เมื่อตั้งใจจะทำหนังสือ My Little Home Vol.2 บ้านเล็กอยู่สบายในต่างจังหวัด นั้น จังหวัดหนึ่งที่พวกเราทีมงานปักหมุดเดินทางไปก็คือเชียงใหม่ และที่นี่คือหนึ่งในจุดหมาย“ไปยาลน้อย เกสต์โฮม” ที่เราอยากใครคุณลองมาสักครั้ง บ้านหลังเล็ก
ไปยาลน้อย เกสต์โฮม คือที่พักเล็ก ๆ ภายในซอยวัดอุโมงค์ มีจำนวนห้องพักเพียง 4 ห้องเท่านั้น ความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้คือจังหวะเวลาที่ผ่อนช้าลงอย่างไม่รู้ตัว ด้วยบรรยากาศที่ชวนให้อยากนั่งดื่มด่ำไปกับความสงบรอบ ๆ และหยิบหนังสือเล่มโปรดออกมาอ่านแบบละเมียดละไม บ้านหลังเล็ก
จากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อนหลากหลายอาชีพทั้ง 12 คน คือ เก็ท จ๋า กุ้ง จิน อ๋อย แป้ม ต้อม นก เลี่ยว เอ้ นิว และมิ้ม บางส่วนคือชาวเวิ้งมาลัยคอมูนิตี้งานคราฟต์ที่อยู่ข้างกัน บ้างเป็นเจ้าของร้านหนังสือ โปรดิวเซอร์ กราฟิกดีไซเนอร์ ฯลฯ แม้จะต่างอาชีพแต่ด้วยทักษะเฉพาะและความถนัดของแต่ละคน กลับกลายมาองค์ประกอบที่ลงตัวในการค่อยๆสร้างที่พักแห่งนี้ขึ้นมา
“ช่วยกันดูตั้งแต่วางตำแหน่งห้อง พื้นที่การใช้งาน คนที่มีประสบการณ์การท่องเที่ยวก็จะให้ไอเดียว่าห้องควรมีขนาดเท่าไหร่ ผังห้องเป็นแบบไหนเพื่อให้ใช้สอยได้พอดีสำหรับแขกที่มาพัก ขณะที่อีกคนทำหน้าที่ออกแบบและเขียนแบบเบื้องต้นคร่าว ๆ ก่อนจะนำไปติดต่ออบต.ให้สถาปนิกเขียนแบบก่อสร้างอย่างละเอียดอีกครั้ง”
กลิ่นอายของบ้านที่แฝงความชนบทที่ดูเก๋แบบมีรสนิยม เลือกใช้ไม้เก่าป็นหลักทั้งประตู หน้าต่าง ช่องลม และช่องแสงต่าง ๆ จากร้านทั้งในเชียงใหม่และลำปาง ราคาทั้งหมดไม่ถึงสองหมื่นบาท แต่ราคาที่ถูกมากก็ต้องแลกมาด้วยสภาพที่ค่อนข้างเก่าและทรุดโทรม ต้องนำมาทำสีและซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดใหม่ ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเพราะต้นทุนที่ถูกตั้งแต่แรก ทั้งยังเป็นงานไม้ยุคเดิมที่หาลวดลายแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว แน่นอนว่าการเลือกใช้ของเก่าเป็นหลักนั้นทำให้ไม่สามารถลงรายละเอียดในแบบก่อสร้างแต่แรก ดังนั้นเมื่อได้ของทั้งหมดมาแล้วจึงต้องหาตำแหน่งให้เหมาะสมอีกครั้งหน้างาน โชคดีที่มีสล่ารู้ใจและทำงานด้วยกันมานาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ขั้นตอนการก่อสร้างเป็นเรื่องง่าย และรวดเร็ว
“ตอนที่ซื้อประตูหน้าต่างเราซื้อมาครั้งเดียวให้ครบหรือเกินมานิดหน่อย ที่ต้องเกินคือเห็นแล้วเสียดายต้องเอามาทำอะไรสักอย่าง แล้วค่อยเอามาลงว่าตรงไหนเหมาะ เรารู้สึกว่ามันสนุกตรงที่เราได้ของมาแล้วค่อยมาจับให้เข้าที่อีกที”
ภายในห้องพักให้ความรู้สึกเหมือนได้ย้อนไปในอดีต ด้วยลวดลายและรูปแบบของงานไม้แท้ๆ ดั้งเดิม รวมทั้งรูปแบบเหล็กดัดซึ่งพบเห็นไม่มากนักในยุคนี้ จากองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างทำให้สามารถคุมงบประมาณในการสร้างได้ตามต้องการในราคาทั้งหมดไม่ถึงสองล้านบาท
ไปยาลน้อย เกสต์โฮม ประกอบด้วยกลุ่มอาคาร 4 หลัง บนพื้นที่ 80 ตารางวา หลังแรกคือเรือนรับรองมีผนังไม้พร้อมประตูลูกฟักเก่า 6 ชุด นำมาทำสีใหม่ติดตั้งเป็นผนังอาคาร ส่วนที่พักแยกเป็นบ้าน 3 หลัง ทั้งหมด 4 ห้อง ตั้งชื่อตามสีของบ้านได้แก่ Green Tale , Blue Planet , White Jasmine และ Brown Balcony แต่ละห้องกว้างขวางอยู่สบาย เพราะคิดคำนวณมาให้ใช้งานพอเหมาะสำหรับนักเดินทางที่วางกระเป๋าใบใหญ่ได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด มีมุมนั่งเล่นทั้งด้านในและด้านนอก
สำหรับชื่อไปยาลน้อย เป็นชื่อที่ทุกคนเห็นพ้องกันว่าลงตัวมากที่สุด เครื่องหมายย่อคำ “ฯ” เพื่อให้เขียนสั้นลง การมีต่อ หรือแม้แต่การถูกละไว้นี้อาจจะตีความไปแตกต่างกันไปแล้วแต่นิยามของแต่ละคน การมาที่นี่บางทีอาจจะหมายถึงการละวางเรื่องต่าง ๆเอาไว้ ผ่อนคลายไปกับสถานที่ให้มากที่สุด และกลับมาอยู่กับตัวเองแบบเรียบง่ายและมีความสุขก็เป็นได้
“งบที่เรามี และความรู้สึกของทุกคนมันไม่ไปถึงโรงแรมอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้รู้สึกเป็นบ้านเหมือนมาบ้านเพื่อน แต่ไม่ใช่เพื่อนในระดับมีอะไรก็อยู่ก็กินไป แต่เป็นบ้านง่าย ๆสบาย ๆมีเครื่องอำนวยความสะดวกให้เต็มที่”
“คำว่าธุรกิจกับพวกเรามันห่างไกล แต่เราต้องการจะทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือกันในบั้นปลายชีวิต เป็นรูปแบบกึ่งสหกรณ์ รายได้อาจจะไม่มากนักแต่ก็สามารถเป็นดอกเบี้ยในอนาคตกลับมาเอาไว้ใช้ดูแลกันได้”
การวางตำแหน่งตัวบ้านให้ความสำคัญกับทิศทาง เน้นแสงธรรมชาติมาเป็นส่วนประกอบของอาคาร แต่ละห้องจึงมีแสงแดดลอดผ่านหน้าต่างและเหล็กดัดปรากฏลวดลายสวยตกกระทบลงบนพื้น มีการเพิ่มช่องแสงในจุดอับ ส่วนในห้องน้ำเลือกใช้ช่องแสงบานใหญ่และติดมุ้งลวดช่วยระบายอากาศ แสงสวย ๆในห้องที่เห็นขนาดที่ว่าลูกค้าชาวเกาหลีท่านหนึ่ง ที่เป็นสถาปนิกเอ่ยปากว่าต้องนั่งรอถ่ายรูปแสงในแต่ละวัน แต่ละช่วงเวลา และเล่าว่าที่เกาหลีนั้นการออกแบบแสงธรรมชาติแบบนี้ราคาสูงมาก
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจคืออาหารเช้าแบบโฮมเมด จากความใส่ใจในการลงมือปรุงทุกจานด้วยตัวเองของคุณจ๋า แขกที่มาพักหลายวันจะได้ทานอาหารไม่ซ้ำกัน และเพราะข้อจำกัดของพื้นที่ มุมอาหารเช้าของไปยาลน้อยจึงขยับมาใช้ครัวและส่วนรับประทานอาหารของร้านเปเปอร์สปูนบริเวณเวิ้งมาลัย ที่อยู่ติดกัน เป็นยามเช้าสบาย ๆ ในสวนที่พอเหมาะพอดีโดยไม่ต้องสร้างครัวเพิ่มเลย
- การเลือกใช้องค์ประกอบในการออกแบบบ้านจากของเก่า ไม่ว่าจะเป็นประตู หน้าต่าง ฯลฯ เป็นอีกแนวทางการออกแบบบ้านที่ยั่งยืนจากการที่ไม่ต้องผลิตขึ้นมาใหม่ จึงไม่ต้องใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ลองมองหาของเก่าจากบ้านเดิม หรือของที่ไม่ใช้แล้วมาดัดแปลง อาจจะไปลองเลือกตามร้านมือสองก็ได้
- ใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่เพียงแต่ทำให้ภายในห้องสว่างโดยไม่ต้องเปิดไฟ แต่แสงสวยๆที่ผ่านช่องเปิดต่าง ๆ ยังเป็นเหมือนของตกแต่งชั้นดีอีกด้วย
- เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์เก่าที่สะสมไว้ เฟอร์นิเจอร์จากบ้านเดิม รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์มือสองราคาถูกมาใช้แบบประหยัดงบ ทั้งยังได้ของสวย ๆแบบที่ชอบ
ไปยาลน้อย (PAI YAN NOI GUESTHOME)
FB: Pai Yan NoiGuesthome
IG: Paiyannoi_ Guesthome
E-mail: [email protected]
โทรศัพท์ : 081-847-5805 ,061-423-2945
สถานที่ : ไปยาลน้อย เกสต์โฮม จ.เชียงใหม่
เรื่อง : วรัปศร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ