ทำปุ๋ยมูลไส้เดือนจากเศษอาหาร สูตรจากฟาร์มลุงรีย์

ปุ๋ยมูลไส้เดือน นอกจากจะเป็นที่ยอมรับและนิยมใช้ในการปลูกผักเพราะอุดมไปด้วยสารอาหารที่พืชต้องการแล้ว การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยยังเป็นอีกหนึ่งวิธีรักษ์โลก ลดขยะจากเศษอาหารได้ด้วย ใช้เวลาเพียงแค่ 30 วันก็ได้ปุ๋ยดีมีคุณภาพใช้เองภายในครัวเรือน

ธาตุอาหารใน ปุ๋ยมูลไส้เดือน ประกอบด้วย ไนโตรเจน 0.995% ฟอสฟอรัส 0.669% โพเทสเซียม 1.487% เหมาะสำหรับบำรุงต้น ราก ใช้ในช่วงที่พืชกำลังเติบโต ใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูกและวัสดุเพาะกล้าพืชได้ ช่วยให้ดินมีโครงสร้างดีขึ้น ระบายน้ำและอากาศได้ดี และเก็บความชื้นได้มากขึ้น ช่วยให้ระบบรากพืชกระจายตัวในดินได้ดีขึ้น การทำปุ๋ยมูลไส้เดือนประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคืออาหารของไส้เดือนและบ้านไส้เดือน ซึ่งทั้งสองอย่างใช้ต้นทุนเพียงน้อยนิด โดยมีขั้นตอนการทำดังนี้

อาหารของไส้เดือน

ปุ๋ยมูลไส้เดือน

เศษผัก เศษอาหาร แหล่งอาหารชั้นดีและใช้ต้นทุนน้อย ซึ่งผักที่นำมาใช้นั้นต้องดูก่อนว่าใช้ได้หรือไม่ได้อย่างไรบ้าง โดยส่วนใหญ่จะเน้นเศษผักที่มีเส้นใย ย่อยง่าย เช่น ผักกาดขาว คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดหอมหลีกเลี่ยงผักบางชนิด เช่น ตะไคร้ เพราะมีเส้นใยหนา เมื่อนำมาใช้ไส้เดือนจะย่อยสลายได้ยาก เพราะไส้เดือนไม่มีฟันเคี้ยว แต่อาศัยวิธีการดูดแทน ใช้เวลาในการย่อยเศษซากเหล่านี้ประมาณหนึ่งเดือน ส่วนกากที่ย่อยไม่หมดนำไปใช้คลุมดินตามโคนต้นไม้ได้ เป็นทั้งปุ๋ยและช่วยรักษาความชื้นให้หน้าดินอีกต่างหาก ผลไม้ที่ไม่ควรนำมาใช้เป็นอาหารไส้เดือน คือ มะนาว สับปะรด พริก เพราะมีความเป็นกรดหรือด่างที่มีผลต่อผิวและระบบย่อยของไส้เดือน

บ้านไส้เดือน

ปุ๋ยมูลไส้เดือน

บ้านไส้เดือน ใช้วัสดุไม่กี่ชนิดคือภาชนะทึบแสง ผ้าคลุม และวัสดุรองพื้นเช่น ขี้เลื้อย ขุยมะพร้าว เศษใบไม้ เปลือกถั่ว ซึ่งจะช่วยวัสดุพรางแสงให้บ้านไส้เดือน แต่ดีที่สุดคือ “มูลวัวนม” เพราะว่ามีคุณประโยชน์สองอย่างในหนึ่งเดียวทั้งพรางแสง แถมยังเป็นอาหารชั้นเลิศที่ไส้เดือนต้องการอีกต่างหาก

ขั้นตอนการทำ ปุ๋ยมูลไส้เดือน

Step1 เริ่มต้นด้วยการทำบ้านไส้เดือนจากกะละมัง นำมาเจาะรูระบายน้ำแบบหยด

Step2 โรยแกลบขาวรองพื้นเพื่อป้องกันไม่ให้ไส้เดือนมุดลงมาที่ชั้นนี้ หากไม่มีใช้ขุยมะพร้าวแทนได้

Step3 ตามมาด้วยใส่เศษผักที่เตรียมไว้ หั่นให้เป็นชิ้นเล็กเพื่อให้ไส้เดือนย่อยได้หมดและหลงเหลือกากใยน้อยที่สุด

ปุ๋ยมูลไส้เดือน

Step4 นำมูลวัวไปแช่น้ำก่อนนำมาใช้เพื่อคลายแก๊สที่สะสมอยู่ให้เบาบางลง เพราะแก๊สจะทำให้บ้านไส้เดือนร้อน

Step5 นำอาหารจากบ้านเก่าของไว้เดือนมาผสมอีกครั้งเพื่อสร้างความเคยชินให้กับบ้านใหม่จากนั้นรดน้ำให้มีความชื้นพอประมาณ

ปุ๋ยมูลไส้เดือน

Step6 ใส่ไส้เดือนแอฟริกัน ไนท์ครอเซอร์ ได้ทดลองแล้วว่ามีความสามารถในการย่อยสลายที่รวดเร็วและให้ปุ๋ยคุณภาพดี เป็นไส้เดือนสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยม

Step7 ขั้นตอนสุดท้ายคลุมด้วยมุ้งพรางแสงสีดำและช่วยป้องกันศัตรู นก หนู แมลงร้ายต่าง ๆ ในทุก ๆ วันที่ 15 หรือสัปดาห์ที่ 2 ให้กลับบ้านไส้เดือนโดย พลิกส่วนข้างล่างขึ้นข้างบน ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบหนึ่งเดือน ก็ได้ปุ๋ยออร์แกนิกมาใช้ปลูกผักในสวนกันแล้ว

การทำบ้านไส้เดือนควรให้มีปริมาณรวมน้ำหนักให้ได้ 5 กิโลกรัมต่อไส้เดือนจำนวน 500 ตัว หรือประมาณครึ่งกิโลกรัม จะผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนได้ 4 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งการใช้ป๋ยมูลไส้เดือนสามารถใช้ได้ทั้งทางตรงคือโรยรอบๆ โคนผัก ใช้ผสมกับวัสดุปลูก และหมักเป็นน้ำหมักมูลไส้เดือนซึ่งจะช่วยให้ประหยัดและผักยังได้ประโยชน์จากปุ๋ยแบบเต็มๆ ด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก คุณชารีย์ Uncleree farm

เรื่อง : อิสรา สอนสาสตร์ , JOMM YB

ภาพ : ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู

รู้จักปุ๋ยคอก ในมูลสัตว์มีประโยชน์อะไรต่อพืชผักในสวน

ฟาร์มผักบนดาดฟ้าของกลุ่มคนตัวเล็กที่เปลี่ยน “ขยะอาหาร” ให้เป็น “อาหาร” อีกครั้ง

อัปเดทข่าวสารงานเกษตรทุกเรื่องได้ที่ บ้านและสวนGarden&Farm