ไอเดียปลูกผักสวนครัวแบบฉบับคนเมือง

สวนครัวในบ้านเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดสารพิษ สีเขียวของพืชผักให้ความรู้สึกสงบเย็น แม้ว่าการ ปลูกผักสวนครัว จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ยากที่หลายคนจะหันมาสนใจทำกันอย่างจริงจัง

อาจเป็นเพราะคนส่วนมากอยู่ในเมืองใหญ่ ในบ้านที่ไม่ค่อยมีบริเวณกว้างขวางนัก บางคนอาศัยอยู่ในตึกแถว อพาร์ตเม้นท์ คอนโดมิเนียม หรือหอพักที่ไม่มีที่ดินเลย แต่เราสามารถดัดแปลงวิธีการ ปลูกผักสวนครัว เสียใหม่ให้เหมาะกับพื้นที่ได้ ดังนี้

ปลูกผักสวนครัว

สวนครัวข้างบ้าน/หลังบ้าน

เหมาะสำหรับบ้านที่มีบริเวณพอสมควร แต่ก็ควรมีแสงแดดส่องถึง โดยขุดดินยกแปลงกว้างประมาณ 1 เมตร ความยาวแล้วแต่เนื้อที่ แต่ไม่ควรเกิน 5 เมตร และเว้นทางเดิน 30 – 40 เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาแปลงผัก ส่วนชนิดพืชผักควรเลือกปลูกผักอายุสั้นหรือที่เรียกกันว่า พืชผักล้มลุก ปลูกหมุนเวียนสลับกันไปหรือปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกัน โดยเลือกปลูกผักที่มีอายุเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกันคละกันไป หรือปลูกผักชนิดเดียวกันแต่ทยอยปลูกครั้งละ 3 – 5 ต้น ตามความเหมาะสมของพื้นที่และความต้องการบริโภค ก็จะมีผักสดเก็บมาทำอาหารได้ทุกวันตลอดปี
สำหรับบ้านที่ไม่มีพื้นที่ปลูกผักลงดินเนื่องจากเทคอนกรีตบริเวณบ้านทั้งหมด ก็สามารถสร้างแปลงปลูกผักบนพื้นคอนกรีตได้ โดยนำวัสดุที่หาได้ง่าย เช่น แผ่นไม้ ท่อนไม้ ไม้ไผ่ฝ่าซีก แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด อิฐมอญ หรืออิฐประสาน มากั้นเป็นแนวขอบแปลงให้สูง 30 – 50 เซนติเมตร แค่นี้ก็ปลูกผักสวนครัวในบ้านได้

ปลูกผักสวนครัว

ครัวสวนหย่อม

เหมาะสำหรับบ้านที่มีบริเวณเพียงเล็กน้อย แต่ก็พอจะเลือกจัดเป็นมุมสวนครัวไว้ดูเล่นเพลินตา หรือหากไม่มีพื้นที่สำหรับปลูกผักลงดินก็ปลูกในกระถางหรือภาชนะอื่น ๆ ได้ แต่ควรคำนึงถึงน้ำหนักกระถางเมื่อต้องขนย้ายหรือเมื่อต้องการจัดสวนครัวใหม่ด้วย
ผักที่เลือกปลูกนอกจากเป็นผักที่สมาชิกในครอบครัวชื่นชอบแล้ว ควรเป็นผักที่ปลูกง่าย ดูแลรักษาไม่ยุ่งยากและต้องคำนึงถึงสภาพแสงแดดในบริเวณที่ปลูกผักด้วย ชนิดผักที่นำมาปลูกประดับในครัวสวนหย่อมควรเป็นผักที่มีอายุค่อนข้างยาว มีทรงพุ่มสวยงาม ใบ ดอก ผล มีสีสันฉูดฉาดด้วยก็ยิ่งดี เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า มะเขือเทศ มะเขือต่าง ๆ โหระพา กะเพรา แมงลัก ตะไคร้ หากบริเวณบ้านมีร่มเงามาก ก็เลือกปลูกผักที่ไม่ต้องการแสงในการเจริญเติบโตมากนัก เช่น เตยหอม ช้าพลู ขิง กระชาย ขมิ้นชัน ขมิ้นขาว เป็นต้น

ปลูกผักสวนครัว

สวนครัวเลื้อย/ริมรั้ว

เน้นปลูกผักที่เป็นไม้เลื้อย มีทั้งที่เป็นพืชอายุหลายปีและพืชอายุสั้น เช่น ขจร บวบต่าง ๆ น้ำเต้า ตำลึง ผักปลัง ถั่วฝักยาว ถั่วพู ซึ่งสามารถปลูกเป็นไม้เลื้อยริมรั้วหรือทำซุ้มไม้เลื้อยได้อย่างดี สำหรับซุ้มอาจทำจากไม้ระแนงหรือเหล็กที่ดัดเป็นรูปทรงต่าง ๆ หากมีพื้นที่จำกัดอาจใช้ลวดสะลิง เอ็น หรือเชือกไนลอนทำเป็นแนวรูปทรงต่าง ๆ ให้ไม้เลื้อยเกาะกำแพงก็ได้ โดยช่วยจัดให้เถาเลื้อยขึ้นหลักและค้าง หรือเด็ดยอดเพื่อให้แตกกิ่งก้านมากขึ้น ทำให้เลื้อยคลุมได้เร็วขึ้น เช่น มะระ ฟักทอง เมื่อเลื้อยเต็มค้างแล้วก็เด็ดยอดมารับประทานได้ แต่ไม่ควรปล่อยปละละเลย

Do you know?

การปลูกผักริมรั้วเป็นวิธีใช้ประโยชน์จากรั้วให้กลายเป็นรั้วกินได้ หรือปลูกผักเลื้อยจำพวกตำลึง ถั่วพู เพื่อเป็นฉากกั้นบังตาหรือบังแสง หรือตกแต่งกันสาดก็ได้ หากต้องการปลูกไม้เลื้อยติดกำแพง ควรเลือกผักที่สามารถเจริญเติบโตและผลิดอกออกผลได้ในสภาพที่มีแสงแดดครึ่งวัน เช่น ผักปลัง ขจร เป็นต้น

 

ผักปรัง

สวนครัวแนวตั้ง

เหมาะสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านตึกแถว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม อพาร์ตเม้นท์ หรือห้องแถวร้านค้าริมถนน โดยปลูกเป็นไม้กระถางและทำระแนงเล็ก ๆ ให้ผักที่เป็นไม้เลื้อยเจริญเติบโต หรือจะทำที่แขวนสำหรับใส่กระถางประดับบนผนังหรือระเบียงห้องก็ได้ ทั้งยังเคลื่อนย้ายสะดวก
สวนครัวแบบนี้ปลูกผักได้เพียงบางชนิดเท่านั้น เช่น ผักที่เป็นไม้อายุสั้นอย่างพริก กะเพรา โหระพา แมงลัก ผักชีฝรั่ง ผักกาดหอม กระเจี๊ยบแดง ถ้าเป็นไม้พุ่มที่มีอายุหลายปีควรปลูกในกระถาง เช่น ผักหวานบ้าน เตยหอม ช้าพลู แค มะกรูด ขิง ข่า ตะไคร้ สิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงแสงแดดที่พืชได้รับและขนาดกระถางที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดด้วย หากนำพืชที่มีระบบรากค่อนข้างลึกมาปลูกในภาชนะตื้น ๆ อาจทำให้ต้นแคระแกร็น เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ และอาจได้ผักที่ไม่อร่อยถูกใจ

Do you know?

สามารถดัดแปลงนำภาชนะเหลือทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก กระป๋อง กะละมัง ตะกร้า หรือวัสดุธรรมชาติ เช่น กะลามะพร้าว เปลือกมะพร้าว กระบอกไม้ไผ่ มาใช้ปลูกผักก็สวยไปอีกแบบ

จากหนังสือ Garden & Farm

 

 

เรื่อง : อังกาบดอย / ภาพ : ธนกิตต์ คำอ่อน


เรื่องที่น่าสนใจ

ผักสวนครัว ผักสวนครัว ผักสวนครัว