โยโกะ ไซโตะ ควิลเตอร์ในดวงใจ

สำหรับคนที่รักงานแพตช์เวิร์คควิลต์ ฉันว่าหลายคนคงมีไอดอลชื่อ “โยโกะ ไซโตะ” และหลายคนก็คงเคยพบปะและร่วมเวิร์คชอปของเธอมาแล้วทั้งในเมืองไทยและญี่ปุ่น

ฉันรู้จักชื่อของโยโกะ ไซโตะจากหนังสือที่เธอเขียนหลายเล่มที่บ้านพี่ท่านหนึ่ง แม้งานของเธอจะมีสีสันที่ดูเคร่งขรึม แต่ก็มีสิ่งที่น่าดึงดูดใจไม่น้อย อย่าง ชิ้นงานกระเป๋าก็จะมีรูปทรงเก๋ น่าใช้ ลวดลายน่ารัก ถ้าเป็นพวกผ้าโชว์ชิ้นใหญ่ๆ ก็ดูตระการตา เห็นแล้วต้องร้อง “ว้าว” ทุกทีไป เทคนิคการทำงานที่เธอนำเสนอก็หลากหลายและทำง่าย แต่ควรตั้งใจทำนิดนึง (ฮา) และนี่ก็น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่เลือกหนังสือของเธอมาจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยค่ะ

โยโกะ ไซโตะ เป็นหนึ่งในห้าควิลเตอร์คนสำคัญของญี่ปุ่น ซึ่งทั้งห้าคนล้วนเป็นศิษย์เอกของ Chuck Nohara ควิลเตอร์ในตำนานที่โด่งดังมากในราวๆ ยุค 1970 เพราะเธอเป็นคนแรกที่นำงานควิลต์มาสอนในญี่ปุ่น และปลุกปั้นจนญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางงานควิลต์ของโลกในปัจจุบัน  ขอเม้าท์นิดนึง ฉันเคยพบ Chuck Nohara ที่ญี่ปุ่นเมื่อสองปีที่แล้ว ขณะอายุ 70 ปีกว่าๆ ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง พูดคุยสนุกสนาน เธอเล่าว่า เคยเดินทางมาเมืองไทย พักที่โอเรียนเต็ล ชอบและอยากมาเที่ยวอีก เธอยังเล่าต่อว่า สะสมชิ้นงานควิลต์มากมาย แทบจะเรียกได้ว่า มากที่สุดในญี่ปุ่น…และอยากนำผลงานเหล่านั้นออกมาเผยแพร่ให้คนที่สนใจได้ชื่นชม  เธอเลยถามฉันว่า สนใจจะช่วยพิมพ์ให้ไหม (ฮา)

นอกเรื่องมาเยอะ ทีนี้มาดูประวัติของคุณโยโกะเท่าที่รวบรวมมาได้นะคะ

โยโกะ ไซโตะ เริ่มจับงานควิลต์ก็เมื่อตอนที่ลูกๆ เริ่มเข้าโรงเรียน ราวๆ ปีค.ศ. 1977 ตลอดเวลาที่ทำงานเธอพัฒนาฝีมือและสร้างสไตล์ของตัวเองอยู่เสมอ ดูได้จากหนังสือแต่ละเล่มของเธอ ซึ่งจะมีผลงานสวยเก๋ ไม่เหมือนใครตลอดเวลา ขอบอกว่า เธอเป็นควิลเตอร์ที่ใช้สีเก่งมาก และเป็นคนแรกๆ ที่นำเอาสีแบบที่เรียกว่า  taupe color (สีแบบสีขนตัวตุ่น ซึ่งเป็นสีน้ำตาลหลายเฉดแต่จะอมสีเทา) มาใช้จนโด่งดัง ที่จริงสีแนวนี้ในอเมริกามีใช้กันมาแต่เดิม แต่เธอเอามาใช้ได้อย่างมีรสนิยม ถ้าจะคุยกันเรื่องนี้คงอีกยาว เธอบอกว่า สไตล์ของเธอจะเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่ได้พบ ได้เห็นแล้วก็หลงรัก  อย่างในยุคเริ่มต้นก็ชอบสไตล์อเมริกันคันทรี เมื่อเดินทางไปแถบสแกนดิเนเวียก็จะชอบสีแนวสโมคกี้ และในอนาคตก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

ถ้าพูดถึงผลงานของเธอ เดี๋ยวจะหาว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เพราะหลายคนเป็นแฟนคลับตัวจริงเสียงจริงยิ่งกว่าฉันเสียอีก แต่สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักเธอมาก่อน ขอแนะนำหนังสือที่จะทำให้มองเห็นพัฒนาการของเธอตั้งแต่ยุคที่เป็นอมริกันสไตล์จนคลี่คลายมาเป้นงานของตัวเองในปัจจุบัน

daily quilthouse yoko

“Daily Quilt” ซึ่งรวมผลงานของเธอในยุคแรกๆ ที่ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารต่างๆ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1991-2008 เล่มนี้ทำให้เห็นพัฒนาการ ความเป็นมาบางส่วนและเทคนิคการทำงานต่างๆ ที่เธอเล่าไว้อย่างละเอียดละออ

“บ้าน” ซึ่งเป็นงานควิลต์ด้วยแพตเทิร์นบ้านแบบต่างๆ เล่มนี้ทำให้เห็นวิธีคิดและออกแบบผลงานที่ละเอียดละออ

bag yokofloral yokopacthwork yoko

“กระเป๋าเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน” เล่มนี้ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปในประเทศต่างๆ แถบยุโรป และอเมริกา สีของบางชิ้นงานในเล่มจะออกแนว Taupe color

“งานควิลต์ช่อดอกไม้” ในเล่มมีผลงานที่เป็นลวดลายต่างๆ ในธรรมชาติ แต่ที่โดดเด่นก็คือ ลวดลายบางส่วนโดดเด้งออกมาให้ลูบคลำได้ เรียกว่ามีมิติ

“แพตช์เวิร์ค โดย โยโกะ ไซโตะ” เล่มนี้มีผลงานหลายชิ้นที่น่าสนใจมาก

เมื่อรู้จักกันแล้ว เราก็มาชมผลงานเล่มใหม่ที่กำลังจะวางตลาดกันค่ะ ชื่อหนังสือคือ “งานควิลต์จากผ้าที่ชื่นชอบของโยโกะ ไซโตะ” เล่มนี้เป็นการฉลองการทำงานควิลต์มาครบ 20 ปี ผลงานในเล่มใช้ผ้าที่เธอออกแบบให้กับบริษัท lecien จำกัด หลายคนคงได้เห็นหนังสือภาษาญี่ปุ่นมาแล้ว แต่ที่จะเห็นในเร็วๆ นี้เป็นฉบับภาษาไทยค่ะ

Cover_Centenary-Collection หน้าปกค่ะ ต่างจากเล่มภาษาญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นกระเป๋าทรงคล้ายพัด

Centenary-Collection5 Centenary-Collection4 Centenary-Collection3 Centenary-Collection2 Centenary-Collection1