วิธีทำปุ๋ยหมักตะกร้า ทำง่าย ประหยัดงบ

แม้ว่าดินจะอุดมสมบูรณ์เพียงใด แต่ถ้าไม่มีการบำรุงเพิ่มเติมเลย คงเป็นไปไม่ได้ที่พืชผักจะเจริญเติบโตสวยงามและผลิดอกออกผล โดยเฉพาะพืชผักที่มีอายุหลายปี เพราะเมื่อรากพืชดูดธาตุอาหารมาใช้ในการเจริญเติบโต ธาตุอาหารในดินย่อมลดลง นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ปุ๋ยกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการปลูกพืชผักทุกชนิด

ปุ๋ยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ สำหรับการทำเกษตรในเมืองหรือการปลูกผักกินเองในสวนหลังบ้าน ซึ่งเน้นเรื่องการผลิตอาหารที่ปลอดภัยไร้สารเคมี ในบทความนี้จึงแนะนำเฉพาะวิธีทำ ปุ๋ยหมักตะกร้า ปุ๋ยอินทรีย์อย่างง่าย สำหรับใช้เองแบบประหยัดกันค่ะ

ปุ๋ยหมักตะกร้า
อาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร แนะนำการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง
พืชผักจะงามต้องเริ่มจากดินที่ดี ควบคู่กับการให้ปุ๋ยเพิ่มธาตุอาหารอย่างเหมาะสม

ปุ๋ยอินทรีย์ คือ สารประกอบอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบที่มาจากอินทรียวัตถุชนิดต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เป็นต้น ช่วยปรับปรุงให้ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพดีขึ้น ดินร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี และช่วยให้จุลินทรีย์ในดินทำงานได้ดีขึ้น ปุ๋ยอินทรีย์ที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่

ปุ๋ยคอก ได้จากมูลสัตว์เลี้ยง เช่น วัว หมู ไก่ เป็ด เป็นต้น ทั้งในรูปของเหลวและของแข็ง ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้พืชอย่างรวดเร็ว เพราะมีธาตุอาหารที่ละลายน้ำง่าย ส่วนปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยคอกจะแตกต่างกันไปตามประเภทของสัตว์ วิธีการเลี้ยง อาหารที่กิน วัสดุรองพื้นคอก และการเก็บรักษา

ปุ๋ยหมัก ได้จากการหมักอินทรียวัตถุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเศษใบไม้ กิ่งไม้ ฟางข้าว หญ้า เปลือกถั่ว เศษผักและเศษอาหารที่เหลือทิ้งจากการรับประทาน โดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวย่อยสลาย ช่วยปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุย

ปุ๋ยพืชสด ได้จากการปลูกพืชวงศ์ถั่ว เช่น ปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วเขียว โสน รอจนต้นถั่วออกดอกซึ่งเป็นช่วงที่มีน้ำหนักสดและปริมาณธาตุไนโตรเจนสูงสุดจึงไถกลบดิน แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้ย่อยสลายเป็นอาหารแก่พืชต่อไป

ปุ๋ยหมักทำเองได้ ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

ปุ๋ยหมักแต่ละประเภทมีคุณสมบัติทางเคมีแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาหมัก เช่น ปุ๋ยหมักจากพืชตระกูลถั่วมีธาตุไนโตรเจนสูงและมีอัตราการย่อยสลายเร็วกว่าปุ๋ยหมักจากฟางข้าว ดังนั้นเมื่อทำปุ๋ยหมักจึงต้องเติมจุลินทรีย์หรือน้ำหมักชีวภาพเพื่อเร่งให้เกิดการย่อยสลายได้ดีขึ้น

หลายคนเข้าใจว่าการทำปุ๋ยหมักใช้เองต้องเตรียมอุปกรณ์ยุ่งยากและใช้พื้นที่มาก แต่ความเป็นจริงแล้วเราสามารถนำเศษอาหาร เปลือกผลไม้ เปลือกไข่ เศษผัก กิ่งไม้ ใบไม้ และเศษซากวัชพืชมาทำปุ๋ยได้ โดยใช้ร่วมกับปุ๋ยคอกและอุปกรณ์ในครัวเรือนที่หาได้ง่าย แค่มีการจัดการที่ดี ทั้งเรื่องสัดส่วนของวัสดุที่นำมาทำปุ๋ยหมัก สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและกิจกรรมของจุลินทรีย์ เพียงเท่านี้ก็ได้ปุ๋ยหมักมาใช้ในเวลาไม่นาน แถมยังไม่ต้องซื้อด้วย ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยหมักในตะกร้า

ปุ๋ยหมักตะกร้า

แนะนำโดย อาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ปุ๋ยหมักตะกร้า

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

  • ตะกร้าหรือเข่ง แนะนำให้ใช้แบบที่เป็นพลาสติก เนื่องจากใช้งานได้นาน นำกลับมาใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ
  • ขยะอินทรีย์ที่เหลือจากการปรุงอาหารและทำสวน เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษวัชพืช เปลือกไข่ ฯลฯ
  • ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว มูลไก่ มูลหมู
  • จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุต่าง ๆ ให้เร็วขึ้น

วิธีทำ

Step 1 นำเศษใบไม้หรือหญ้าใส่ในตะกร้าให้สูงประมาณ 5 เซนติเมตร จากนั้นโรยทับด้วยปุ๋ยคอก อัตราใบไม้ 3 ส่วน มูลสัตว์ 1 ส่วน รดน้ำให้ชุ่ม ทำแบบนี้สลับกันจนเต็มตะกร้า หรืออาจนำเศษใบไม้ผสมกับมูลสัตว์ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วเทใส่ตะกร้าก็ได้

Step 2 ผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 20 มิลลิลิตร (4 ช้อนโต๊ะ) กับน้ำ 20 ลิตร

Step 3 รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยให้ชุ่มทุกวัน และรดกองปุ๋ยด้วยน้ำหมักชีวภาพ เช่น จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง (อัตราส่วนจาก Step 2) ทุก 7 วัน เพื่อช่วยเร่งการย่อยสลายให้เร็วขึ้น

Step 4 หมักทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน เมื่อครบกำหนดให้คว่ำตะกร้า เอาใบไม้แห้งข้าง ๆ ออก ผึ่งให้แห้งในที่ร่มแล้วเก็บปุ๋ยหมักใส่ถุงไว้ใช้ ส่วนใบไม้ที่ยังไม่เปื่อยก็เก็บไว้หมักรุ่นต่อไป

วิธีใช้ ปุ๋ยหมักที่ได้จะมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ลักษณะอ่อนนุ่มและเปื่อยยุ่ย ไม่มีกลิ่นเหม็นฉุน อาจมีหญ้าหรือเห็ดขึ้นบนกองปุ๋ยหมักได้ นำมาโรยในแปลงผัก อัตรา 2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

นอกจากหมักปุ๋ยในตะกร้า บางบ้านมีวงบ่อซีเมนต์ก็สามารถนำมาใช้ในการทำปุ๋ยหมักได้ ทำปุ๋ยหมักได้โดยใส่ใบไม้แห้งที่ย่อยแล้วลงในวงบ่อซีเมนต์จนสูงประมาณ 40 เซนติเมตร ตามด้วยเศษอาหารสูงไม่เกิน 30 เซนติเมตร แล้วใส่ใบไม้แห้งทับอีกครั้ง ระหว่างหมักกองปุ๋ยจะยุบตัวลง สามารถนำเศษอาหารและใบไม้แห้งที่ย่อยแล้วมาเททับเป็นชั้นได้เรื่อย ๆ แต่ต้องระวังไม่ให้เศษอาหารเลอะเทอะ เพราะจะมีแมลงวันมาตอม

ใช้เวลาประมาณ 30 วันก็ได้ปุ๋ยหมัก สามารถใช้พลั่วตักปุ๋ยที่อยู่ชั้นล่างของวงบ่อซีเมนต์ไปใช้งานได้เลย หลังจากตักปุ๋ยออกหมดแล้ว ควรนำวงบ่อซีเมนต์มาตากแดดทิ้งไว้สัก 7 วันจึงค่อยนำมาใช้อีกครั้ง

การทำปุ๋ยหมักวิธีนี้ควรทำบนดินที่ระบายน้ำได้ดี เพื่อให้น้ำจากเศษอาหารซึมลงในดินโดยไม่ไหลออกด้านข้างวงบ่อซีเมนต์

สำหรับใครที่หาภาชนะในการทำปุ๋ยไม่ได้ ก็สามารถกองเศษพืชบนพื้นดินจากนั้นโรยทับด้วยมูลสัตว์ อัตรา ใบไม้ 3 ส่วน มูลสัตว์ 1 ส่วน ทำแบบนี้สลับกันเป็นชั้น ๆรดน้ำภายนอกกองปุ๋ยให้ชุ่มทุกวัน และรดกองปุ๋ยด้วยน้ำหมักชีวภาพ เช่น จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงทุก 7 วัน เพื่อช่วยเร่งการย่อยสลายให้เร็วขึ้นหมักทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือนก็นำปุ๋ยมาใช้ได้

ศึกษาวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์รวมถึงเทคนิคการปลูกและบำรุงพืชผักง่าย ๆ สไตล์คนเมืองได้เพิ่มเติมในหนังสือ ปุ๋ยอินทรีย์ (ฉบับปรับปรุง) ผู้เขียน รองศาสตราจารย์มุกดา สุขสวัสดิ์ และหนังสือ Garden & Farm Vol.15 เกษตรในเมือง Urban Farming โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน

สั่งซื้อปุ๋ยอินทรีย์ (ฉบับปรับปรุง)

สั่งซื้อหนังสือ Garden & Farm Vol.15 เกษตรในเมือง Urban Farming

 

เรื่อง: อังกาบดอย

ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

มาทำความรู้จักคีย์โฮลปลูกผัก ทำปุ๋ยหมักจากขยะอาหาร

รวมสูตรน้ำหมัก&ปุ๋ยหมัก สำหรับปลูกผักปลอดสารพิษ