นี่อาจเรียกได้ว่า “รถพุ่มพวงที่สวยที่สุดในเมืองไทย” ในตอนนี้ ไอเดียไม่ธรรมดาของ คุณเบส – วิโรจน์ ฉิมมี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งทำให้ระนอง จังหวัดที่ตั้งของบ้านไร่ไออรุณ กลายเป็นพื้นที่สีแดง แขกที่เคยเข้าพักในฟาร์มสเตย์แสนอบอุ่นนี้ยกเลิกการจองทันที 100% แม้จะไม่มีการสั่งล็อกดาวน์อย่างเป็นทางการ
นั่นทำให้รายได้ของที่นี่เกือบเท่ากับศูนย์ แต่พืชผลทางการเกษตรกับรถสองแถวคันเก่าที่เคยทำหน้าที่รับ-ส่งแขกเข้าพักกลับสร้างรอยยิ้มที่ประเมินค่าไม่ได้กลับมาอย่างมากมาย เพียงแค่เติมไอเดียที่เคยสะสมไว้ให้กลายมาเป็น “รถพุ่มพวงแห่งบ้านไร่” ที่เหมือนว่าจะโด่งดังที่สุดในตอนนี้
บ้านไร่ไออรุณ ยังคงเป็นฟาร์มสเตย์ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น การตกแต่งที่ไม่มากมายแต่ใช้ความเรียบง่ายดำเนินเรื่อง อ่อนหวานด้วยกลีบดอกไม้ ไม้ใหญ่ยังคงให้ร่มเงา แปลงผักอินทรีย์ยังคงผลิดอกออกผล ไก่ในเล้าดีไซน์สวยยังคงออกไข่ให้เป็นอาหาร บ้านพักที่ยังคงกลมกลืนไปกับบริบทรอบข้าง แต่การเปลี่ยนไปของโลกที่เผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่นี้ ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก นำมาซึ่งการตื่นตัวและค้นหาทางออกที่ต่างไปจากการระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2020 โดยเขาเลือกใช้บทเรียนนอกตำราจากปีนั้นมาสร้าง “สิ่งใหม่” ในครั้งนี้
บทเรียนจากโควิด – 19 รอบแรก ต้องได้มากกว่าการอยู่รอด
เราเท้าความย้อนกลับไปช่วงที่โควิด – 19 ระบาดรอบแรกที่บ้านไร่ไออรุณต้องปิดให้บริการยาวๆ ทางออกที่พนักงานทุกคนร่วมสร้างด้วยกันคือการขายของออนไลน์ โดยเลือกขายน้ำพริกที่ปรุงเองสดๆ ลงแรงใส่ใจแบบเต็มเหนี่ยวเพื่อให้คนรับได้สิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งนั่นก็ทำให้มีรายได้เข้ามาต่อชีวิตให้ทุกคนได้เป็นเงินก้อน แต่ครั้งนี้คุณเบสกลับเลือกเส้นทางเส้นใหม่ที่ยังไม่มีผลลัพธ์ให้เห็น
“มันเริ่มจากที่ระนองมีผู้ติดเชื้อ ทำให้ห้องพักของเราถูกยกเลิกแบบ 100% ความลังเลในตอนนั้นคือจะปิดบ้านไร่ชั่วคราวไปเลยดีไหม แต่เมื่อถามพนักงานทั้งหมด 40 คนที่เรามีถึงเงินเก็บของพวกเขา ภาระค่าใช้จ่ายที่ทุกคนต้องแบกไว้ ซึ่งทุกคนล้วนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายมากมาย หากไม่มีรายได้ในช่วงนี้คงเป็นการซ้ำเติมพวกเขา เราจึงตัดสินใจไม่ปิดบ้านไร่ แต่หาทางปรับตัว หารายได้ เพื่อมาเสริมกับรายได้อื่นๆ ที่เรายังพอหาได้
“เราคุยกันว่าไม่อยากขายน้ำพริก เพราะเป็นงานที่ทำแล้วไม่มีความสุขเลย แม้ว่าน้ำพริกที่ช่วยกันทำกับพนักงานในครั้งก่อนจะทำให้เราขายได้เงินเป็นล้าน ยอดขายดี แต่เบสกลับรู้สึกไม่โอเคกับมัน เพราะเครียดมากกับบางสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมให้ออกมาดีได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกเสียหมดอายุเพราะการขนส่งที่ยาวนาน ปัญหาขวดแก้วแตก พนักงานของเราต้องอดหลับอดนอนกันเพื่อโขลกน้ำพริกกันทั้งวัน ทำให้รู้สึกไม่ดีกับการที่จะทำแบบนั้นอีก มันไม่มีความสุขเลย มาครั้งนี้เราเลยคุยกับพนักงานใหม่ ตกลงร่วมกันว่าจะไม่ทำน้ำพริกอีก”
ค้นหาทางรอดในแบบที่เราเป็น
“เมื่อแขกนักท่องเที่ยวต่างจังหวัดยกเลิกการเดินทางมาสู่ระนอง แต่คนในท้องที่ยังคงเดินทางได้ ร้านอาหารและคาเฟ่ที่บ้านไร่ยังคงเดินหน้าต่อ พร้อมกับโปรโมชั่นส่วนลดห้องพักแบบ 50% ทำให้ตรงนั้นยังพอมีรายได้เข้ามาบ้าง แล้วเราก็คิดว่าจะทำอย่างไรได้อีกบ้าง พืชผักในสวนที่ปลูกไว้ เอาไปขายดีไหม น้องๆ พนักงานแทบทุกคนก็ปลูกผักกันอยู่ ส่วนใหญ่ก็เป็นผักพื้นบ้าน เลยให้ใครที่มีผักเอามาขายด้วยกัน ถ้าไม่มีคนเข้ามาเที่ยว เราก็เอาของพวกนี้ไปขายถึงหน้าบ้านเขาเลยสิ เลยเป็นที่มาของรถพุ่มพวง”
รถพุ่มพวงที่สวยที่สุดในตอนนี้
คุณเบสเล่าว่า รถพุ่มพวงคันนี้เป็นไอเดียเก่าๆ ที่เคยคิดไว้ มันมาจากรถ Food Truck ของต่างประเทศที่เคยเห็นมา เลยนำมาปรับกับรถสองแถวรับ-ส่งแขกของบ้านไร่ เป็นสองแถวไม้เก่าๆ แล้วต่อชานห้อยของออกมา ตกแต่งให้ดูดีขึ้น ให้ช่างไม้ของบ้านไร่ทำ ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น
“ด้วยความเป็นบ้านไร่ เราจะไปใส่รถขายเหมือนรถพุ่มพวงธรรมดาก็ไม่ได้ เลยใส่คอนเซ็ปต์ให้มันสักหน่อย เราไม่ใช้ถุงพลาสติก แต่มีตะกร้าหวาย กระบุง กระเป๋าสานให้คนได้ซื้อเพื่อใส่ผักของเรา ตัวรถก็ใช้ไม้ต่อเติมชั้นวาง ตอนแรกที่ทำก็กลัวว่าตำรวจจะจับไหม เพราะเรามีต่อชั้นวางผักออกมา แต่พอตำรวจผ่านมาก็มาถ่ายรูปกับรถสองแถว กลายเป็นความน่ารักที่ใครเห็นก็มาถ่ายรูปด้วย แล้วทุกคนก็ช่วยอุดหนุน ตื่นเต้นกับสิ่งที่พวกเราทำ”
“ผักที่ขายราคาถูกมากครับ ขายแค่ 10 -20 บาทเท่านั้น มีตะกร้าหวาย กระบุง กระเป๋าสานที่พอมีราคา ทำให้วันเดียวเราขายได้กว่าหมื่นบาท ยอมรับเลยว่ามันน้อยกว่าการทำน้ำพริกขายทางออนไลน์เยอะมาก แต่ก็ให้อะไรกับเบสมากกว่าตอนนั้น ตอนที่รถพุ่มพวงวิ่งออกไป พนักงานของเรามีความสุขกับมัน คนที่ได้เห็นรถพุ่มพวงจากบ้านไร่ก็ได้รับความสุขจากความน่ารักของมัน มาถ่ายรูปลงโซเชียล วันนั้นทั้งวันในหน้าฟีดเฟซบุ๊กคนที่นี่เต็มไปด้วยรถพุ่มพวงคันนี้ คนซื้อผักก็ได้ผักปลอดสารพิษไปรับประทาน มันก็เกินคาดจากที่เราคิดไว้เช่นกัน”
ขายผัก = การเชื่อมต่อของจุดเริ่มต้นและปัจจุบัน
“หากถามว่าเบสรู้สึกอย่างไรบ้าง กับการต้องออกไปขายผักเอง บอกเลยครับว่าไม่รู้สึกอะไรใดๆ เลย เพราะเบสเริ่มต้นจากตรงนั้น เมื่อก่อนตอนที่เรากลับบ้านมาเริ่มทำบ้านไร่ เบสก็ช่วยกันขายผักกับคุณแม่ในตลาด ผักอินทรีย์ปลอดสารพิษที่เราปลูกเองรอบบ้าน จนเราขยับขยายมาเป็นบ้านไร่ไออรุณในรูปแบบฟาร์มสเตย์ มันเหมือนกลับไปทำในสิ่งที่เราเคยทำมาก่อน ต่างกันแค่ครั้งนั้นเราหาเลี้ยงครอบครัวเพียง 2-3 คน แต่ตอนนี้เพิ่มมาเป็น 40 คนเท่านั้น”
รถพุ่มพวงแห่งความสุข รอยยิ้มที่ทุกคนควรได้รับ
“เบสตั้งใจว่าอยากจะทำอีกทุกสัปดาห์ ไปสถานที่ท่องเที่ยวในต่างอำเภอของจังหวัดระนอง อยากไปอาทิตย์ละอำเภอ แล้วอัพเดตลงโซเชียลของบ้านไร่ อยากให้ผู้คนในที่อื่นๆ ได้เห็นสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดที่สวยงาม อยากให้คนได้มาเที่ยวเยอะๆ ให้คนรู้จักว่าจังหวัดเรามีความสวยงามมากมายแค่ไหน เบสไม่ได้คาดหวังในเรื่องยอดขายว่ามันจะมาเป็นรายได้หลักใดๆ แต่เพียงแค่ใช้โอกาสนี้ให้คนอื่นๆ ได้รู้จักจังหวัดที่เราอยู่ ได้ไปสร้างรอยยิ้มให้คนอื่นๆ เท่านั้น”
“แน่นอนว่าเบสไม่ได้คาดหวังยอดขายจากโซเชียล แต่มันเป็นพลังอย่างหนึ่งให้เรายิ้มในวันที่เราเจออะไรแย่ๆ ในสภาวะที่เป็นแบบนี้ การมีคนให้กำลังใจ และรู้จักเรามากขึ้น ในโอกาสข้างหน้าพวกเขาคงอยากมาเยี่ยมเยือนเรา”
คุณเบสกล่าวทิ้งท้าย
เรื่อง : JOMM YB
ภาพ :คุณเบส วิโรจน์ ฉิมมี
สถานที่ : บ้านไร่ไออรุณ โทร.096 938 2981