และปลูกผักพื้นบ้านที่เก็บกินได้เรื่อย ๆ ไม่ต้องล้มต้น อย่างชะอม ผักหวานบ้าน มะกรูด ฯลฯ ซึ่งเก็บมาทำอาหารได้ตลอดเวลา”
กว่า 5 ปีกับการทำกิจกรรมในสวนของกาฟีฟาร์มที่อยากให้ลูก ๆ เติบโตไปพร้อมกับธรรมชาติรอบตัว แม้สังคมเมืองจะค่อย ๆ รุกคืบเข้ามา แต่การที่เด็ก ๆ ได้ชวนกันเล่น ชวนกันทำ ชวนกันเรียนรู้ ยิ่งช่วยให้เห็นพัฒนาการที่ไม่ใช่แค่ความร่าเริงแจ่มใส แต่ยังมีสุขภาพดีจากการได้ออกกำลังกายและกินอาหารที่ดีด้วย
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการทำเกษตรเรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ในหนังสือ Garden & Farm Vol.15 เกษตรในเมือง Urban Farming
ขอขอบคุณ : ครูบุชรอ สมันเลาะ แขวงคู้ฝั่งเหนือ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
อัปเดตข่าวสารงานเกษตรได้ที่ บ้านและสวน Garden & Farm
เรื่อง : วิรัชญา จารุจารีต
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย