หน้าวัวใบ

ลองผสมเกสร หน้าวัวใบ สี…ให้เป็นสีใหม่ๆ กัน

หลายคนหลงใหล “ หน้าวัวใบ ” และสะสมไว้ทั้งชนิดแท้และลูกผสม ทั้งใบเขียวและใบด่าง ฟอร์มใบแปลกๆ ให้ปลูกประดับกัน ลองมาดูกันว่า เค้าปรับปรุงพันธุ์กันอย่างไรให้ได้ไม้ใบฟอร์มสวย ใบด่างหลากสีได้อย่างไร

หน้าวัวใบ เป็นพืชในสกุล Anthurium วงศ์ Araceae มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้ ในอดีตคนไทยรู้จักแต่หน้าวัวที่ให้ดอกสีแดงสดและใช้เป็นไม้ตัดดอก พันธุ์ดวงสมร กษัตริย์ศึก ผกามาศและอีกหลายพันธุ์ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยาก แต่ก็มีพันธุ์ลูกผสมจากต่างประเทศเข้ามาแทน และปลูกเป็นไม้กระถางสำหรับตกแต่งสวนและภายในบ้านได้

สำหรับ หน้าวัวใบ นั้น ในวงการไม้ประดับเมื่อราว 30-40 ปีก่อน มีผู้นำเข้ามาปลูกเลี้ยงในเมืองไทยยุคแรกๆ เป็นหน้าวัวที่มีใบรูปหัวใจกำมะหยี่สีเขียวเข้ม และมีเส้นใบสีขาว ที่รู้จักกันในชื่อ Anthuriumclavinerumและ A.crystallinumต่อมาอาจารย์สุรัตน์ วัณโณ แห่งบ้านก้ามปู นักสะสมพันธุ์ไม้ใบได้นำลูกผสมต่างๆ เข้ามาปลูกอีกมากมาย จุดเด่นของหน้าวัวใบก็คือ รูปใบที่สวยงามแปลกแตกต่างจากเดิม ส่วนดอกไม่ได้สวยงามโดดเด่นเท่า

หน้าวัวใบ
Anthuriumclavigerum ที่ยังพบขายกันในตลาดต้นไม้ และเป็นที่นิยมกัน
หน้าวัวใบ
หน้าวัวใบกัญชา (Anthuriumpolyschistum) ในอดีตเรียกกันว่า แมงมุม เป็นหน้าวัวใบเลื้อย ที่มีถิ่นกำเนิดในโคลอมเบีย เอกวาดอร์ และทางตอนเหนือของเปรู ผศ. จิรายุพิน จันทรประสงค์ เล่าว่า หน้าวัวชนิดนี้นำเข้ามาปลูกเลี้ยงในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2514 โดยคุณเถลิงศก สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ใบประกอบแบบนิ้วมือ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร
หน้าวัวใบ
หน้าวัวใบกำมะหยี่ลูกผสม เป็นต้นหนึ่งที่นิยมปลูกเป็นไม้กระถาง ด้วยรูปใบหัวใจ และสีสัน แต่มักมีเกิดใบจุดใบไหม้ตามขอบใบได้ง่าย หากความชื้นสัมพัทธ์ไม่เพียงพอ

รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อดีตประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตประธานชมรมผู้พัฒนาพันธุ์ไม้ประดับ 2000 กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดหน้าวัวใบในเมืองไทยเฟื่องฟูเช่นกัน เพราะเกิดจากฝีมือการปรับปรุงพันธุ์ของนักเลี้ยงชาวไทยหลายท่าน เกิดลูกผสมใหม่ๆ ที่มีทรงต้น และรูปใบที่สวยงาม และปัจจุบันยังเกิดหน้าวัวใบด่างที่สวยงามไม่แพ้ไม้ใบด่างอื่นๆ และรู้จักกันในชื่อ “หน้าวัวใบสี”

หน้าวัวใบ
หน้าวัวลูกผสมที่มีใบกว้าง แผ่นใบหนา เมื่อใบยังอ่อน จะเห็นเส้นใบสีม่วงแดง ชัดเจน ฟอร์มใบแน่นทรงกลมสวยงาม

หน้าวัวใบสี มีการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นครั้งแรกในสวน Ree Gardens แห่งรัฐฟลอริดา ซึ่งมีผู้นำเข้าแม่พันธุ์-พ่อพันธุ์จากต่างประเทศมาเลี้ยงในบ้านเรา เพื่อนำมาปรับปรุงพันธุ์ให้เกิดสีแปลกใหม่ขึ้น อาจารย์สุรวิชได้กล่าวถึงการเลือกคู่ผสมว่า

“ถ้านำหน้าวัวใบที่มีสีม่วงแดงเข้มผสมกับใบด่างขาวเหลือง ลูกผสมที่ได้จะห้สีชมพูแดงเรื่อๆ แต่ขึ้นกับยีนที่มีอยู่ในคู่ผสมนั้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ลักษณะด่างจะถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกประมาณ 10-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ถ้าอยากได้ทรงพุ่มสวย ฟอร์มดี ก็ต้องเลือกต้นที่มีลักษณะทรงพุ่มตามที่ต้องการมาใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์”

หน้าวัวใบ
ลูกผสมหน้าวัวใบสีจากสวนสีทอง 3 ที่สวยงามมาก

หากมีต้นพ่อ-แม่พันธุ์ที่ต้องการอยู่ในมือแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรรู้คือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการถ่ายละอองเรณู ดอกหน้าวัวใบเป็นดอกสมบูรณ์เพศ อยู่บนปลีดอก โดยเกสรเพศเมียจะพร้อมผสมก่อนเกสรเพศผู้ และทยอยบานจนหมดช่อภายใน 2 สัปดาห์ ต้องอยู่ในช่วง 8.00 น. -10.00 น. เกสรเพศผู้และเพศเมียจะพร้อมผสมนาน 2 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ เพราะหากสภาพอากาศไม่เหมาะสม เกสรเพศผู้จะไม่ปลดปล่อยละอองเรณู

วิธีสังเกตง่ายๆ คือ เกสรเพศผู้จะมีละอองเรณูสีเหลืองเกาะอยู่ ส่วนเกสรเพศเมียจะมีเมือกเยิ้มใสเกาะอยู่

หลังจากอธิบายหลักการคร่าวๆ มาชมวิธีการผสมเกสรหน้าวัวใบกัน เริ่มจาก

Step 1 ใช้พู่กันแตะละอองเรณูที่เพิ่งแตกฟูออกที่ส่วนปลายปลี ของต้นพ่อพันธุ์

Step 2 แตะปลายพู่กันที่มีละอองเรณูลงบนดอกเพศเมียบนต้นแม่พันธุ์ที่มีเมือกเยิ้ม

หน้าวัวใบ

Step 3 แขวนป้ายเขียนชื่อพ่อ – แม่พันธุ์และวันที่ผสมเกสร คลุมด้วยถุงพลาสติกใสไว้ 5 วัน เพื่อป้องกันการผสมซ้ำ และผสมซ้ำ จนดอกเพศเมียบานหมดช่อ

หน้าวัวใบ

Step 4 อีก 1 เดือน ส่วนล่างของปลีดอกขยายขนาด แสดงว่าผสมเกสรสำเร็จ

Step 5 ต่อมา 4-8 เดือน ผลจะใหญ่ขึ้น สุกแก่ เปลี่ยนเป็นสีแดง ใช้ถุงพลาสติกคลุมช่อผล เพื่อป้องกันผลสุกร่วง ทยอยเก็บผลสีแดงที่แก่จัดมาล้างเนื้อนุ่มที่ผิวนอกออกให้สะอาด แล้วนำไปเพาะทันที

Tips

  • กรณีที่ดอกเพศผู้บานก่อนดอกเพศเมีย อาจารย์แนะนำให้เก็บละอองเรณูไว้ในภาชนะปิดฝาไม่สนิท ห่อภาชนะด้วยกระดาษเช็ดมือที่ชื้น แล้วใส่ในภาชนะปิดสนิทอีกชั้น เก็บในตู้เย็นแช่ในช่องผัก 
  • ขั้นตอนการเพาะเมล็ดอาจารย์ย้ำว่า ควรนำมาเพาะทันทีจะช่วยให้เปอร์เซ็นต์การงอกสูง
  • อาจฉีดพ่นแคลเซียมโบรอนให้ต้นพ่อ-แม่พันธุ์ จะช่วยให้ช่อดอกแข็งแรง และติดผลได้ดี

ขั้นตอนการเพาะเมล็ด

หน้าวัวใบ

เรียนรู้เทคนิคดีๆ กันแล้ว มาทำความรู้จักหน้าวัวใบกันค่ะ

Anthuriumwillifordii มีถิ่นกำเนิดในเปรู ในเมืองไทยเรียกกันว่า หน้าวัวนีโอ และนีโอซูเปอร์บัม เป็นหน้าวัวใบที่มีผู้นำเข้ามาปลูกเลี้ยงในเมืองไทยมานานกว่า 15 ปี จุดเด่นคือ แผ่นใบที่แข็งและหนา แต่ขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก
หน้าวัวใบลูกศรด่าง ที่กลายพันธุ์จากใบปกติ
ลูกผสมต้นนี้ใบเรียว ห่อลง แผ่นใบแข็ง เหมาะปลูกเป็นไม้กระถาง
หน้าวัวใบ
คิงส์แอนทูเรียม (Anthuriumveitchii) และ ควีนแอนทูเรียม (A. warocqueanum) เป็นหน้าวัวใบชนิดแท้ที่มีถิ่นกำเนิดในโคลอมเบีย ต้องการความชื้นสัมพัทธ์สูงและสม่ำเสมอ จึงเติบโตได้ดี
หน้าวัวใบคิงส์ออฟคิงส์ (Anthurium‘King of Kings’) เป็นลูกผสมที่มีใบสีทอง เป็นไม้ประดับที่ใช้ประดับตกแต่งในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่  9 เมื่อเดือนตุลาคม 2560
หน้าวัวใบ
หน้าวัวเงินหนา  (Anthuriumjenmanii (hybrid) เป็นลูกผสมของเจนมานิอาย ในบ้านเราเรียกกันว่าเงินหนา ตามลักษณะของแผ่นใบซึ่งมีผู้นำมาใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์กันบ้าง ซึ่งให้ลูกที่มีใบแข็งหนา
หน้าวัวใบ
ทั้งสี่ต้นนี้คือหน้าวัวใบสี จากสวนไพโรจน์ไม้ประดับ ที่มีสีสันสวยงามต่างจากพันธุ์เดิม

อาจารย์สุรวิช ฝากถึงนักปลูกเลี้ยงที่ชอบหน้าวัวใบว่า “ผู้ที่ชอบหน้าวัวใบสี ลองเลือกต้นพ่อ-แม่พันธุ์ที่ชอบมาลองผสมเกสรกันครับ ขั้นตอนไม่ยุ่งยากเลย เพราะโอกาสที่คุณจะได้ต้นใหม่ๆ สวยงาม แข็งแรงทนทานกว่าเดิม มีแน่นอน ในบ้านเรานับเป็นแหล่งรวมไม้ประดับที่มีศักยภาพทางพืชสวนมากมาย ซึ่งเกิดจากความสามารถของนักปลูกเลี้ยงสะสมพันธุ์ชาวไทย  ซึ่งอยากให้นักเลี้ยงคนไทยที่ชอบไม้ประดับ หมั่นทดลองผสมเกสรและพัฒนาพันธุ์ให้สวยงามมีคุณภาพดีขึ้น

เพื่อให้ชาวต่างชาติได้รู้ว่า คนไทยมีความสามารถมากเพียงใด หากต้นไหน พันธุ์ไหนมีศักยภาพที่ใช้ประโยชน์เป็นไม้ประดับได้ดีทั้งในและนอกสถานที่ สามารถนำมาจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ กับกรมวิชาการเกษตรได้นะครับ”

คลิกอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้ที่ คู่มือและคำแนะนำการจดทะเบียนฯ 

หากท่านใดต้องการเรียนรู้การปรับปรุงพันธุ์ไม้ประดับ และรู้จักไม้ใบชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม อ่านได้ในหนังสือ เทคนิคปรับปรุงพันธุ์ไม้ประดับ, หนังสือไม้ใบ และ ไม้ใบ ไม้ด่าง ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน

ขอขอบคุณ สวนสีทอง 3 และสวนไพโรจน์ไม้ประดับ สำหรับภาพประกอบและข้อมูลดีๆ ให้กับผู้สนใจค่ะ

เรื่อง รศ. ดร. สุรวิช วรรณไกรโรจน์ หนังสือเทคนิคปรับปรุงพันธุ์ไม้ประดับ

เรียบเรียง  อุรไร จิรมงคลรัช / ภาพ  อภิรักษ์ สุขสัย

ขยายพันธุ์แก้วกาญจนา ตามแบบฉบับกูรู

บอนสี ไม้ใบสวย จากยุคบุกเบิกถึงปัจจุบัน