นอกจากองค์ประกอบหลักที่สื่อให้เห็นใน สวนญี่ปุ่น อย่าง น้ำ หิน รั้ว ทางเดิน ตะเกียงหิน และอ่างหินแล้ว ต้นไม้นับเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งหลายคนที่อยากทำสวนญี่ปุ่น แต่ยังไม่มั่นใจในหลักการจัด ว่าควรวางต้นไม้อย่างไรดี
วันนี้เรามีคำตอบจากหนังสือ ” สวนญี่ปุ่น ในเมืองไทย” มาฝากกัน
1) ปลูกเป็นกลุ่ม สวนญี่ปุ่นไม่นิยมใช้ต้นไม้หลากหลายชนิดปลูกกระจายไปทั่วสวน แต่จะใช้พืชชนิดเดียวกันปลูกเป็นกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะมีความสัมพันธ์กันในเรื่องรูปร่างและรูปทรง เช่น ปลูกต้นบ๊วยหรือซากุระเป็นกลุ่มใหญ่ เมื่อถึงเวลาออกดอกในฤดูใบไม้ผลิ ก็จะได้เห็นความสวยงามของดอกที่มีจำนวนมาก
2) สูงต่ำอย่างเป็นจังหวะ ควรปลูกต้นไม้ให้มีความสูงแตกต่างกัน แม้จะเป็นพรรณไม้ชนิดเดียวกัน เพื่อสร้างมิติในสวนให้น่าสนใจ โดยตัดแต่งทรงพุ่มอย่างพิถีพิถันเพื่อควบคุมความสูง
3) สร้างฉากหน้าฉากหลัง ปลูกต้นไม้ที่สร้างมุมมองของสวนทั้งระยะใกล้และไกลตามสภาพพื้นที่ เช่นปลูกต้นไม้เป็นกลุ่มในบริเวณใกล้ตาและบนเนินสูงที่เห็นไกลออกไป
4) ทิ้งสเปซบ้าง ปลูกไม้ระดับสูงบริเวณด้านข้างหรือมุมของสวน โดยปล่อยให้บริเวณพื้นที่กลางสวนเป็นที่โล่ง เพื่อให้สวนดูกว้างใหญ่ขึ้น
5) สร้างจุดเด่นด้วยต้นไม้ ใช้ต้นไม้ต้นเดียวที่โดดเด่นเพื่อสร้างจุดเด่นในสวน เช่น ปลูกไม้ต้นขนาดใหญ่ที่ออกดอกสวยงามกลางสนามหญ้าเขียว หรือปลูกต้นไม้รูปทรงแปลกตากิ่งก้านโค้งงอเป็นกลุ่มริมบ่อน้ำเพื่อให้เกิดเงาสะท้อนสวยงามในน้ำ
6) เน้นสีเขียว สวนญี่ปุ่นจะใช้ไม้ดอกน้อยชนิด หากต้องการปลูกก็มักแยกโซนออกไป โดยปลูกเป็นกลุ่มหรือแปลงในพื้นที่เฉพาะเพื่อสร้างจุดสนใจ เช่น สวนไฮแดรนเยีย สวนกุหลาบ สวนไอริส เป็นต้น
7) มีพรรณไม้ที่สื่อถึงฤดูกาล ปลูกพรรณไม้ที่ผลัดใบบ้างเพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง สีของใบหรือดอกแสดงถึงฤดูกาลที่เปลี่ยนไปในรอบปี สีใบที่เปลี่ยนจากเขียวเป็นส้มหรือแดงนั้น จะช่วยแต่งแต้มให้สวนมีสีสันที่น่าสนใจ เช่น เมเปิ้ลที่ใบเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือแดง เมื่อปลูกอยู่ด้านหน้าต้นที่ไม่ผลัดใบจะให้สีตัดกันสวยงาม หรือจะเลือกปลูกต้นที่ให้ดอกสะพรั่งตามฤดูกาล อย่าง ศรีตรัง อินทนิล กัลปพฤกษ์ ในมุมใดมุมหนึ่งของสวนเขียวๆก็ได้
8) ใช้ไผ่เป็นฉากหลัง สวนญี่ปุ่นมักปลูกไผ่ริมกำแพงเพื่อกำหนดขอบเขต หรือเป็นฉากหลังของสวน แต่ข้อจำกัดสำหรับสวนตามบ้านที่เรามักเจอ ก็คือ ไผ่มักใบร่วงเก่ง หากไม่มีแรงงานเก็บกวาดมาก ก็อาจเลี่ยงมาปลูกในมุมเล็กๆ หรือเลือกใช้พรรณไม้ที่มีลักษณะใบใกล้เคียงกัน อย่าง จั๋งจีน จั๋งญี่ปุ่น ปาล์มไผ่ นอกจากนี้การปลูกต้นไผ่ขนาดเล็ก อย่าง ต้นไผ่เงินแคระเป็นไม้คลุมดินก็สร้างบรรยากาศได้เช่นกัน
9) พิถีพิถันกับไม้ริมตลิ่ง เลือกใช้ไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีใบสวยงามสะดุดตาปลูกบริเวณริมตลิ่งของบ่อหรือสระน้ำเพื่อสร้างจุดเด่น แต่ควรหมั่นตัดแต่งและควบคุมทรงพุ่มอยู่เสมอไม่ให้รก
10) ทดแทนหญ้าด้วยมอสส์และหนวดปลาดุก ลองใช้มอสส์หรือหนวดปลาดุกแคระปลูกคลุมดินแทนหญ้าบริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือปลูกร่วมกับสวนหิน จะช่วยให้สวนมีบรรยากาศแบบดั้งเดิม แต่หากเลือกปลูกมอสส์ควรติดตั้งระบบพ่นหมอก เพื่อเพิ่มความชื้นให้เพียงพอ หากไม่มีอาจเลือกปลูกหนวดปลาดุกแคระแทนได้
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับ 10 ข้อควรรู้ในการเลือกใช้พรรณไม้ให้ได้บรรยากาศแบบสวนญี่ปุ่น สำหรับผู้สนใจลองนำหลักการเหล่านี้มาปรับใช้กับสวนกันได้
ในหนังสือ “สวนญี่ปุ่นในเมืองไทย” ยังมีความรู้อีกมากมายเกี่ยวกับหลักการจัดสวนญี่ปุ่น การจัดวางองค์ประกอบอื่นๆ อย่าง หิน ทางเดิน รั้ว อ่างหิน ฯลฯ ตัวอย่างสวนสวยและพรรณไม้ต่างๆในเมืองไทยที่เหมาะใช้กับสวนญี่ปุ่น ใครกำลังมองหาพรรณไม้มาปลูกในสวนและอยากสร้างบรรยากาศสวนญี่ปุ่น พลาดไม่ได้ค่ะ
ข้อมูล : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ พิชกรรม
เรียบเรียง “ทิพาพรรณ”
ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย