ผักชีลาว ผักชีช้าง

ผักชีลาว ผักชีช้าง ต่างกันอย่างไร

เป็นอีกหนึ่งปัญหาของคนรักสวนอยู่ไม่น้อย กับการแยกแยะผักชี 2 ชนิดที่มีใบคล้ายกัน แต่ประโยชน์และสรรพคุณแตกต่างกัน นั่นก็คือผักชีลาว กับ ผักชีช้าง นั่นเอง

ผักชีลาว เป็นผักพื้นบ้านที่นิยมปลูกรับประทานในแถบภาคเหนือ ภาคอีสานของไทย ลักษณ์เด่นคือมีกลิ่นหอมฉุนใช้เป็นเครื่องเทศดับคาว ส่วน ผักชีช้าง เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเพราะนิยมใช้จัดสวน ด้วยรูปใบที่เล็กละเอียด ให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในสวนยุโรป ซึ่งการพบเจอโดยทั่วไปจึงเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อยในการแยกแยะต้นไม้ทั้ง 2 สายพันธุ์ ว่าแล้วก็ไปดูกันให้ชัดๆ เลยดีกว่าว่า ผักชีลาวและผักชีช้าง แตกต่างกันอย่างไร

ผักชีลาว

ผักชีลาว

ผักชีลาวหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด ใบเป็นเส้นเรียวสีเขียวสด ก้านและต้นกลวง นำไปปรุงอาหารได้มากมาย ดับกลิ่นคาวปลาได้ดี เช่น ทำแกงอ่อม แกงหน่อไม้ ห่อหมก ผัดไข่ แกล้มน้ำพริกปลาร้า ลาบ ก้อย มีสรรพคุณทางยาช่วยย่อย แก้ท้องอืด ลดความดันโลหิต อยู่ในวงศ์ Apiaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anethum graveolens ที่อินเดียนิยมปลูกเพื่อเก็บเมล็ด ไปสกัดน้ำมันหอม แต่ที่ไทยปลูกเพื่อใช้แค่ต้นและใบ

ผักชีลาว

ดอกผักชีลาวสีเหลืองจิ๋ว ออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม ที่ปราณบุรีมีเชฟชาวอังกฤษชื่อ James Douglas Noble ทำฟาร์มปลูกผัก แล้วนำดอกผักหลายชนิดมาแต่งจานสลัดให้สวยน่ารับประทาน ใช้ในร้านอาหารข้างฟาร์มและส่งภัตตาคารหลายแห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งขายดีมาก การขยายพันธุ์ใช้วิธีเพาะเมล็ดในดินร่วนอุดม ชอบแดดจัด ควรเพาะช่วงปลายฝน ต้นหนาวราว 60 วัน ต้นสูงเต็มที่ประมาณ 70 เซนติเมตร โดยต้นสูง 20 เซนติเมตร ก็สามารถเก็บขายได้

ผักชีช้าง

ผักชีช้าง

ผักชีช้าง อยู่ในวงศ์Asteraceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eupatorium capillifolium ต้นและใบคล้ายผักชีลาวมากแต่มีขนาดโตกว่า กลิ่นคล้ายกัน สูง 60 เซนติเมตร – 2 เมตร ดอกจิ๋วออกเป็นช่อตามก้าน มีกลีบเลี้ยงสีเขียว คล้ายถ้วยหุ้ม มีกลีบเล็กๆ เหมือนด้ายสีขาวโผล่เป็นรัศมี พบได้ทางตอนใต้ ของอเมริกากลาง ในธรรมชาติจะมีผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งที่กินน้ำหวานจาก ดอกของพืชชนิดนี้ไว้ในตัวเพื่อใช้ล่าเหยื่อ ในบ้านเราเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า“โกฐจุฬา” นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและกินยอดเป็นผักสด ขยายพันธุ์โดยการปักชำยอด ชอบแสงจัด ดินร่วนน้ำไม่ขัง

ผักชีช้าง

เรื่อง : “มัญชุสา”

ภาพประกอบ : ชนมวรรณ ตะนะ


 

เก็บผักจากสวนอย่างไร ให้ผักสดอยู่นานทานอร่อย

ผักคู่เหมือน แม้หน้าตาจะคล้ายกัน แต่คนละชนิดกัน!

ติดตามข้อมูลดีๆจากบ้านและสวนได้ที่นี่