แต่ก่อนนี้ เวลาที่นั่งรถไปนอกๆ เมือง เราจะพบทุ่งรกร้างตามริมทาง ที่มีต้นหญ้าขึ้นปกคลุมมากมาย มาวันนี้เมืองขยายตัวออกไปมาก พื้นที่รกร้างกลายเป็นตึกรามบ้านเรือน ต้นหญ้า ดอกหญ้า หรือวัชพืชที่เคยชูช่อก็เริ่มหายไป
หากคุณเคยเป็นเด็กที่วิ่งเล่นตามร่องสวน หรือสนามหญ้าเล็กๆ ที่โรงเรียน คุณต้องเคยเก็บหญ้าหงอนไก่มาตีกัน หรือมีเมล็ดหญ้าเจ้าชู้ติดตามเสื้อผ้า และอาจเคยเดินผ่านดงต้นสาบเสือ ซึ่งมีกลิ่นฉุน
เมื่อเอ่ยคำว่า “หญ้า” เราก็มักให้คำจำกัดความว่าเป็นต้นไม้ไร้ค่า ที่ขึ้นรกเรื้อในพื้นที่ว่างเปล่า หรือแปลงเพาะปลูกพืชผลต่างๆ ซึ่งจริงๆ ควรเรียก “วัชพืช” มากกว่า เพราะในทางพฤกษศาสตร์ให้คำจำกัดความของ “หญ้า” ว่าหมายถึง พืชวงศ์หญ้าหรือวงศ์ Poaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับข้าวและไผ่ หลายคนรู้จักหญ้าหลายชนิดนิยมใช้ในการจัดสวน เช่น หญ้านวลน้อย หญ้ามาเลเซีย หรือแม้แต่หญ้าแพรก ที่เราใส่ไว้ในพานไหว้ครู ส่วนหญ้าอื่นๆ เช่น หญ้าคา หญ้าเจ้าชู้ เรามักจะคิดว่าไม่มีประโยชน์ ดังนั้น “วัชพืช” หรือหญ้าในความหมายของคนทั่วไป จึงประกอบด้วยพืชหลายวงศ์ด้วยกัน
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า คนทั่วไปมองว่า หญ้าหรือวัชพืช เป็นพืชไร้ค่า จนมีคำเปรียบเปรยว่า “รกคนดีกว่ารกหญ้า” ที่คนทั่วไปคิดเช่นนั้นก็เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องหญ้าหรือวัชพืชดีพอ
ความจริงแล้ว หญ้าหลายชนิดที่เราคิดว่าไร้ค่านั้น เป็นอาหารทั้งคนและสัตว์ เช่น ผักเสี้ยน โสมไทย ผักคออ่อน หลายชนิดเป็นสมุนไพรช่วยรักษาหรือบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น หญ้าคา หญ้าเลา หญ้าเจ้าชู้ กะเม็ง ซึ่งในวงการแพทย์แผนไทยก็ยอมรับในสรรพคุณ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ภูมิปัญญาของคนโบราณนั้น น่าทึ่งมากที่รู้ว่าหญ้าก็รักษาโรคได้ หญ้าอีกชนิดที่เป็นพืชในวงศ์ถั่ว เช่น ปอเทือง ถั่วผีเลื้อย ถั่วผี ก็มีคุณสมบัติที่ช่วยตรึงไนโตรเจนในดิน ซึ่งนิยมปลูกกันหลังจากฤดูเกี่ยวข้าวสิ้นสุดลง หญ้าหลายชนิดยังใช้เป็นไม้ประดับที่สวยงาม เช่น เทียนดอย โสมไทย หงอนไก่ไทย ผักแว่นดอย เป็นต้น
หญ้าส่วนใหญ่ทนต่อสภาพแวดล้อม แต่ก็มีบางชนิดที่ต้องการสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมจึงจะเจริญเติบโตต่อไปได้ เราควรรักษาพืชพันธุ์เหล่านี้ไว้ เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ให้สมดุล ทั้งหญ้าหลายๆ ชนิดก็มีดอกสวยงาม สร้างความสบายตาในยามพบเห็น
ต่อไป เมื่อคุณเห็นต้นหญ้า คงจะไม่รีบถอนทิ้ง หรือคิดไปว่าไร้ค่าอีกแล้วนะคะ
สนใจชม “ดอกหญ้า ได้ที่ Plant Library โดย search คำว่า “วัชพืช”