ช่วงนี้มีข่าวแว่วจากวงการต้นไม้ว่า กระแสการจัดสวนในตู้ปลากำลังมาแรง มีโอกาสเข้าเมืองทั้งทีต้องแวะมาดูตู้พรรณไม้น้ำสวยๆ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ กัน สวนตู้ไม้น้ำ
งานนี้มีชื่อว่า The Art of Thai Aquascape 2019 หรือนิทรรศการศิลปะตู้พรรณไม้น้ำของประเทศไทย ครั้งที่ 3 เราได้มีโอกาสพูดคุยกับแม่งานครั้งนี้คือคุณนิกร แซ่ตั้ง จึงทราบถึงจุดประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ขึ้น สวนตู้ไม้น้ำ
“จุดเริ่มก็คือเมื่อก่อนนักเลี้ยงมีการจัดตั้งชมรมผู้จัดพรรณไม้แห่งประเทศไทย (Aaqascaper Club of Thailand หรือ ACT) ซึ่งก็มีสมาชิกอยู่หลายคน พอระยะหลังก็ห่างๆ กันไป กิจกรรมก็ลดลง พวกเราก็อยากรวมกลุ่มกันอีกครั้งเพื่อจัดประกวดให้กับมือใหม่ก่อน ก็เลยตระเวนหาที่จัด หาสถานที่ก่อน และบังเอิญเป็นช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสวรรคต โปรเจคเลยหยุดไป ที่หอศิลป์เองก็ไม่มีกิจกรรมอะไร เงียบมาก หลังที่เราตระเวนหาสถานที่ก็มาชอบที่นี่เลยติดต่อเจ้าหน้าที่ไว้ เขาก็โอเคกับพวกเรามาก แล้วพื้นที่ก็มาก คิดว่าถ้าจัดประกวดมือใหม่อย่างเดียวคงไม่พอ เราก็เชิญนักจัดมืออาชีพมาร่วมกันจัดแสดง”
คุณนิกรเล่าว่า งาน The Art of Thai Aquascape ครั้งแรกเมื่อปี 2560 และบอกกับทุกคนว่า จะจัดประกวดเฉพาะมือใหม่เท่านั้น และจัดแสดงผลงานของนักเลี้ยงทุกคน ขอให้ทำให้เต็มที่ เพราะทุกคนคือศิลปินที่มีโอกาสมาจัดแสดงผลงานในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งทุกคนก็จัดกันมาสวยงามมาก บางคนก็ถือโอกาสนี้นำผลงานของตัวเองที่ไม่เคยเปิดเผยมาจัดแสดงให้ชมกัน จนทางหอศิลป์ อยากให้เปิดช่วงเวลานานขึ้น เพื่อต้องการให้ผู้ที่สนใจเข้ามาชมและร่วมกิจกรรมกัน ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จตามที่หวัง แม้ว่าจะมีมือใหม่ส่งประกวดกันไม่มากนัก
“แต่ละตู้ที่เห็นคือตู้ที่จัดไว้นานแล้ว เจ้าของยกมาจากบ้าน มาตกแต่งนิดหน่อย บางคนหลังหมดงานก็จะยกไปประกวดต่อก็มี ซึ่งเค้าจะเข้ามาดูแลให้สวยงาม เราจะมีผู้ดูแลให้ด้วย ส่วนตู้ที่จัดประกวดมือใหม่ถือว่า ปีนี้ประสบความสำเร็จมากมีผู้ส่งสมัครกันมาอย่างรวดเร็วจนเต็มเร็ว ซึ่งบางคนจัดได้สวยมาก”
สำหรับกติกาการจัดประกวดมือใหม่ คุณนิกร เล่าว่า จะให้ผู้สมัครมาจัดตู้เองที่นี่ เสียค่าสมัคร 1,200 บาท ทางทีมงานเราก็เตรียม ตู้เปล่า ดินปลูกไม้น้ำ ออกซิเจน และโคมไฟส่องไว้ให้ ที่เหลือหินต้นไม้และของตกแต่งอื่นๆ เขาต้องเตรียมมาเอง ส่วนโต๊ะตั้งทางทีมงานจะจัดซื้อให้ในราคาพิเศษ สิ่งสำคัญอีกประการคือ ผู้เข้าประกวดมือใหม่ ต้องไม่เคยได้รางวัลงานใดๆ อาจจะมีประสบการณ์การจัดมาไม่นานหรือจัดจนเชี่ยวชาญก็ได้ หลังจากประกวด ผู้สมัครจะได้ของกลับไปทั้งชุด เพื่อไปจัดเลี้ยงต่อ
“สังเกตดูว่าช่วงนี้คนหันมาสนใจธรรมชาติรักโลกมากขึ้น อยากให้ธรรมชาติมาอยู่ใกล้ๆ ตัว สวนตู้ปลาก็ใช้พื้นที่น้อยด้วย แล้วคนไทยส่วนใหญ่ชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว และมีสื่อที่ให้ความรู้เรื่องตู้พรรณไม้น้ำออกมาในโลกออนไลน์มากมาย จึงตอบโจทย์สำหรับคนยุคนี้”
คุณนิกรให้คำแนะนำสำหรับมือใหม่ว่า “สิ่งแรกก็คือ ที่ต้องถามตัวเองคือ ขนาดตู้ที่ต้องการและวางไว้ที่ไหนในบ้าน เช่นมีพื้นที่เล็ก อยากได้ตู้เล็ก ฉะนั้นเราก็ต้องเลือกตู้เล็กที่เหมาะสมกับที่เราต้องการ ขณะเดียวกันอุปกรณ์ที่ใช้ก็ต้องสัมพันธ์กับขนาดตู้นั้น แล้วอุปกรณ์แต่ละชนิดมีความสำคัญอย่างไร หลักๆ ก็คือ ระบบกรองที่ควรใช้ต้องมีคุณภาพดี เพื่อให้คุณภาพน้ำมีปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอกับการเจริญเติบโตของไม้น้ำและสัตว์น้ำ ซึ่งต้องสัมพันธ์กับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ ให้กับไม้น้ำด้วย เพราะทั้งออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ก็ต้องเพียงพอ สำหรับการเจริญเติบโตของพืช อีกเรื่องคือปริมาณแสงที่พืชต้องใช้ในการสังเคราะห์แสง ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น เดี๋ยวนี้เรามีหลอดไฟ LED ขนาดต่างๆที่ให้ผู้เลี้ยงเลือกใช้มากมาย อีกเรื่องก็คืออุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมซึ่งสัมพันธ์ก้บความชอบของไม้น้ำชนิดนั้นๆ ที่เราเลือกด้วย”
คุณนิกรแนะนำว่า คนส่วนใหญ่อยากได้ตู้ที่ดูแลง่ายๆ ไม่ต้องทำอะไรมาก ก็สามารถทำได้ แต่ต้นไม้ก็จะไม่ได้งามดังที่เราตั้งใจ ฉะนั้นการจัดตู้พรรณไม้น้ำ เราควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน ซึ่งในยุคนี้หาอ่านได้ง่ายใน เช่น เพจ ไม้น้ำมือใหม่ ซึ่งมีข้อมูลเหล่านี้มากมาย ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจหลักการมากขึ้น ส่วนรูปแบบการจัดก็แล้วแต่มุมมองทางศิลปะของเรา
หลังจากได้ชมตู้พรรณไม้น้ำในงานและได้พูดคุยกับผู้รู้แล้ว เริ่มทำให้อยากลองจัดตู้พรรณไม้น้ำบ้างแล้ว คุณนิกรเลยแนะนำว่า “ต้องแวะมาวันเสาร์ที่ 14 กันยายนนี้นะครับ เพราะ Mr. Takayuki Fukada นักจัดตู้พรรณไม้ชาวญี่ปุ่นที่เป็นแชมป์ระดับโลกมาสอนให้กับผู้สนใจที่นี่ฟรี ใครสงสัยอะไร แวะมาเลยครับ เราจัดที่ห้องนิทรรศการชั้น L ของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ หรือถ้าไม่สะดวกในวันเสาร์ มาวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่เราจะจัดแสดง ทางทีมงานได้เตรียมตู้เปล่าให้ผู้สนใจได้ทดลองจัดเหมือนกันครับ”
ถ้าใครอยากชมตู้พรรณไม้น้ำสวยๆ ที่เก็บมามาฝากกันให้ชมกันก่อน แต่ว่างแล้วต้องรีบแวะไปนะคะ รับรองว่าคุณจะได้ประสบการณ์ใหม่ๆ กับนักจัดตู้พรรณไม้น้ำระดับมือหนึ่งของเมืองไทยได้ค่ะ
เรื่อง วิฬาร์น้อย / ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย