เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพืชที่ปลูกนั้นมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ เบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากความผิดปกติที่แสดงออกมาจากส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช ได้แก่ ใบ ยอด ลำต้น กิ่งก้าน ดอก ผล และระบบราก เป็นต้น
- โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
- โรคพืชที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
- โรคพืชที่เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา
- โรคพืชที่เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อไวรอยด์
- โรคพืชที่เกิดจากไส้เดือนฝอย
ซึ่งนอกจากการขาดธาตุอาหารแล้ว ยังมีเชื้อสาเหตุโรคชนิดต่าง ๆ ที่สร้างความเสียหายไม่น้อย หากเรารู้ทันโรคพืชเหล่านี้ ก็จะสามารถหาวิธีจัดการได้อย่างทันท่วงที ผลผลิตที่ดีก็ย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม โรคพืช

พืชที่เป็นโรคหรือโรคพืช หมายถึง พืชที่ถูกรบกวนโดยจุลินทรีย์สาเหตุโรคพืชต่าง ๆ หรือปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เป็นเหตุให้กิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ถูกรบกวน เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือถูกยับยั้ง ทำให้เซลล์ผิดปกติหรือตายไป ส่งผลให้พืชแสดงอาการของโรค



สำหรับโรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตหรือโรคติดเชื้อ โรคจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง นั่นคือ พืชอาศัย เชื้อสาเหตุ และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตแพร่จำนวนและเข้าทำลาย ก่อให้เกิดโรคกับพืชของเชื้อนั้น เมื่อทั้ง 3 องค์ประกอบนี้มาพบกันจะทำให้เกิดโรคขึ้น โดยมีความรุนแรงตามระยะเวลาที่ทั้ง 3 องค์ประกอบมาอยู่ร่วมกัน
ลักษณะอาการของโรคพืชจะแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อสาเหตุและพืช บางโรคอาจมีลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนจัดการโรคพืชนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อต้นพืชและผลผลิต มาทำความรู้จักอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อสาเหตุต่าง ๆ กัน
โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
ส่วนใหญ่พืชเกิดอาการโรคแบบเฉพาะที่ โดยมักพบเชื้อราหรือส่วนของเชื้อราอยู่บริเวณแผลที่เกิดโรคหรือพื้นผิวพืช เช่น เส้นใยสปอร์หรือโครงสร้างห่อหุ้มสปอร์ โรคที่เกิดจากเชื้อราหลายโรคสามารถมองเห็นส่วนของเชื้อราได้ด้วยตาเปล่า เช่น โรคราน้ำค้าง โรคราแป้ง โรคราเขม่าดำ โรคราสนิม โรคราดำ และโรคเหี่ยวหรือเน่าจากเชื้อรา Sclerotium sp. เป็นต้น
โรคที่เกิดจากเชื้อราบางโรคอาจต้องใช้แว่นขยายช่วยในการสังเกต เช่น โรคใบจุด โรคใบไหม้ และโรคแอนแทรคโนส เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกิดอาการแบบแพร่กระจายซึ่งส่วนมากจะเป็นโรคที่ระบบรากหรือท่อน้ำท่ออาหารพืช เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคเหี่ยว เป็นต้น




โรคพืชที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
เป็นโรคที่ไม่สามารถมองเห็นเชื้อสาเหตุได้ด้วยตาเปล่า อาการของโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจะมีทั้งที่เป็นแบบเฉพาะที่และแบบแพร่กระจาย ซึ่งระยะเริ่มต้นจะพบอาการที่บ่งบอกว่าอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ อาการฉ่ำน้ำของเซลล์พืช แผลจากโรคอาจมีของเหลวขับออกมา ซึ่งเป็นหยดเชื้อแบคทีเรียเกาะอยู่บริเวณแผลในสภาพที่อากาศมีความชื้นสูงในตอนเช้าหรือตอนเย็น
ตัวอย่างโรคพืชที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ โรคแคงเกอร์ โรคใบจุด โรคใบจุดนูน โรคเหี่ยว โรคใบไหม้ และโรคเน่าเละ เป็นต้น



โรคพืชที่เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา
เป็นโรคที่ไม่สามารถมองเห็นเชื้อสาเหตุได้ด้วยตาเปล่า โรคนี้ทำให้เกิดอาการแบบแพร่กระจายโดยมีอาการโรคที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ใบขาว ดอกเขียว และพุ่มแจ้หรือพุ่มฝอย เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น อาการใบเหลือง อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัย



โรคพืชที่เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อไวรอยด์
เป็นกลุ่มเชื้อสาเหตุโรคที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เชื้อไวรัสส่วนใหญ่ทำให้พืชเกิดอาการแบบแพร่กระจาย โดยอาการจะเกิดที่ส่วนยอดของพืชก่อน โดยมีอาการโรคที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ใบด่าง จุดวงแหวน และใบหงิกเหลือง เป็นต้น ส่วนเชื้อไวรอยด์ทำให้พืชเกิดอาการแคระแกร็น เซลล์ตาย อาการยางไหล ใบจุดเหลืองซีด ขนาดดอกหรือผลผิดปกติ และต้นโทรม เป็นต้น
ในการระบุว่าพืชนั้นเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสหรือไวรอยด์หรือไม่ ต้องนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ หรืออาจใช้ชุดตรวจทดสอบที่จำเพาะต่อเชื้อสาเหตุจึงจะสามารถระบุได้


โรคพืชที่เกิดจากไส้เดือนฝอย
ไส้เดือนฝอยโรคพืชจัดเป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุของโรคพืชที่อาจสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าภายใต้แว่นขยาย เช่น ไส้เดือนฝอยรากปมเพศเมีย เป็นต้น ถ้าเป็นไส้เดือนฝอยวัยอื่นจะต้องตรวจสอบภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอจึงจะสามารถมองเห็นได้ ไส้เดือนฝอยเป็นศัตรูพืชที่เข้าทำลายระบบรากพืช ส่วนใหญ่ทำให้เกิดอาการรากบวมเป็นปุ่มปมหรือเป็นแผล ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตผิดปกติที่ส่วนเหนือดินตามมา เช่น แคระแกร็น ต้นโทรม และใบเหลือง เป็นต้น

เมื่อเราสามารถวินิจฉัยอาการของโรคจนรู้ว่าน่าจะเกิดจากเชื้อสาเหตุชนิดใดแล้ว ก็หาข้อมูลรายละเอียดคุณสมบัติของเชื้อโรคและการแพร่ระบาด เพื่อนำไปสู่การวางแผนป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอ่านได้เพิ่มเติมในหนังสือ รู้ทันโรคพืช คู่มือดูแลสุขภาพต้นไม้ด้วยตัวเอง
สั่งซื้อหนังสือที่นี่
เรื่องและภาพ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียง : อังกาบดอย