วิธีทำปุ๋ยหมัก และ ขั้นตอนทำปุ๋ยหมัก ในครัวเรือนและร้านอาหารมักมีเศษอาหารเหลือทิ้งจากการบริโภคและจำหน่ายมากมายในแต่ละวัน วิธีจัดการขยะที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ก็คือ วิธีทำปุ๋ยหมัก
รวบรวมเก็บใส่ถุงไว้แล้วรอรถขยะของเทศบาลมาขนทิ้ง บ้างก็มาเก็บทุกวัน บ้างมาแค่สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ปริมาณขยะจึงเพิ่มเติมสะสมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าจัดการเก็บไม่เรียบร้อย ยิ่งทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเป็นที่รำคาญใจ สุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
วิธีทำปุ๋ยหมัก


หนึ่งในทางเลือกที่ทุกคนและทุกบ้านทำได้โดยไม่ต้องรอรถขยะมาจัดเก็บก็คือ การนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมัก โดยอาศัยการย่อยสลายจากจุลินทรีย์ นอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างเก็บขยะมูลฝอยแล้ว ยังไม่เป็นภาระต่อสังคม ไม่ต้องเสียเวลาในการขุดหลุมฝัง แถมยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใส่ต้นไม้ในบ้าน ช่วยประหยัดอีกต่อหนึ่งด้วย
การทำ ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ
1.เศษอาหาร เช่น เศษข้าว เศษผัก เปลือกผลไม้ เปลือกไข่ ก้างปลา เศษหมู ขนมปัง ฯลฯ ที่เหลือจากการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน ร้านอาหาร โรงอาหาร หรือโรงครัว เมื่อนำมาทำปุ๋ยหมักจะใช้เฉพาะส่วนที่เป็นกาก จึงต้องแยกน้ำที่อยู่ในเศษอาหารออกก่อน หากเศษอาหารมีขนาดใหญ่ก็สับให้มีขนาดเล็กลง

2.จุลินทรีย์ ควรเป็นประเภทที่ใช้ออกซิเจน จะช่วยให้ไม่ส่งกลิ่นเหม็นและไม่ทำให้เกิดน้ำเสีย แหล่งจุลินทรีย์ที่หาได้ง่ายคือมูลสัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มูลวัว มูลไก่ มูลหมู มูลม้า มูลแพะ ซึ่งมีจุลินทรีย์หลายประเภทและจำนวนมาก เช่น เชื้อราแอคติโนมัยซีตส์ (Actinomycetes) ช่วยให้กระบวนการย่อยสลายเศษอาหารกลายเป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น

3.เศษใบไม้ ช่วยให้เศษอาหารมีความโปร่งพรุน ไม่อัดแน่นจนเกินไป ทั้งยังมีธาตุคาร์บอนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ของจุลินทรีย์

เมื่อเตรียมส่วนประกอบพร้อมแล้ว ก็มาทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารกัน
ปุ๋ยหมักจากเศษอาหารในถังพลาสติก
วิธีทำ

1.เตรียมถังหมักพลาสติกพร้อมฝาปิดขนาด 20 ลิตร โดยใช้เหล็กร้อน ๆ เจาะรูรอบถังเพื่อใช้เป็นช่องระบายอากาศ แล้วพันด้วยตาข่ายเพื่อป้องกันแมลงวันมาวางไข่และสร้างความรำคาญ

2.ใส่เศษอาหาร มูลสัตว์ และเศษใบไม้ อย่างละ 1 ส่วนลงในถัง ผสมคลุกเคล้าให้ทั่วแล้วปิดฝา ระยะแรกไม่ต้องเติมน้ำเนื่องจากเศษอาหารมีความชื้นสูง หากวันถัดไปมีเศษอาหารอีกก็ผสมมูลสัตว์และเศษใบไม้ในอัตราส่วนเดิม ใส่ลงในถังได้อีก

3.ใช้ไม้คนส่วนผสมให้คลุกเคล้ากันทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ในช่วง 3-10 วันแรกอาจมีความร้อนเกิดขึ้น เนื่องจากจุลินทรีย์คายความร้อนออกมาเพื่อทำปฏิกิริยาย่อยสลาย หากความชื้นลดลงเกือบแห้ง ควรพรมน้ำเพิ่ม

4.ใช้เวลาประมาณ 30 วัน จะได้ปุ๋ยหมักในปริมาตรที่ลดลงร้อยละ 40 หากปุ๋ยยังมีความชื้นอยู่ ควรงดพรมน้ำและปล่อยให้แห้งสนิท เพื่อให้จุลินทรีย์หยุดการย่อยสลาย ปุ๋ยหมักที่ได้จะมีสีดำคล้ำ เปื่อยยุ่ย มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบา และไม่มีกลิ่นเหม็น
Tips
- ชุมชนขนาดใหญ่ เช่น โรงเรียน วัด เรือนจำ สำนักงาน หรือสถานที่ราชการ จะมีเศษอาหารเหลือทิ้งปริมาณมากในแต่ละวัน จึงควรใช้ภาชนะหมักขนาดใหญ่ขึ้น อาจใช้ถังเหล็กขนาดพอเหมาะหรือดัดแปลงถังพลาสติกทรงกลมรี เจาะรูที่ฝาปิดเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ปิดทับด้วยตะแกรงเพื่อป้องกันแมลงวัน แล้วพลิกกลับเศษอาหารโดยกลิ้งถังไปมาก็ได้
- สามารถใช้วงบ่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตรเป็นภาชนะหมักได้ แล้วใส่ใบไม้แห้ง ตามด้วยเศษอาหาร แล้วใส่ใบไม้แห้งที่ย่อยแล้วทับอีกครั้ง ระหว่างหมักกองปุ๋ยจะยุบตัวลง ก็สามารถนำเศษอาหารและใบไม้แห้งที่ย่อยแล้วมาเททับเป็นชั้น ๆ ได้เรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 30 วันก็ได้ปุ๋ยหมัก

ปุ๋ยหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์อีกชนิดที่ได้จากการหมักวัสดุเหลือทิ้งที่เป็นสารอินทรีย์บางชนิด โดยนำวัสดุเหล่านั้นมากองรวมกัน รดน้ำให้ชื้น ทิ้งไว้ให้เกิดการย่อยสลายโดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ จากนั้นจึงนำไปปรับปรุงดิน ซึ่งนอกจากการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารในครัวเรือนแล้ว ยังมีปุ๋ยหมักจากวัสดุอินทรีย์อื่น ๆ อีกมากมายที่หาได้ง่ายในแต่ละท้องถิ่นให้ลองไปทำกัน ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้จากการเพาะเห็ด ปุ๋ยหมักจากชานอ้อย ปุ๋ยหมักจากผักตบชวา ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน ปุ๋ยหมักปลา น้ำหมักชีวภาพ ฯลฯ
สามารถอ่านวิธีทำและใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพได้เพิ่มเติมจากหนังสือชุดคู่มือการเกษตร เรื่อง ปุ๋ยอินทรีย์ (ฉบับปรับปรุง) Organic fertilizer โดย รองศาสตราจารย์มุกดา สุขสวัสดิ์
เรื่อง : อังกาบดอย
ภาพ : คลังภาพสำนักพิมพ์บ้านและสวน
ภาพประกอบ : ชูเกียรติ สลักคำ
เรื่องที่น่าสนใจ