หลายคนหลงใหล “ หน้าวัวใบ ” และสะสมไว้ทั้งชนิดแท้และลูกผสม ทั้งใบเขียวและใบด่าง ฟอร์มใบแปลกๆ ให้ปลูกประดับกัน ลองมาดูกันว่า เค้าปรับปรุงพันธุ์กันอย่างไรให้ได้ไม้ใบฟอร์มสวย ใบด่างหลากสีได้อย่างไร
หน้าวัวใบ เป็นพืชในสกุล Anthurium วงศ์ Araceae มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้ ในอดีตคนไทยรู้จักแต่หน้าวัวที่ให้ดอกสีแดงสดและใช้เป็นไม้ตัดดอก พันธุ์ดวงสมร กษัตริย์ศึก ผกามาศและอีกหลายพันธุ์ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยาก แต่ก็มีพันธุ์ลูกผสมจากต่างประเทศเข้ามาแทน และปลูกเป็นไม้กระถางสำหรับตกแต่งสวนและภายในบ้านได้
สำหรับ หน้าวัวใบ นั้น ในวงการไม้ประดับเมื่อราว 30-40 ปีก่อน มีผู้นำเข้ามาปลูกเลี้ยงในเมืองไทยยุคแรกๆ เป็นหน้าวัวที่มีใบรูปหัวใจกำมะหยี่สีเขียวเข้ม และมีเส้นใบสีขาว ที่รู้จักกันในชื่อ Anthuriumclavinerumและ A.crystallinumต่อมาอาจารย์สุรัตน์ วัณโณ แห่งบ้านก้ามปู นักสะสมพันธุ์ไม้ใบได้นำลูกผสมต่างๆ เข้ามาปลูกอีกมากมาย จุดเด่นของหน้าวัวใบก็คือ รูปใบที่สวยงามแปลกแตกต่างจากเดิม ส่วนดอกไม่ได้สวยงามโดดเด่นเท่า
รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ อดีตประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตประธานชมรมผู้พัฒนาพันธุ์ไม้ประดับ 2000 กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดหน้าวัวใบในเมืองไทยเฟื่องฟูเช่นกัน เพราะเกิดจากฝีมือการปรับปรุงพันธุ์ของนักเลี้ยงชาวไทยหลายท่าน เกิดลูกผสมใหม่ๆ ที่มีทรงต้น และรูปใบที่สวยงาม และปัจจุบันยังเกิดหน้าวัวใบด่างที่สวยงามไม่แพ้ไม้ใบด่างอื่นๆ และรู้จักกันในชื่อ “หน้าวัวใบสี”
หน้าวัวใบสี มีการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นครั้งแรกในสวน Ree Gardens แห่งรัฐฟลอริดา ซึ่งมีผู้นำเข้าแม่พันธุ์-พ่อพันธุ์จากต่างประเทศมาเลี้ยงในบ้านเรา เพื่อนำมาปรับปรุงพันธุ์ให้เกิดสีแปลกใหม่ขึ้น อาจารย์สุรวิชได้กล่าวถึงการเลือกคู่ผสมว่า
“ถ้านำหน้าวัวใบที่มีสีม่วงแดงเข้มผสมกับใบด่างขาวเหลือง ลูกผสมที่ได้จะห้สีชมพูแดงเรื่อๆ แต่ขึ้นกับยีนที่มีอยู่ในคู่ผสมนั้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ลักษณะด่างจะถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกประมาณ 10-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ถ้าอยากได้ทรงพุ่มสวย ฟอร์มดี ก็ต้องเลือกต้นที่มีลักษณะทรงพุ่มตามที่ต้องการมาใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์”
หากมีต้นพ่อ-แม่พันธุ์ที่ต้องการอยู่ในมือแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรรู้คือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการถ่ายละอองเรณู ดอกหน้าวัวใบเป็นดอกสมบูรณ์เพศ อยู่บนปลีดอก โดยเกสรเพศเมียจะพร้อมผสมก่อนเกสรเพศผู้ และทยอยบานจนหมดช่อภายใน 2 สัปดาห์ ต้องอยู่ในช่วง 8.00 น. -10.00 น. เกสรเพศผู้และเพศเมียจะพร้อมผสมนาน 2 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ เพราะหากสภาพอากาศไม่เหมาะสม เกสรเพศผู้จะไม่ปลดปล่อยละอองเรณู
หลังจากอธิบายหลักการคร่าวๆ มาชมวิธีการผสมเกสรหน้าวัวใบกัน เริ่มจาก
Step 1 ใช้พู่กันแตะละอองเรณูที่เพิ่งแตกฟูออกที่ส่วนปลายปลี ของต้นพ่อพันธุ์
Step 2 แตะปลายพู่กันที่มีละอองเรณูลงบนดอกเพศเมียบนต้นแม่พันธุ์ที่มีเมือกเยิ้ม
Step 3 แขวนป้ายเขียนชื่อพ่อ – แม่พันธุ์และวันที่ผสมเกสร คลุมด้วยถุงพลาสติกใสไว้ 5 วัน เพื่อป้องกันการผสมซ้ำ และผสมซ้ำ จนดอกเพศเมียบานหมดช่อ
Step 4 อีก 1 เดือน ส่วนล่างของปลีดอกขยายขนาด แสดงว่าผสมเกสรสำเร็จ
Step 5 ต่อมา 4-8 เดือน ผลจะใหญ่ขึ้น สุกแก่ เปลี่ยนเป็นสีแดง ใช้ถุงพลาสติกคลุมช่อผล เพื่อป้องกันผลสุกร่วง ทยอยเก็บผลสีแดงที่แก่จัดมาล้างเนื้อนุ่มที่ผิวนอกออกให้สะอาด แล้วนำไปเพาะทันที
Tips
- กรณีที่ดอกเพศผู้บานก่อนดอกเพศเมีย อาจารย์แนะนำให้เก็บละอองเรณูไว้ในภาชนะปิดฝาไม่สนิท ห่อภาชนะด้วยกระดาษเช็ดมือที่ชื้น แล้วใส่ในภาชนะปิดสนิทอีกชั้น เก็บในตู้เย็นแช่ในช่องผัก
- ขั้นตอนการเพาะเมล็ดอาจารย์ย้ำว่า ควรนำมาเพาะทันทีจะช่วยให้เปอร์เซ็นต์การงอกสูง
- อาจฉีดพ่นแคลเซียมโบรอนให้ต้นพ่อ-แม่พันธุ์ จะช่วยให้ช่อดอกแข็งแรง และติดผลได้ดี
ขั้นตอนการเพาะเมล็ด
เรียนรู้เทคนิคดีๆ กันแล้ว มาทำความรู้จักหน้าวัวใบกันค่ะ
อาจารย์สุรวิช ฝากถึงนักปลูกเลี้ยงที่ชอบหน้าวัวใบว่า “ผู้ที่ชอบหน้าวัวใบสี ลองเลือกต้นพ่อ-แม่พันธุ์ที่ชอบมาลองผสมเกสรกันครับ ขั้นตอนไม่ยุ่งยากเลย เพราะโอกาสที่คุณจะได้ต้นใหม่ๆ สวยงาม แข็งแรงทนทานกว่าเดิม มีแน่นอน ในบ้านเรานับเป็นแหล่งรวมไม้ประดับที่มีศักยภาพทางพืชสวนมากมาย ซึ่งเกิดจากความสามารถของนักปลูกเลี้ยงสะสมพันธุ์ชาวไทย ซึ่งอยากให้นักเลี้ยงคนไทยที่ชอบไม้ประดับ หมั่นทดลองผสมเกสรและพัฒนาพันธุ์ให้สวยงามมีคุณภาพดีขึ้น
เพื่อให้ชาวต่างชาติได้รู้ว่า คนไทยมีความสามารถมากเพียงใด หากต้นไหน พันธุ์ไหนมีศักยภาพที่ใช้ประโยชน์เป็นไม้ประดับได้ดีทั้งในและนอกสถานที่ สามารถนำมาจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ กับกรมวิชาการเกษตรได้นะครับ”
คลิกอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้ที่ คู่มือและคำแนะนำการจดทะเบียนฯ
หากท่านใดต้องการเรียนรู้การปรับปรุงพันธุ์ไม้ประดับ และรู้จักไม้ใบชนิดอื่นๆ เพิ่มเติม อ่านได้ในหนังสือ เทคนิคปรับปรุงพันธุ์ไม้ประดับ, หนังสือไม้ใบ และ ไม้ใบ ไม้ด่าง ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน
ขอขอบคุณ สวนสีทอง 3 และสวนไพโรจน์ไม้ประดับ สำหรับภาพประกอบและข้อมูลดีๆ ให้กับผู้สนใจค่ะ
เรื่อง รศ. ดร. สุรวิช วรรณไกรโรจน์ หนังสือเทคนิคปรับปรุงพันธุ์ไม้ประดับ
เรียบเรียง อุรไร จิรมงคลรัช / ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย