อยากปลูกผักแต่ดินไม่ดีเรามีวิธี แก้ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ให้กลายเป็นดินอุดมสมบูรณ์พร้อมปลูก เทคนิคดีๆจากหนังสือ “ผักนอกปลูกง่าย ทำได้ทุกฤดู” ผ่านการทดลองจริงโดย อาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี
แก้ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทราย ทำอย่างไรดี
โดยเฉพาะปัญหาดินที่หลายๆคนมักจะพบบ่อย ๆ เช่น ดินเหนียว ดินทราย ดินเปรี้ยว ดินเค็ม หรือแม้แต่ดินผสมบรรจุถุงที่เราซื้อมาใช้ ลองนำวิธีนี้ไปใช้ แก้ดินเค็ม เปลี่ยนดินไม่ดีให้กลายเป็นดินพร้อมปลูกกัน
ดินเหนียว
ดินบางพื้นที่ที่เป็นดินเหนียวโดยเฉพาะในเมืองที่มักจะมีการนำดินนามาถม เนื้อดินเหนียวและแน่นทำให้พืชเจริญเติบโตช้าหรือชะงักการเจริญเติบโต วิธีปรับปรุงดินเหนียวให้โปร่งและร่วนซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดีขึ้น เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ทำให้รากชอนไชได้ง่าย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอัตราส่วน 2 กิโลกรัม และ กาบมะพร้าวสับหรือทรายหยาบ 2 กิโลกรัม ต่อแปลงปลูก 1 ตารางเมตร

ดินทราย
ลักษณะดินมีความพรุนสูง ไม่อุ้มน้ำ ปรับปรุงด้วยอินทรียวัตุถุที่อุ้มน้ำได้ดี เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน อัตราส่วน 1-2 กิโลกรัม และขุยมะพร้าว 1 กิโลกรัมต่อแปลงปลูก 1 ตารางเมตร อาจใช้ขี้เถ้าแกลบ ขี้เลื่อย หรือเศษใบไม้แห้งแทนขุยมะพร้าวก็ได้ คลุกเคล้าให้เข้ากันหมักทิ้งไว้ 15 วัน จะทำให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดีขึ้นและมีปริมาณธาตุอาหารมากขึ้นด้วย

ดินเปรี้ยว
ดินเปรี้ยวหรือดินที่มีกรดจัดการปรับปรุงดินเบื้องต้นคือเติมปูนเพื่อลดความเป็นกรดของดิน เช่น หินปูน ปูนขาวหรือเปลือกหอยเผา ปูนมาร์ล โดโลไมต์ ระยะเวลาขึ้นกับค่าความเป็นกรดของดิน
ดินที่มีค่า pH 3-4 ปูน 1-1.5 กิโลกรัม แกลบดิบ 2 กิโลกรัม และปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัม ต่อแปลงปลูก 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน รดด้วยน้ำหมักชีวภาพ อัตราส่วน 20 มิลลิลิตร (4 ช้อนโต๊ะ) ต่อน้ำ 10 ลิตร
ดินที่มีค่า pH 4-5 ปูน 1 กิโลกรัม แกลบดิบ 1 กิโลกรัม และปุ๋ยคอก 2 กิโลกรัม ต่อแปลงปลูก 1 ตารางเมตร รดด้วยน้ำหมักชีวภาพ อัตราส่วน 20 มิลลิลิตร (4 ช้อนโต๊ะ) ต่อน้ำ 10 ลิตร
ระหว่างหมักดินให้คลุมฟางหรือซาแรน รดน้ำ 2 วันครั้ง รดน้ำหมักชีวภาพทุก 7 วัน ดินที่เป็นกรดจัดใช้เวลา 2-3 เดือน ส่วนดินที่เป็นกรดไม่มากนักใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

แก้ดินเค็ม
ดินที่มีเกลือที่ละลายได้ในสารละลายดินปริมาณมาก จนกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช จะสังเกตเห็นคราบเกลือเป็นหย่อมๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง พืชมักจะแสดงอาการใบไหม้ ลำต้นแคระแกร็น เนื่องจากพืชจะขาดน้ำ ความเป็นพิษจากธาตุโซเดียมและคลอไรด์ และเกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร สามารถปรับปรุงดินโดยบำรุงด้วยอินทรียวัตถุ ได้แก่ แกลบ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด หรือใช้ยิปซัม ร่วมกับปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก เพื่อทำให้ดินลดความเค็มลง ปรับโครงสร้างและและเพิ่มปริมาณธาตุอาหาร อาจจะเลือกปลูกพืชทนเค็มที่เหมาะสมกับระดับความเค็มของดิน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ กุยช่าย แตงแคนตาลูป บล็อคโคลี่ คะน้า การให้น้ำระบบน้ำหยด จะช่วยควบคุมความชื้นดิน ความเค็มดิน และประหยัดน้ำได้ดี นอกจากนี้ควรมีการคลุมดินหลังปลูกเพื่อรักษาความชื้นและป้องกันการสะสมของเกลือที่ผิวดิน
ข้อมูล : กลุ่มวิจัยและพัฒนาการจัดการดินเค็ม กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน โทรศัพท์ 02-561-4513 www.ldd.go.th

ดินถุง
ดินถุงบางสูตร มีส่วนผสมของขุยมะพร้าวหรืออินทรียวัตถุตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป ทำให้ธาตุอาหารไม่เพียงพอ วิธีปรับปรุงทำเช่นเดียวกับปรับปรุงดินเหนียวและการทำปุ๋ยหมัก โดยนำดินถุงมาผสมกับปุ๋ยคอกและกาบมะพร้าวสับเล็กอย่างละ 1 ส่วน รดให้ชุ่มด้วยน้ำหมักชีวภาพอัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะ (5 มิลลิลิตร) ต่อน้ำ 1 ลิตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน คลุมดินวางในที่ร่ม หมักทิ้งไว้ 15 วัน หรือสัมผัสแล้วไม่ร้อนก็สามารถนำมาปลูกผักได้ หรือหมักดินถุงร่วมกับเศษวัชพืชในสวน เศษใบไม้แห้ง หรือเศษอาหารในครัวเรือน คลุกเคล้าให้เข้ากันและรดน้ำหมักชีวภาพ เมื่อร่วนซุยดีแล้วจึงนำมาปลูกผักต่อไป


Tips
- หากมีพื้นที่มากและต้องการปลูกผักเป็นการค้า ควรเก็บตัวอย่างดินไปตรวจวัดค่าความอุดมสมบูรณ์ ความเป็นกรด-ด่าง และลักษณะทางกายภาพ เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืชผักที่ปลูก
- ดินที่ผ่านการหมักจะมีสีคล้ำ ความชื้นเหมาะสม เหมาะสำหรับปลูกพืช
- แม้จะปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์เหมาะกับปลูกพืชผักแล้วยังต้องมีการใส่ปุ๋ยเพื่อให้พืชผักเจริญเติบโต และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะผักที่มีอายุหลายปี จำเป็นต้องเพิ่มธาตุอาหารในดินไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยเคมี ปุ๋ยชีวภาพ


เรื่อง : วรัปศร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ / อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
เรียบเรียงข้อมูลจาก หนังสือผักนอกปลูกง่าย ทำได้ทุกฤดู สำนักพิมพ์บ้านและสวน โดย วิรัชญา จารุจารีต และ อาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี
