มันหวานญี่ปุ่น หรือมันเทศญี่ปุ่น (Sweet Potato) ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า อิโมะ หากพูดถึงมันหวานญี่ปุ่นแล้วหลายคนอาจจะนึกถึงช่วงอากาศหนาว ๆ พร้อมรับประทานมันอุ่น ๆ ข้างกองไฟอย่างมีความสุข เดิมทีมันชนิดนี้มีการนำเข้ามาจำหน่ายจากต่างประเทศ แต่หลายปีมานี้เริ่มมีการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น
ผลผลิตของ มันหวานญี่ปุ่น ที่ปลูกในไทยมีคุณภาพดีไม่แพ้ที่ญี่ปุ่นเลยทีเดียว เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณปุ๊ก-วรางคณา และ คุณบอย-ชนะศักดิ์ จันทร์เกิด แห่งสวนต้นปัญญา เจ้าของเพจจำหน่ายมันหวานญี่ปุ่นในชื่อว่า หลากหลายฟาร์มอร่อย “โดยสวนต้นปัญญา”
สวนแห่งนี้อยู่ใน อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าของสวนทั้งสองท่านนับเป็นเกษตรกรสายวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ด้านเกษตรโดยเฉพาะ และมีประสบการณ์ทำสวนทั้งไม้ผลและไม้ประดับมาไม่น้อยกว่า 20 ปีเลยทีเดียว คุณบอยเล่าว่าที่สวนต้นปัญญาทำสวนทุกเรียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ส่วนคุณปุ๊กเข้ามาทำสวนหน้าวัวตัดดอกในปีพ.ศ. 2547 แต่เมื่อเกิดโควิด 19 เมื่อปี 2563 ทำให้การส่งออกดอกหน้าวัวหยุดชะงัก ทั้งสองท่านจึงตั้งใจมองหาพืชตัวใหม่ ๆ มาปลูก ประกอบกับแปลงยางพาราเดิมมีการตัดต้นยางไปแล้ว กำลังวางระบบน้ำใหม่ทั้งหมดเพื่อปลูกทุเรียนและมะละกอ ระหว่างที่รอพืชทั้งสองชนิดเจริญเติบโตให้ผลผลิต จึงมองหาพืชระยะสั้นมาปลูกแซมในแปลงจนกระทั่งมาพบกับมันหวานญี่ปุ่นจึงเกิดความสนใจ
การปลูกพืชจึงแยกออกเป็นสองแปลงคือ ปลูกทุเรียนคู่กับมันเทศญี่ปุ่น อีกแปลงปลูกทุเรียนคู่กับมะละกอบนพื้นที่ทั้งหมด 4 ไร่ สำหรับการปลูกมันหวานญี่ปุ่นในระยะแรกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายมีการลองผิดลองลองถูกมาจนประสบความสำเร็จและมีการขายผลผลิตทางออนไลน์เป็นหลัก รวมทั้งกำลังวางแผนวางจำหน่ายในซุเปอร์มาเก็ตชั้นนำเร็ว ๆ นี้
สายพันธุ์ มันหวานญี่ปุ่น
มันหวานญี่ปุ่นมีประโยชน์หลายอย่างทั้งคุณค่าทางอาหารและมีไฟเบอร์สูง มีหลากหลายสายพันธุ์แต่ละพันธุ์มีสีสันและรสชาติที่แตกต่างกันออกไป สายพันธุ์มันหวานญี่ปุ่นที่สวนต้นปัญญาจะแบ่งตามช่วงอายุการเก็บเกี่ยวออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 90 วัน 120 วัน และ 150 วัน ตามลำดับ แยกสายพันธุ์ได้ดังนี้
กลุ่มที่ 1 อายุเก็บเกี่ยว 90 วัน ได้แก่ ส้มโอกิม่วงเพอเพิล และสายน้ำผึ้ง
กลุ่มที่ 2 อายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ซิลค์สวีท (Silk Sweet) เบนิมาซาริ (Benimasari) เบนิยูกะ (Beniyuka) เบนิฮารุกะ (Beniharuka) เบนิอาซึมะ (Bani Azuma) ฮาโลวีนสวีท (Halloween Sweet)
กลุ่ม 3 อายุเก็บเกี่ยว 150 วัน ตระกูลอันนอยอันโนะโคกาเนะ (AnnouKogane) อันโนะเบนิ (AnnouBeni)
การปลูกและดูแล มันหวานญี่ปุ่น
มันหวานญี่ปุ่นปลูกได้ในดินหลายชนิดหากเข้าใจโครงสร้างดิน การเตรียมดินให้โครงสร้างดินโปร่งจะช่วยให้มันลงหัวได้ดี เตรียมแปลงใช้วิธียกร่องเป็นรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ความยาวตามสภาพพื้นที่ แต่ละแปลงห่างกัน 50 เซนติเมตรเป็นทางเดินคุณปุ๊กอธิบายขั้นตอนการเตรียมดินดังนี้
“เราไม่สามารถเลือกดินปลูกมันหวานได้แต่เราสามารถสร้างโครงสร้างดินให้ดีได้โครงสร้างดินของสวนเรามีข้อจำกัดต่อการลงหัวมันหวานญี่ปุ่นทำให้เราต้องปรับดินก่อนปลูกหลายรอบโดยไถพรวน 2-3 รอบแล้วแต่ลักษณะดินในแปลง แล้วจึงจะปั่นดินให้ร่วนด้วยโรตารี่ 2-3 รอบในรอบสุดท้ายจะใส่ปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มอินทรีวัตถุและปรับโครงสร้างดินแม้ว่าเราจะปรับไปแล้วหลายรอบ แต่ช่วงมีฝนตกชุกดินก็จะแน่นง่าย หลังจากเตรียมดินเรียบร้อยจะรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยสูตร 20-20-20 และปุ๋ยหมัก ก่อนนำท่อนพันธุ์มาปลูก ท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 25-30 เซนติเมตร ให้ข้อโผล่พ้นดินขึ้นมาประมาณ 2-3 ข้อ กลบดินยึดท่อนพันธุ์ให้แน่น การดูแลทั่วไปมีการให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เดือนแรกหลังจากนั้นจึงให้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 เดือนละครั้ง”
ภายในสวนมีการให้น้ำโดยวางระบบน้ำหยด แต่จะดูจากความชื้นบนผิวดินประกอบกัน ถ้ามีความชื้นมากต้นจะแตกยอดจำนวนมากทำให้มันลงหัวยาก ระหว่างที่ต้นมันหวานญี่ปุ่นมีการเจริญเติบโต ต้องหมั่นเก็บหญ้าออกเพื่อป้องกันการแย่งอาหารหัวมัน และไม่บังการสังเคราะห์แสง นอกจากนี้เมื่อต้นเจริญเติบโตแล้วต้องจัดการไม่ให้เลื้อยไปบนดินแล้วเกิดรากใหม่ตามข้อ โดยใช้วิธีถกเถามันเพื่อไม่ให้รากหาอาหาร นอกจากหัวหลักที่เราต้องการ เพราะจะแย่งอาหารกันทำให้หัวมันเทศหลักมีขนาดเล็กคุณปุ๊กยังเสริมเพิ่มเติมว่าวิธีปลูกมี 2 แบบ ใช้ยอดจากต้นกับยอดที่เพาะจากหัว โดยเริ่มต้นนั้นมีการซื้อจากร้านค้าในออนไลน์และย้ำว่าต้องเลือกร้านที่ไว้ใจได้ เพราะบางครั้งอาจจะได้ท่อนพันธุ์มาไม่ตรงกับพันธุ์ที่ระบุไว้
เก็บเกี่ยวเมื่อครบอายุ
วิธีการสังเกตว่ามันเทศแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้คือ ดินบริเวณสันร่องที่ปลูกจะแตกออกอย่างชัดเจน เถาเหี่ยวและออกดอก การเก็บเกี่ยวใช้รถติดผาลไถไถหัวขึ้นมา มันหวานญี่ปุ่นที่ปลูกโดยทั่วไปอาจเก็บเกี่ยวบางช่วงอายุไม่เหมาะสม เนื่องจากปัญหาของแมลงศัตรูพืช เช่น ด้วงงวงมันเทศ ที่เกิดกับหัวมันหวานแต่สวนต้นปัญญาจะเน้นการเก็บเกี่ยวอายุมันที่ครบกำหนด ก่อนการเก็บเกี่ยวจะใช้ชีววิธีในกำจัดหนอน โดยใช้เชื้อราเมธาไรเซียมฉีดพ่นหลังจากขุดมันที่ปลูกแล้วจะคัดหัวที่ถูกแมลงเจาะ หัวเน่าเสียออก
หลังจากเก็บเกี่ยวจะนำไปบ่มเย็นที่อุณหภูมิต่ำ 1 เดือน เพื่อให้แป้งเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอย่างค่อย ๆ เป็นไป กระบวนการจะทำให้มันมีรสชาติหวานขึ้น ข้อสำคัญอีกอย่างของการเก็บเกี่ยวคือจะไม่ล้างหัวเพื่อชะลอการเน่าเสียแต่จะล้างเมื่อต้องการรับประทาน วิธีรับประทานคืออบที่อุณหภูมิ 170 องศาเซลเซียส เวลาในการอบขึ้นอยู่กับขนาดหัว ขนาด 70-90 กรัม และ 100-200 กรัม ใช้เวลาอบ 50 นาที ขนาด 200-300 กรัม ใช้เวลาอบ 1 ชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง 20 นาที ขนาด 300 กรัมขึ้นไป ใช้เวลาอบ 1 ชั่วโมง 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของหัวมัน ลองกดแล้วนิ่มทั้งหัวเป็นอันใช้ได้ หากชอบความนุ่ม ให้ลดไฟลงและอบต่ออีกประมาณ 10 ยกเว้นมันหวานญี่ปุ่นส้มโอกิควรระวังหากอบนานเกินไปเนื้ออาจปะทุได้ง่ายเนื่องจากเนื้อเยื่อค่อนข้างนิ่ม
สำหรับมันหวานญี่ปุ่นจากสวนต้นปัญญาจะมีความแตกต่างจากอื่นคือ เน้นการปลูกโดยการเพิ่มธาตุอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของมันหวาน มีการเก็บเกี่ยวอายุเหมาะสมและมีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โดยการบ่มเย็น ก่อนจำหน่าย ทำให้มันมีคุณภาพดีและรสชาติอร่อยพร้อมรับประทาน มันหวานญี่ปุ่นนับว่าเป็นพืชที่มีศักยภาพ ด้วยการปลูกที่ง่าย อายุเก็บเกี่ยวสั้น ขายได้ราคาสูง
หากสนใจซื้อมันหวานญี่ปุ่นสามารถติดต่อที่สวนต้นปัญญา อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์
โทรศัพท์ 089-921-4600
เรื่อง : วรัปศร
ภาพและข้อมูล : สวนต้นปัญญา อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์