ความจริงจังของสถาปนิกที่เลี้ยงไก่กว่า 100 ตัว

ในภาพจำ คุณป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ คือสถาปนิกหญิงผู้มากความสามารถ ซึ่งฝากผลงานกับเว็บไซต์บ้านและสวนมาแล้วมากมาย ในชื่อ CASE Studio เน้นงานออกแบบที่พ่วงท้ายด้วยคำว่า “ชุมชน” เพื่อสังคมส่วนรวม รวมถึงยึดโยงความเรียบง่ายในการใช้ชีวิตเข้ากับงานออกแบบ โดยสะท้อนผ่านบ้านพักอาศัยที่เธอออกแบบเอง

แต่นอกจากภาพจำที่เล่าไป ความเรียบง่ายและเป็นกันเองของคุณป่องได้ถูกไฮไลต์ให้ชัดขึ้น เมื่อเราได้มาเยือน กรงไก่ ในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่เธอได้ซุ่มทำแบบ(ไม่)เงียบ นั่นคือการเลี้ยงไก่กว่า 100 ตัว ในเล้าไก่ที่ออกแบบเอง

เรามาเยือนที่ดินผืนกว้างกว่า 2 ไร่ หลังโครงการมิโนะบุรี คอมมูนิตี้ภายใต้การดูแลของคุณป่องซึ่งได้รับการออกแบบขึ้นสำหรับรองรับไลฟ์สไตล์ของเด็กรุ่นใหม่ โดยมีกิจกรรมนันทนาการที่หลากหลายทั้งดนตรีและกีฬา ขณะที่ส่วนด้านหลังที่เรายืนอยู่นี้ คุณป่องเล่าว่าครั้งหนึ่งเธอเคยเปิดให้สมาชิกได้เข้ามาจับจองพื้นที่สำหรับปลูกผักสวนครัว แต่โครงการนี้กลับไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจังเท่าไหร่  เมื่อมีคนจองแต่ไม่มีใครเข้ามาใช้พื้นที่ปลูกผักตามที่ตั้งใจไว้ กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้สถาปนิกท่านนี้ ถือโอกาสบรรจุอาชีพใหม่อย่าง “เกษตรกร” ให้กับตนเองไปโดยปริยาย ด้วยการลงมือปลูกผักและเลี้ยงไก่ไว้เก็บไข่รับประทานเองในครัวเรือน และใช้พื้นที่นี้เป็นโซนทำกิจกรรมในชื่อ “แปลงผักปลอดสารและบ้านสัตว์ปีก (Allotment & Farm)

กรงไก่

เกษตรกรมือใหม่ ผู้เริ่มต้นแบบไม่รู้จักไก่เลย

เราขอเท้าความย้อนหลังไปถึงจุดเริ่มต้นในการทำฟาร์มไก่สไตล์สถาปนิก ซึ่งเป็นเหมือนโลกคนละใบกับงานประจำที่คุณป่องทำอยู่ นี่จึงนับเป็นก้าวใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

“อยากเลี้ยงไก่มานานแล้ว แต่ไม่เคยเลี้ยงมาก่อนเลยในชีวิต เราเริ่มต้นจากการไปเสิร์ชหาฟาร์มไก่ใกล้บ้านว่าจะหาซื้อแม่พันธุ์มาจากที่ไหน ซึ่งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไก่ไข่ต้องเลี้ยงอย่างไร ตอนไปซื้อไก่ก็ถามคนขายว่าพี่จะเลี้ยงไก่ต้องเลี้ยงยังไง เขาแนะนำให้ซื้อแบบตัวโตพร้อมไข่ไปเลย เราเองก็กลัวว่าถ้าเลี้ยงลูกเจี๊ยบแล้วจะไม่รอด เลยซื้อตัวโตมาเลี้ยง ตอนนั้นยังมีเรื่องตลก ๆ คือ เราถามคนขายว่าต้องเลี้ยงไก่ตัวผู้ด้วยไหม เพราะคิดว่าไก่จะต้องผสมพันธุ์กันเพื่อออกไข่ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ต้องมีตัวผู้ก็ได้ ยังไงไก่ก็ต้องไข่อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีแอบถามเขาอีกว่าเพื่อความรื่นรมย์ของไก่จำเป็นต้องมีตัวผู้ไหม คนขายเขาก็แนะนำว่าไม่จำเป็น เพราะไก่ตัวผู้จะทำให้แม่ไก่เครียด และไม่ออกไข่ด้วยซ้ำ”

กรงไก่ เลี้ยงไก่ในเมือง เล้าไก่

กรงไก่ฉบับเร่งรัด

“กรงไก่หลังแรกให้เรียกว่าเป็นเวอร์ชั่นทดลองแบบรีบ ๆ เพราะตั้งใจจะแอบเลี้ยงเงียบ ๆ ไม่ได้บอกญาติ ๆ โดยให้คนงานมาปักเสารั้วเลย แล้วนำลวดตะแกรงมาพันปิดให้รอบ ส่วนที่ติดพื้นก็ขุดลงไปในดิน ฝังตะแกรงลงไปเพื่อไม่ให้ตัวอะไรมันขุดเข้ามาได้ แล้วก็ปิดหลังคาไว้ส่วนหนึ่ง เปิดโชว์ไว้ส่วนหนึ่ง เพราะคิดว่าควรจะต้องมีแดดประมาณนี้ ตอนแรกคิดจะเริ่มเลี้ยงแค่ 6 ตัว เราก็ทำกรงไก่ไว้รอเลยค่ะ แต่พอเขานำไก่มาส่ง ถึงรู้ว่าขนาดเล้าไก่ที่ทำไว้ สามารถเลี้ยงไก่ได้มากถึง 30 ตัวเลย ต่อมามีคนมาฝากเลี้ยง เราก็รับเพิ่มมาเป็น  10 กว่าตัว ต่อมาไก่ก็เริ่มออกไข่ แม้ทุกตัวจะไม่ได้ออกไข่ทุกวัน แต่ไข่ของเราก็มีเหลือแบบพอกิน ไม่มีหมด จนกระทั่งผ่านมาสักระยะก็มีคนมาขอซื้อ กลายเป็นว่ามีไข่ไม่พอขาย  เลยต้องขยับเพิ่มจำนวนไก่มากขึ้น จนตอนนี้เลี้ยงไก่เกือบ 100 ตัว แล้ว”

กรงไก่ เลี้ยงไก่ในเมือง

“เมื่อมีไก่มากขึ้น กรงไก่เฟส 2 จึงเกิดขึ้นตามมา ซึ่งก็เริ่มรู้แล้วว่าลวดกรงไก่ที่สั่งซื้อมาในรอบแรกนั้นไม่ทนทาน ผุพังเร็วมาก เลยเปลี่ยนเป็นตะแกรงเหล็กตัวหนอนแบบที่ใช้สำหรับทำรั้ว ช่วยให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ร่วมกับเศษวัสดุที่เหลือจากงานก่อสร้างและงานรับเหมา เช่น แผ่นเมทัลชีท ด้วยการนำมามุงหลังคาช่วยให้ดูจริงจังขึ้น ให้ไก่ชุดเก่าให้อยู่กรงแรก แล้วนำไก่พันธุ์ไฮบริดมาเลี้ยงไว้ในกรงใหม่ ตอนนี้ก็เริ่มออกไข่แล้ว”

กรงไก่

เล้าไก่หลังเล็กให้ไก่ออกไข่

“พอกรงไก่เสร็จสิ้น ก็คิดได้ว่าควรมีที่ให้ไก่ออกไข่ จึงออกแบบเล้าไก่หลังเล็ก ๆ อันนี้ โดยได้ใช้ความรู้ด้านสถาปัตย์ผสมผสานกับความรู้จากประสบการณ์ด้านการเลี้ยงไก่ที่ฝึกฝนมา รุ่นแรกที่ทำออกมาปรากฏว่ามันเตี้ยไป เลยยกให้เป็ดอยู่ แล้วพัฒนามาเป็นรุ่นใหม่ที่มีคอนให้ไก่สามารถเกาะนอนได้  มีรังที่รองฟางให้ไก่ออกไข่ และสามารถเปิดหลังคาออกได้ช่วยให้เก็บไข่จากรังฟักไข่ได้สะดวก”

เล้าไก่ ในเมือง
“Urban Chick” กรงไก่สำเร็จรูปออกแบบโดย case studio

ความสำเร็จจากการสร้างเล้าไก่หลังเล็ก ต่อยอดมาเป็น “Urban Chick” เล้าไก่สำเร็จรูป ที่ออกแบบจากพฤติกรรมของไก่ไข่ ทำจากวัสดุไม้จริงที่มีดีไซน์สวยงามทันสมัย ซึ่งสามารถใช้ตกแต่งบ้านได้ เหมาะกับคนเมืองที่อยากเลี้ยงไก่ แต่มีพื้นที่จำกัด มาพร้อมฟังก์ชันซึ่งเป็นทั้งกล่องใส่อาหาร กล่องใส่น้ำ และกล่องสำหรับวางไข่ ให้สามารถเก็บไข่ได้สะดวกทุกวัน

เล้าไก่ ในเมือง
กล่องสำหรับไก่วางไข่และเก็บไข่ได้สะดวก

กลิ่นและความปลอดภัย

ศัตรูตัวร้ายที่คนเลี้ยงไก่ต้องระวังคงหนีไม่พ้น “งู” คุณป่องป้องกันด้วยการสร้างเล้าไก่ให้มิดชิดโดยใช้ตะแกรงลวดขึงรอบ ๆ ปิดตรงขอบดินไม่ให้เกิดรูหรือร่องที่งูจะเลื้อยเข้ามาได้ รวมถึงจุดต่าง ๆ อย่างหลังคาที่เลือกใช้วัสดุโปร่งแสง เพื่อให้ความมิดชิด แต่แสงส่องถึงได้ ส่วนปัญหาเรื่องกลิ่นที่เกิดจากมูลไก่ กำจัดและป้องกันได้ด้วยใช้น้ำยา EM โดยให้ลาดลงไปบนแกลบที่โรยรองพื้นให้ไก่ได้คุ้นเขี่ย พอสักพักจึงค่อยเก็บกวาดแกลบเก่าไปใส่ต้นไม้  ก่อนนำแกลบใหม่มาลง วิธีนี้สามารถช่วยดับกลิ่นมูลไก่ได้ดีทีเดียว เช่นเดียวกับฟางรองรังไก่ หลังจากฟางเริ่มยุบ สามารถนำไปใช้คลุมแปลงผักต่อได้ ช่วยให้ต้นไม้ได้ปุ๋ยจากมูลไก่ไปในตัว

เลี้ยงไก่ให้อะไรที่มากกว่าไข่

“จริง ๆ แล้วไก่เรื่องมันเยอะ ถูกละอองฝนก็ไม่ได้ ไข่เรี่ยราดทั้งวัน ฝนตกต้องรีบเก็บเข้ากรง อากาศเปลี่ยนก็ไม่ออกไข่ และต้องระวังงูเข้ามากินในเล้าอีก แต่เชื่อไหมการเลี้ยงไก่ทำให้เราเกิดความเพลิดเพลินมาก ไม่คิดว่าจะเพลินขนาดนี้ บางทีเซ็ง ๆ งานเยอะ เจองานแบบปวดกระบาล เรื่องนั้นเรื่องนี้มากมายไปหมด ก็หนีมานั่งในเล้าไก่ (หัวเราะ) ทำนั่นทำนี่อยู่ในเล้าไก่นี่แหละ จังหวะมันพอดีกับโควิด -19 ระบาด เมือง Lock Down ราคาไข่ไก่แพง ไข่ขาดตลาด แต่เรามีทั้งไข่เป็ดไข่ไก่เต็มไปหมด ก็เลยรู้สึกใจฟู เวลาได่ออกไข่เราได้ลุ้นทุกวัน มีบัญชีไข่ วันนี้ออกกี่ฟอง ก็จะรู้ว่าไก่ออกไข่มากหรือน้อย”

ฟาร์มเลี้ยงไก่

คุณป่องเล่าต่ออีกว่า ตอนนี้เหมือนขยับไปเรื่อย ๆ ไข่ไม่พอขายก็ซื้อไก่มาเพิ่ม แต่ฟาร์มเหมือนจะนิ่งไปหน่อย เลยไปซื้อห่านมาเติมอีก 6 ตัว ตอนแรกตั้งใจเลี้ยงเพื่อเป็นพร็อปส์ช่วยเพิ่มสีสันให้ฟาร์ม แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่พอ ต้องไปซื้อเป็ดมาเลี้ยงเพิ่มอีก ทำให้พบว่าการเลี้ยงเป็ดก็สนุกดี เพราะเป็ดเลี้ยงง่าย เขาอยู่กันเป็นฝูง ตอนเย็นเรียกเข้าเล้าง่าย ๆ คุ้ยเขี่ยในแปลงผักสวนครัวตามธรรมชาติ ปล่อยว่ายน้ำเล่นในร่องน้ำใกล้ ๆ ซึ่งเป็นน้ำบำบัดจากโครงการมิโนะบุรี

เลี้ยงห่าน

“การทำตรงนี้มันสนุกตรงที่ว่าตอนทำกับข้าว ถ้ามะนาวหมดเราก็แค่เดินเข้าสวนมาตัดไปได้เลย เข้ามาดูในสวนมีผักอะไรกินบ้าง อย่างมะเขือก็ไม่ได้ซื้อเลย เยอะจนกินไม่ทัน กะเพราะก็ไม่ต้องซื้อ ส่วนใหญ่ก็เป็นผักสวนครัว ทุกอย่างในนี้ปลอดสารพิษ น้ำหมักชีวภาพและทุกอย่างเราทำเองหมด”

แม้รายได้จากการทำเกษตร พืชผักที่ขายได้ในบางวัน หรือไข่ไก่ที่เปิดให้เด็ก ๆ เข้ามาเก็บจะจำหน่ายได้เงินมาไม่มาก แค่เพียงพอกับค่าอาหาร แต่ความสงบสุขที่มีไก่ช่วยบำบัด กลับมีมูลค่ามหาศาลสมกับความใส่ใจที่คุณป่องอยากให้กรุงเทพฯ มีฟาร์มเกษตรอินทรีย์ดี ๆ สำหรับเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางให้แก่ผู้สนใจได้นำไปปรับใช้กับบ้านหรือที่ดินของตนเองต่อไป

กรงไก่

ติดต่อเข้าชมและเก็บไข่ได้ที่ แปลงผักปลอดสารและบ้านสัตว์ปีก (Allotment & Farm) โครงการมิโนะบุรี
เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่ 10.00 น. – 18.00 น.
แผนที่>>https://bit.ly/3hU0FzG
Facebook : https://www.facebook.com/minoburi/

เรื่อง JOMM YB

ภาพ ศุภกร ศรีสกุล