ระบบน้ำหยดเพื่อการเกษตร ทำเองได้ช่วยประหยัดน้ำในช่วงหน้าแล้ง

ระบบน้ำหยด หรือ Drip Irrigation System เป็นวิธีการสู้ภัยแล้งที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง ทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับตั้งเวลาและปริมาณน้ำได้เเบบอัตโนมัติ หรือจะผสมปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชลงไปในระบบน้ำหยดก็ได้

ที่สำคัญ ระบบน้ำหยด สามารถประกอบเเละติดตั้งได้เองเเบบง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก ด้วยงบประมาณที่ไม่สูงจนเกินไป จึงนับว่าคุ้มค่าคุ้มราคากับการลงทุนจริง ๆ

เมื่อทราบถึงข้อดีเหล่านั้นเเล้ว จึงอยากพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปดูวิธีการประกอบเเละติดตั้ง ระบบน้ำหยดเพื่อการเกษตร ในงบประมาณ 20,000 บาท ที่ไม่เพียงแค่สู้ภัยแรงได้ แต่ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสวนกระถาง หรือในพื้นที่ที่ดินไม้อุ้มน้ำ เพื่อช่วยเเก้ปัญหาภาคการเกษตรได้ดีอีกวิธีหนึ่งทีเดียว

ระบบน้ำหยด


การใช้งานในลักษณะต่าง ๆ

  • ใช้ให้น้ำในภาคการเกษตร โดยอาจประยุกต์กับเครื่องตั้งเวลา หรือทำระบบเปิด-ปิดปั๊มจากที่ไกล ๆ ได้ เพื่อความสะดวกสบายของเกษตรกร
  • สามารถประยุกต์ใช้กับการให้ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ ได้
  • ช่วยเแก้ปัญหาพื้นที่ที่ดินไม่กักเก็บน้ำ ดินแห้ง หรือไม่อุ้มน้ำ ให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา
  • สามารถประยุกต์ใช้กับการให้น้ำต้นไม้ในสวน หรือไม้กระถางได้ดี

ข้อดี

  1. ประหยัดเวลา
  2. สามารถกำหนดเวลาและปริมาณน้ำได้
  3. สามารถทำได้ง่ายกว่าระบบพ่นหมอก เพราะระบบน้ำหยดไม่ต้องอาศัยแรงดันน้ำมากนัก
  4. จากข้อ 3 จึงทำให้มีราคาย่อมเยากว่าในการใช้งานต่อพื้นที่ที่เท่ากัน
ระบบน้ำหยด

อุปกรณ์ต่าง ๆ

  1. ถังน้ำขนาด 2,000 ลิตร
  2. ถังน้ำขนาด 200 ลิตร
  3. ปั๊มหอยโข่ง 1 นิ้ว ขนาด 0.5 แรงม้า
  4. บอลวาล์ว ประมาณ 10 ตัว เพื่อปรับแรงดันในแต่ละช่วงของข้อต่อ
  5. ท่อพีวีซี 1.5 นิ้ว สำหรับเดินระบบถังสูบและจ่ายน้ำเข้าสู่ท่อน้ำหยด
  6. ท่อกรองน้ำเกษตร สำหรับกรองหยาบก่อนส่งน้ำเข้าท่อน้ำหยด
  7. เทปน้ำหยด เลือกระยะรูน้ำหยดตามลักษณะของพืชเเละการปลูก
  8. วาล์วน้ำหยด สำหรับต่อเทปน้ำหยด
  9. ผ้าพลาสติกดำ

ขั้นตอนการประกอบเเละติดตั้ง

ระบบน้ำหยด

1 I เทปูนในส่วนที่จะวางถังน้ำ โดยทำเป็นแท่นให้ถัง 2,000 ลิตร อยู่สูงขึ้นไปด้านบน ก่อนจะวางถัง 200 ลิตร ไว้ที่ด้านล่าง โดยฐานปูนจะช่วยไม่ให้เกิดการทรุดตัว เนื่องจากน้ำหนักของน้ำที่มีมาก ส่วนถัง 200 ลิตร ที่อยู่ด้านล่าง มีไว้เพื่อพักน้ำก่อนจ่ายสู่เครื่องสูบน้ำ และใช้สำหรับผสมปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช

2 I เดินระบบสูบน้ำเข้าไปสู่ถังทั้งบนและล่างให้เป็นระบบหมุนเวียน โดยใช้ปั๊มหอยโข่งขนาด 0.5 แรงม้า เดินท่อ 1 นิ้ว ระหว่างถังน้ำทั้งสองตามภาพ และประกอบบอลวาล์วไว้ทุกช่วงของข้อต่อ เพื่อควบคุมแรงดันในท่อให้สม่ำเสมอเเละเหมาะสม

3 I เดินท่อจากถัง 2,000 ลิตร โดยผ่านข้อต่อกรองน้ำเกษตรเสียก่อน แล้วจึงเดินท่อต่อไปจนสุดบริเวณแปลงผัก และต่อวาล์วน้ำหยดก่อนติดตั้งเทปน้ำหยดไปตามแนวแปลกปลูก ระยะห่างระหว่างเเต่ละรูจะแตกต่างกันไปตามชนิดพืชที่เราปลูก เช่น เเปลงข้าวโพด ควรกำหนดรูน้ำหยดให้ห่างกันทุก ๆ 20 เซนติเมตร พืชล้มลุกอื่น ๆ อาจปรับเป็น 30 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นพืชกอใหญ่ควรห่างกัน 6o เซนติเมตร ทั้งนี้อาจเลือกใช้ท่อ PE แล้วนำมาเจาะรูเองก็ได้ตามสะดวก

4 I หากต้องการระบบอัตโนมัติอาจใช้วิธีติดตั้ง Timer ไว้กับแหล่งจ่ายไฟของเครื่องสูบน้ำ เเละถ้าต้องการกำจัดวัชพืชรอบ ๆ แปลงปลูก ให้ใช้พลาสติกคลุมดินสีดำทำการคลุมรอบแปลงปลูก โดยเว้นโคนต้นเอาไว้ นอกจากจะช่วยไม่ให้หญ้าขึ้นเเล้ว วิธีนี้ยังช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดีอีกด้วย

ซึ่ง ระบบน้ำหยด เพื่อการเกษตรทั้งหมดนี้ สามารถประกอบติดตั้งได้ในงบประมาณไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับแปลงปลูกขนาดไม่เกิน 1 ไร่ และสามารถมีอายุการใช้งานได้ราว ๆ 5-10 ปีเลยทีเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของระบบท่อต่าง ๆ ที่เลือกนำมาใช้นั่นเอง

เรื่อง และ ภาพประกอบ  : วุฒิกร สุทธิอาภา

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm

สปริงเกลอร์ ตัวช่วยสำคัญในช่วงฤดูร้อน