ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

เปิดแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่บ้านแบบต้นทุนต่ำ สร้างรายได้เสริมจากงานประจำ

ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หรือ Tissue Culture เป็นเทคนิคการขยายพันธุ์พืชวิธีหนึ่งโดยนำชิ้นส่วนของพืชได้แก่ ลำต้น ยอด ตาข้าง ดอก ใบ มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนต้นพันธุ์ได้ทีละมากๆในระยะเวลาไม่นาน

จากเดิมการเปิดแล็บ ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ดูจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีรายละเอียดมากมาย แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งมีอาหารสำเร็จรูปให้เลือกใช้ ทำให้ใครๆก็สามารถเปิดแล็บได้ง่าย ๆที่บ้าน นับเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจธุรกิจผลิตกล้าไม้เพื่อสร้างรายได้หลักหรือรายได้เสริมจากงานประจำ ดังเช่นแล็บแห่งนี้ที่เริ่มต้นใช้เงินลงทุนไม่ถึง 30,000 บาท มาแบ่งปันความรู้ให้นำไปปรับใช้กัน

คุณดารุณี ธัญวรรัตนกุล แห่ง DR Lab ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และเปิดแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสร้างรายได้เสริมในช่วงวันหยุด จากประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมากว่า 10 ปีและมีใจรักในการทำเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นทุนเดิม จึงเริ่มเปิดแล็บเองที่บ้านง่าย ๆ ใช้เงินลงทุนไม่มาก และเริ่มสะสมต้นไม้แปลกๆที่เป็นที่ต้องการของตลาดมาขยายต่อทั้งกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ กล้วย และพรรณไม้อื่นๆตามแต่ลูกค้าสั่งผลิต จำหน่ายทั้งช่องทางออนไลน์และหน้าสวน

Tissue Culture
นอกจากผลิตกล้าไม้แล้ว คุณดารุณียังจัดคอร์สเรียนสำหรับผู้ที่สนใจทำแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อสร้างอาชีพอีกด้วย

“เริ่มแรกเราเคยทำงานที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 จ.ชลบุรี ทำเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยเฉพาะ  จึงได้ลงมือฝึกฝนจนชำนาญ ประกอบกับมีใจรักและมองเห็นว่าสามารถสร้างอาชีพเสริมได้จึงเริ่มทำขาย

“ถ้าเป็นสมัยก่อนการทำเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อค่อนข้างยุ่งยาก ต้องมีหม้อนึ่งแรงดันไอน้ำ (Autoclave) ราคาร่วม 20,000 บาท ต้องมีห้องติดเครื่องปรับอากาศ เครื่องวัด pH ราคาหลักหมื่น รวมแล้วต้องใช้เงินลงทุนหลักแสน แต่พอเรามาศึกษาเองและดูยูทูบก็พบว่าการทำแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่ได้ยุ่งยากขนาดนั้น  สามารถประยุกต์ใช้อุปกรณ์และเทคนิคให้ง่ายขึ้น เราเองดัดแปลงใช้ห้องที่บ้านทำเป็นแล็บง่าย ๆ แต่มีข้อที่ต้องระวังคือเรื่องความสะอาด สำหรับคนที่เพิ่งเริ่ม อาจจะเริ่มทำจากน้อย ๆ ไม่ต้องลงทุนเยอะ ยังไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศก็ได้ แต่ถ้าทำจริงจังในระยะยาวติดเครื่องปรับอากาศจะดีกว่า”

จัดพื้นที่และเตรียมอุปกรณ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ห้องที่ใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแนะนำว่าให้มีพื้นที่ 2 ส่วน ดังนี้

1.ห้องเตรียมอาหาร ใช้เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆเช่น บีกเกอร์ กระบอกตวง เครื่องชั่ง (สามารถใช้เครื่องชั่งเบเกอรี่ที่มีทศนิยม 2 ตำแหน่งได้ แต่หากใช้เครื่องที่มีทศนิยม 3-4 ตำแหน่งได้จะยิ่งดี เพราะจะมีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า) เครื่องวัดค่า pH หม้อต้ม สารเคมี เป็นต้น

2. พื้นที่ตัดเนื้อเยื่อ ต้องเป็นพื้นที่สะอาดมาก อาจจะทำห้องแยกหรือใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในบ้าน  อุปกรณ์ในพื้นที่ส่วนนี้คือ ตู้และอุปกรณ์ตัดเนื้อเยื่อ ชั้นหรือโต๊ะวางเนื้อเยื่อ

“การทำอาหารวุ้นแบบเดิมต้องเตรียมสูตรอาหารเอง ซึ่งมีวัสดุและสารเคมีหลายชนิด ทั้งธาตุอาหารหลักไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และธาตุอาหารรอง แคลเซียม รวมทั้งวิตามิน และกรดอะมิโน แต่ปัจจุบันมีอาหารสำเร็จขาย เราเอามาใส่วุ้น น้ำตาล ปรับค่า pH เหมือนทำขนมวุ้นก็สามารถใช้ได้เลย

ส่วนชั้นวางเนื้อเยื่อเริ่มแรกขนาดไม่ต้องใหญ่สามารถใช้โต๊ะก็ได้หากทำจำนวนไม่มาก แต่ควรติดตั้งหลอดไฟ ระยะห่างจากหลอดไฟถึงพืชประมาณ 1 ฟุต ถ้ามีชั้นวางก็ให้ติดหลอดไฟ 1 หลอดทุกระยะ 2 เมตร เพราะปกติเนื้อเยื่อควรได้รับแสงประมาณ 16 ชั่วโมง หรือระยะเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงตก  อาจจะเปิดไฟตั้งแต่ 7.00-8.00 น. และปิดไฟเวลา 16.00-17.00 น. หากมีพืชมากไฟเป็นสิ่งสำคัญเพราะหากได้รับแสงไม่พอเนื้อเยื่อจะยืดและเมื่อนำไปอนุบาลจะไม่แข็งแรง”

ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

“สมัยก่อนการทำแลปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้องมีหม้อนึ่งแรงดันไอน้ำซึ่งราคาสูง แต่ปัจจุบันมีเทคนิคและงานวิจัยว่าใช้การฆ่าเชื้อด้วยคลอรอกซ์หรือไฮเตอร์มาทดแทนได้ โดยหยดไฮเตอร์ลงในอาหารวุ้นได้เลยเราจึงใช้วิธีนี้เช่นกันข้อดีคือช่วยลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และผลที่ได้สามารถทดแทนการใช้หม้อนึ่งแรงดันไอน้ำได้เกือบ 100 %”

 “การทำแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องความสะอาด และต้องระวังคือการติดเชื้อเพราะหากมีการปนเปื้อนเชื้ออาจจะเกิดการลุกลามทำให้พืชเสียหายได้ ถ้าเราไปสถานที่สุ่มเสี่ยงอาจจะมีเชื้อติดตัวเรามาโดยที่มองไม่เห็นเช่น ถ้าเข้าสวนแล้วมีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มามาห้ามเข้าแล็บเลย หรือหากเข้าสวนมาก่อนเข้าแล็บควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อย และล้างมือให้สะอาดฉีดพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มทำงาน”

ปรับเปลี่ยนภาชนะบรรจุให้ใช้ง่าย

เดิมทีการทำเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะนิยมใช้ขวดแก้วเป็นภาชนะในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่สำหรับ DR.Lab มีการใช้ถุงพลาสติกและถ้วยพลาสติกซึ่งหาได้ทั่วไปมาปรับใช้เพิ่มเติม ซึ่งภาชนะทั้ง 2 แบบมีข้อดีและข้อจำกัดต่างกันดังนี้

ถุงและถ้วยพลาสติกขวดแก้ว
ข้อดี
– ต้นทุนต่ำสามารถหาซื้อได้ทั่วไป
– เวลาย้ายกล้าเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากถุงลงดิน
สามารถทิ้งถุงได้ จึงไม่เปลืองแรงงานล้างขวด
– ขนส่งง่าย น้ำหนักเบา ไม่แตกเสียหาย
– วางต้นที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้จำนวนมากต่อพื้นที่
ข้อดี
– ใช้ซ้ำได้ ทำความสะอาดง่าย
– เตรียมอาหารลงภาชนะง่าย


 
ข้อจำกัด
– ถุงพลาสติกรูปทรงไม่คงที่การเทอาหารวุ้นลงถุง
จึงต้องระวังไม่ให้เลอะปากถุงซึ่งอาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนได้ง่าย
– นำมาใช้ซ้ำค่อนข้างยาก
ข้อจำกัด
– ต้นทุนสูงและต้องหาซื้อจากแหล่งขายโดยเฉพาะ
– ต้องใช้แรงงานในการล้างเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
– มีน้ำหนักมากและต้องระวังแตกทำให้มีข้อจำกัดในการขนส่ง
– ใช้พื้นที่ในการจัดวางมากกว่า
ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ขวดแก้วสามารถใช้ซ้ำได้ ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

เกร็ดน่ารู้

  • ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่มีการปนเปื้อน หรือ Contamination สามารถนำไปย้ายปลูกและเจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่ไม่ควรนำไปตัดขยายเนื้อเยื่อเพราะอาจเกิดการปนเปื้อนได้

ย้ายปลูก ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

“ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อบางชนิดออกรากง่าย บางชนิดออกรากยาก อาจจะใช้เวลาตั้งแต่  2 สัปดาห์-1 เดือน ขั้นตอน การทำเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีข้อคิด 3 ข้อคือ 1. ขยายเพิ่มปริมาณได้ 2. ออกรากได้ 3.อนุบาลแล้วรอด เวลาเพาะเลี้ยงลงอาหารจะปัก 1-4 ต้น/ถุง ถ้าลงขวด 1-2 ต้น/ขวด พอมีรากสมบูรณ์ ทรงต้นแข็งแรงจึงนำไปอนุบาลอีก 1-2 เดือน”

ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

วิธีนำ ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ออกมาอนุบาล

  1. นำต้นพืชออกมาล้างวุ้นออกให้สะอาด
  2. นำต้นพืชแช่น้ำสารป้องกันเชื้อรา ชื่อสามัญเมทาแลกซิล (Metalaxyl) เพื่อป้องกันโรค รากเน่าโคนเน่า
  3. ย้ายต้นพืชลงวัสดุปลูกควรใช้วัสดุปลูกที่เหมาะกับไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มีลักษณะร่วนซุย เช่น พีทมอส พีทมอสผสมเพอร์ไลท์ พีทมอสผสมขุยมะพร้าวและแกลบ หรือขุยมะพร้าวผสมแกลบ
  4. นำต้นกล้าที่ย้ายปลูกแล้วใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงเพื่อควบคุมความชื้น หากพืชต้นเล็กสามารถใส่แก้วกาแฟและครอบฝาพลาสติก แต่หากมีจำนวนมากให้ทำกระโจมพลาสติกคลุม
  5. อนุบาลต้นกล้าประมาณ 3-4 สัปดาห์ จึงย้ายลงกระถางที่ต้องการปลูกต่อไป แนะนำให้รดสารป้องกันเชื้อราในดินปลูกอีกครั้ง
ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ทางแล็บมีการผลิตพืชกลุ่มไม้ประดับ ได้แก่ ฟิโลเดนดรอนพิ้งค์พริ้นเซส ฟิโลเดนดรอนไวท์ไนท์  ฟิโลเดนดรอนแบล็กคาร์ดินัล ฟิโลเดนดรอนกลอริโอซัม ฟิโลก้านส้ม ซิงโกเนียมไหลขาว ออมชมพู อโลเคเซีย กล้วยแดงอินโด กุหลาบ กล้วยน้ำว้า โดยมีลูกค้ามาซื้อหน้าสวนและลูกค้าออนไลน์ รวมทั้งพ่อค้าและแม่ค้ามาสั่งผลิตไปขาย นอกจากผลิตต้นไม้แล้ว DR Lab ยังรับสอนทำแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ไม้ใบสกุล Syngonium สีสันสวยงามที่ร้านต้นไม้นิยมมารับไปจำหน่าย
ไม้สกุล Philodendron ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
กล้วยแดงอินโดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
โทรศัพท์ 089-9106894
Facebook : DR Lab พันธุ์พืช
ที่อยู่ : DR Lab 761 ม.6 ต.หนองใหญ่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี

เรื่อง :  วรัปศร

ภาพและข้อมูล : คุณดารุณี ธัญวรรัตนกุล DR Lab จ.ชลบุรี

ผักสวนครัวและสมุนไพรปลูกง่าย

5 ข้อต้องรู้เบื้องต้น เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มทำสวน