เพลี้ยแคคตัส หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในแคคตัส ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากแมลงศัตรูรวมทั้งปัญหาอื่นๆที่เกิดจากเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งถ้าผู้ปลูกเลี้ยงสังเกตเห็นและแก้ไขได้ทัน ก็จะช่วยให้ต้นไม้กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมได้
- เพลี้ยหอย (Scale Insect)
- เพลี้ยแป้ง (Mealybug)
- ไรแดง (Red Spider Mites)
- เพลี้ยญี่ปุ่น (Cochineal Insect)
- โรคราสนิม (Rust Disease)
เพลี้ยแคคตัส เป็นปัญหาที่พบกันมาก เป็น แมลงศัตรู เช่น เพลี้ยหอย หรือบางท่านเรียกกันว่าเพลี้ยเกล็ด, เพลี้ยแป้ง, ไรแดง และที่ส่งผลรุนแรงมากคือ เพลี้ยญี่ปุ่น ส่วนโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อรา ได้แก่ โรคราสนิม มาเรียนรู้วิธีแก้ไขกัน
เพลี้ยหอย (Scale Insect)

เป็นแมลงศัตรูประเภทปากดูด ลักษณะเป็นฝากลมนูนติดอยู่ตามผิวต้น และคอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้น หากลุกลามมากอาจทำให้ต้นตายได้ มีหลายชนิดที่ระบาดในไม้ประดับ แต่ที่พบมาก คือเพลี้ยหอยเหลือง ที่เข้าทำลายแคคตัสหลายสกุล เช่น สกุลยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium) เมโลแคคตัส (Melocactus) ใบเสมา (Opuntia) ซีรีอุส (Cereus) แก้วมังกรหรือตอสามเหลี่ยม (Hylocercus undatus)
วิธีแก้ไข
– ใช้แปรงสีฟันเก่า ขัดตัวเพลี้ยออก แล้วฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงประเภทดูดซึม เช่น มาลาไธออน (Malathion) หรือนิโคตินซัลเฟต (Nicotine Sulphate) ตามอัตราที่ระบุ หลังจากนั้นอีก 1-2 สัปดาห์ ฉีดพ่นซ้ำเพื่อทำลายตัวอ่อนที่เพิ่งฟักจากไข่อีกครั้ง
– ถ้าระบาดเล็กน้อยหลังจากเขี่ยตัวเพลี้ยออก โรยสารป้องกันกำจัดแมลงที่นิยมใช้กันมากคือ สตาร์เกิลจี (Starkle G : ชื่อการค้า) หรืออิมิดาคลอพริด (imidacloprid): ชื่อสามัญ)
– ถ้าต้นทรุดโทรมมาก อาจเปลี่ยนดินปลูกใหม่พร้อมฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง เพื่อป้องกันการลุกลาม

เพลี้ยแป้ง (Mealybug)

เป็นแมลงประเภทปากดูดที่คอยดูดกินน้ำเลี้ยงตามยอดอ่อนของแคคตัสและไม้อวบน้ำ มีลำตัวสีขาว และมักอาศัยร่วมกับมด โดยมดจะเป็นตัวคอยคาบเพลี้ยมาให้เกาะตามต้น บางทีอาจพบอาศัยอยู่ตามรากใต้ดิน ทำให้เรามองไม่เห็น ถ้าต้นแคคตัสและไม้อวบน้ำเริ่มโทรม สันนิษฐานก่อนว่าอาจมีแมลงศัตรูอยู่ใต้ดิน
วิธีแก้ไข
– ใช้ไม้หรือแปรงสีฟันเก่าเขี่ยออก อาจเปลี่ยนดินปลูกใหม่ พร้อมโรยสารป้องกันกำจัดสตาร์เกิลจี (Starkle G : ชื่อการค้า) โรยรอบโคนต้น หรือฉีดพ่นอิมิดาคลอพริด (imidacloprid): ชื่อสามัญ) ตามอัตราที่ระบุ
ไรแดง (Red Spider Mites)

เป็นแมงมุมขนาดเล็กที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นจุดสีแดงเล็ก เคลื่อนที่เร็ว คอยดูดกินน้ำเลี้ยงตามใต้ใบของไม้อวบน้ำ ทำให้ใบเป็นลาย ผิวใบย่นไม่สดใส
วิธีแก้ไข
ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงประเภทดูดซึม เช่น โพรพาไกด์ (Propargite : ชื่อสามัญ) ตามอันตราที่ระบุ ทุกสองสัปดาห์ จนไม่พบการระบาด
เพลี้ยญี่ปุ่น (Cochineal Insect)

เป็นแมลงศัตรูพืชตัวร้ายของแคคตัสและไม้อวบน้ำที่เพิ่งพบระบาดในบ้านเราไม่นาน ลักษณะเป็นปุยสีขาว เกาะอาศัยตามยอด เมื่อเขี่ยดูจะพบตัวเพลี้ยสีชมพูอยู่ข้างใน คอยดูดกินน้ำเลี้ยงตามยอด ทำให้ต้นเป็นตำหนิถาวร
วิธีแก้ไข
เป็นเพลี้ยที่กำจัดยาก ต้องใช้สารป้องกันกำจัดประเภทดูดซึมพวก ไทอะมิโทแซม (Thiamethoxam : ชื่อสามัญ) ฉีดพ่นตามอัตราที่ระบุ จะทำให้ตัวเพลี้ยเป็นอัมพาต แต่ที่ร้ายกาจคือ แม้เป็นอัมพาตก็ยังวางไข่ได้ ดังนั้นควรฉีดพ่นต่อเนื่อง 3-5 สัปดาห์
โรคราสนิม (Rust Disease)

สาเหตุหลักของโรคยอดฮิตชนิดนี้คือ สภาพแวดล้อมในการปลูกเลี้ยง อากาศไม่ถ่ายเท อับชื้น แสงแดดไม่เพียงพอ ทำให้เชื้อรา Puccinia sp. เข้าทำลาย ทำให้ตามต้นเกิดบาดแผลสีน้ำตาลเป็นวง ถ้าระบาดลึกลงในต้น และลุกลามทั่วทั้งต้น อาจทำให้ต้นตายได้

วิธีแก้ไข
– ควรปรับเปลี่ยนพื้นที่เลี้ยงไม่ควรวางต้นแน่นโรงเรือนหรือพื้นที่ปลูก ให้ได้รับแสงอย่างน้อย 6 ชั่วโมงในแต่ละวัน
– หากพบการระบาด ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อเรา เช่น คาร์เบนดาซิม (Carbendazim : ชื่อสามัญ) แคปแทน (Captan : ชื่อสามัญ) แมนโคเซบ (Mancozeb : ชื่อสามัญ) สลับกัน เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา
นอกจากโรคและแมลงศัตรูข้างต้นแล้ว ปัญหาใหญ่ที่หลายคนต้องพบคือ หนูที่คอยกัดกินต้นจนตาย จำเป็นต้องกำจัด เพื่อความปลอดภัยของต้นไม้ของเรา
5 ข้อควรรู้ ที่ช่วยให้แคคตัสและไม้อวบน้ำของเราปลอดจากโรคและแมลงศัตรูเหล่านี้คือ
1. อย่านำต้นที่มีอาการเข้าทำลายของโรค-แมลงศัตรูเหล่านี้เข้ามาปลูกเลี้ยงในพื้นที่โรงเรือนของเรา
2. หลังจากซื้อต้นมาใหม่ พักไว้นอกโรงเรือนก่อน เพื่อดูอาการ แล้วเปลี่ยนดิน รดสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง ก่อนนำเข้าโรงเรือน
3. คอยสังเกตอาการต้นไม้ ถ้าพบต้นใดต้นหนึ่งแสดงอาการ ควรรีบนำออกจากพื้นที่เพื่อป้องกันการลุกลาม
4. การปลูกเลี้ยงแคคตัสและไม้อวบน้ำให้ต้นแข็งแรงสวยงาม ควรเตรียมพื้นที่ปลูกให้เหมาะสม ทั้งสภาพแสงแดด การถ่ายเทอากาศ และปริมาณความชื้นสัมพัทธ์
5. สิ่งสำคัญที่ช่วยให้การปลูกเลี้ยงแคคตัสและไม้อวบน้ำง่ายขึ้นคือ โรงเรือน ที่ช่วยป้องกันปัญหาโรคและแมลงศัตรูได้
เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้แคคตัสและไม้อวบน้ำของเราแข็งแรง และเติบโตได้สวยงามแล้ว อ่านเพิ่มเติมได้ใน คู่มือปลูกเลี้ยงแคคตัสและไม้อวบน้ำ ฉบับเริ่มต้น : A Beginner’s Guide for Cactus & Succulents ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน

สนใจสั่งได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านและสวน
หรือสั่งซื้อออนไลน์
เรื่อง วิฬาร์น้อย
ภาพ ภวพล ศุภนันทนานนท์