กักตัวแต่ไม่ต้องกักตุน เพาะผักงอก 7 วันกินได้

ช่วงอยู่บ้านนานๆ ลองหาวิธีกักตัวแบบไม่ต้องกักตุน ด้วยการ เพาะผักงอก ผลิตพืชอาหารกินเองบางคนอาจบอกว่าทำไม่ได้เพราะมีพื้นที่จำกัด

เพาะผักงอก ทำได้ง่ายมาก ใช้พื้นที่เพาะปลูกเพียงน้อยนิด ผักงอกและไมโครกรีน หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า “ต้นอ่อน” ใครที่อยู่คอนโดฯ หอพัก อพาร์ทเมนต์ ทาวเฮาส์ ทาวน์โฮม หรือแม้แต่ในสำนักงาน ก็สามารถ เพาะผักงอก ได้ ใช้ระยะเวลาการปลูกสั้น เพียง 7-10 วันก็สามารถตัดมาบริโภคได้แล้ว แถมพืชเล็กๆเหล่านี้ยังให้คุณค่าทางอาหาร มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงอีกทั้งยังทำเป็นงานอดิเรกง่ายๆ ที่แม้แต่เด็กและผู้สูงวัยก็ทำได้ เมื่อปลูกจนเชี่ยวชาญยังทำขายเป็นรายได้เสริมได้อีกทางด้วย

เพาะผักงอก
แม้มีพื้นที่จำกัด แสงน้อย ก็เพาะต้นอ่อนกินเองได้ หรือจะใช้ตกแต่งสถานที่อย่างร้านอาหารก็เข้าที

แต่ก่อนเริ่มลงมือควรเตรียมการเพื่อให้ต้นอ่อนต้นน้อยเติบโตอย่างมีคุณภาพได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ

1. เลือกชนิดพืชที่ชอบกินต้นอ่อนที่นิยมนำมาบริโภคกัน ได้แก่ ทานตะวัน ผักบุ้ง  ไควาเระ (หัวไช้เท้า) โต้วเหมี่ยว (ถั่วลันเตา)และผักกินใบทุกชนิดสามารถเลือกมาปลูกได้(รวมถึงผักพื้นบ้านไทยตามภาคต่างๆ อย่าง ผักขี้หูด ผักเขียวน้อย ฯลฯ อยากให้ได้ลอง) ซึ่งในช่วงที่เมล็ดงอกออกมาเป็นต้นอ่อนจะให้สารอาหารสูงและมีเอนไซม์ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ

2. หาเมล็ดพันธุ์ที่ดี จากแหล่งน่าเชื่อถือ เป็นเมล็ดสำหรับการบริโภค (ไม่คลุกสารเคมีที่เป็นอันตราย) ไม่เก็บไว้นาน มีอัตราการงอกสูง และเมล็ดที่เหลือจากการปลูกแต่ละครั้งควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น โดยใส่ในถุงซิปล็อค เขียนชื่อกำกับไว้ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้สับสนต่อการปลูกในครั้งถัดไป เนื่องจากเมล็ดพืชบางชนิดมีลักษณะคล้ายกันมาก จากนั้นบรรจุลงกล่องปิดฝาให้สนิทแล้วแช่เย็นไว้

3. เตรียมเมล็ดเมล็ดโดยทั่วไปจะแช่น้ำทิ้งไว้1 คืนเพื่อให้เปลือกหุ้มเมล็ดนิ่มลงช่วยกระตุ้นการงอกสำหรับเมล็ดพืชบางชนิดมีสารหุ้มเมล็ด อย่าง แมงลักก่อนปลูกควรแช่น้ำอุ่น เพื่อให้สารเหล่านี้สลายไปและน้ำสามารถซึมผ่านได้

4. เตรียมวัสดุปลูกอย่าง ดิน ขุยมะพร้าว และขี้เถ้าแกลบในอัตราส่วน 1:1:1 ร่อนจนได้วัสดุปลูกที่เนื้อละเอียดหากใช้กับเมล็ดขนาดเล็กควรร่อนสองครั้ง เพื่อให้ได้วัสดุปลูกที่ละเอียดยิ่งขึ้นมื่อปลูกเมล็ดจะได้ไม่จมหาย บางคนอาจเลือกใช้ปุ๋ยไส้เดือนแทนดิน หรือใช้แค่ขุยมะพร้าวและขี้เถ้าแกลบแต่รดด้วยน้ำผสมน้ำหมักมูลไส้เดือนแทนก็ได้ สำหรับการเพาะเมล็ดพวกธัญพืชที่มีอายุการตัดไม่เกิน 7 วัน อาจไม่จำเป็นต้องใส่ดินผสมเข้าไป เพราะในเมล็ดพืชมีสารอาหารอยู่เพียงพอแล้ว แต่บางครังการใส่ลงไปก็ช่วยในแง่เผื่อไว้สำหรับพืชบางชนิดที่มีระยะการตัดนานกว่า 7 วัน เข้าสู่รยะต้นกล้าที่มีใบแท้งอกมาแล้ว

เพาะผักงอก

5. เตรียมภาชนะใช้ภาชนะที่มีรูระบายน้ำ หากเป็นภาชนะที่มีหน้ากว้างไม่ต้องลึกก็ยิ่งดี อาจใช้ภาชนะเหลือใช้ นำมาล้างทำความสะอาดแล้วผึ่งให้แห้ง

6. หาพื้นที่จัดวาง ควรเป็นพื้นที่ร่มรำไร อากาศถ่ายเทดี เพราะจะลดปัญหาเรื่องการเกิดเชื้อราลงได้

ขั้นตอนการปลูก

1.นำวัสดุปลูกที่ผ่านการร่อนแล้ว ใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้ หนาประมาณ 1 นิ้วหากภาชนะที่ใช้มีก้นลึก ให้รองก้นด้วยเปลือกมะพร้าวสับก่อนค่อยใส่วัสดุปลูกเกลี่ยและปาดผิวหน้าวัสดุปลูกให้เรียบเสมอกัน

เพาะผักงอก

2.โรยเมล็ดพร้อมปลูกให้ทั่วผิวหน้าอย่างสม่ำเสมอ

เพาะผักงอก

3.กลบบางๆด้วยวัสดุปลูกที่ร่อนแล้ว แต่หากเป็นเมล็ดขนาดเล็กไม่ต้องกลบแต่ปิดผิวหน้าด้วยกระดาษเพื่อลดการกระแทกของน้ำ จากนั้นรดน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น

เพาะผักงอก

4.นำไปวางในที่ร่ม รดน้ำทุกวันวันละหนึ่งครั้งช่วงเช้า

5.ประมาณวันที่ 4 จึงนำไปวางในที่ได้แสงรำไร

6.เมื่อครบ7 วัน ต้นอ่อนจะเริ่มมีใบแท้งอกออกมาช่วงเวลานี้ก็พร้อมตัดเพื่อบริโภคได้เลย โดยใช้มีดคมๆ ตัดที่โคนต้นเหนือวัสดุปลูกประมาณ 1 เซนติเมตร(ต้นอ่อนผักปลูกต่อได้ถึง 14 วัน ซึ่งระหว่างนี้ตัดมาใช้ตกแต่งอาหารได้เลย)การตัดและนำมาบริโภคทันทีจะให้คุณค่าทางอาหารสูง

เพาะผักงอก
ต้นอ่อนผักพื้นบ้านไทย อย่างผักกาดเขียวน้อยอายุ 3-7 วัน หลังวันที่ 7 เมื่อตัดมาบริโภคจะมีรสเผ็ดซ่าคล้ายวาซาบิใช้ทานคู่กับซูชิ ได้รสชาติดี สามารถปลูกเพื่อนำต้นอ่อนมาบริโภคต่อได้จนถึง 14 วัน

เมล็ดของพืชผักที่งอกแล้วนิยมเรียกกันติดปากว่า”ต้นอ่อน”นั้น ในระยะตั้งแต่ 1-7 วัน ก่อนมีใบแท้จะเรียกว่า “เมล็ดงอก”  และในช่วงหลังวันที่ 7-14 วันที่ใบแท้ผลิออกแล้ว จะเรียกว่า”ไมโครกรีน”

7.การเก็บรักษา หากมีผักที่ตัดมาเกินบริโภค ควรเก็บในตู้เย็นในช่องแช่ผัก จะเก็บได้ 3-7 วัน ซึ่งคุณค่าทางอาหารก็จะลดลงตามจำนวนวันที่เก็บรักษา

Tips     

หากปลูกเพื่อกินเองควรดูความต้องการบริโภคของสมาชิกในครอบครัวแล้ววางแผนปลูกให้ได้ผลผลิตหมุนเวียน ไม่ปลูกในปริมาณมากเกินไป เพราะหากได้ผลผลิตพร้อมกันจำนวนมากเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันนานๆอาจทำให้เบื่อได้  จึงควรวางแผนให้วันที่เก็บผลผลิตต้นอ่อนแต่ละชนิดไม่ตรงกัน เและควรมีช่วงพักบ้าง เมื่อเก็บผลผลิตแต่ละครั้งหมดแล้ว ควรนำวัสดุปลูกไปทิ้งหรือนำไปผสมในถังหมักปุ๋ย แล้วล้างทำความสะอาดภาชนะและตากแดดเพื่อสุขอนามัยที่ดี เท่านี้ก็จะได้ซุปเปอร์ฟู้ดไว้ทำเมนูชวนหิวแบบไม่ต้องกักตุนอาหารแล้ว

บิสกิตทูน่าโรยหน้าด้วยแมงลักงอก กินเป็นของว่างคู่กับสลัดผัก อาจลองเปลี่ยนใช้ต้นอ่อนผักชนิดอื่นๆในวงศ์ผักกาดที่มีรสชาติเผ็ดซ่า อย่าง ไควาเระ ผักเขียวน้อย ขี้หูด ดูก็ได้ จะทำให้สนุกกับการปลูกและการกินมากยิ่งขึ้น

หากสนใจเรื่องราวการเพาะต้นอ่อน ผักงอกและไมโครกรีน ติดตามเพิ่มเติมได้จาก Garden&Farm vol.11 ผักงอกและไมโครกรีน

เรื่อง ทิพาพรรณ
ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย,ธนกิตติ์ คำอ่อน

อัปเดทข่าวสาร งานเกษตร ทำฟาร์ม ได้ที่ บ้านและสวน Garden&Farm