เมื่อพูดถึงในภาคการเกษตร น้ำถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการทำการเกษตร เพราะตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยวน้ำจะเป็นส่วนหนึ่งที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต แต่ในบางที่พื้นที่ที่ขาดน้ำจึงต้องมีการ เจาะบาดาล
การ เจาะบาดาล มาใช้ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับพื้นที่ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ หรือพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงแหล่งน้ำที่ภาครัฐจัดสรรหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ การเจาะน้ำบาดาลยังเป็นแนวทางที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ต้องควบคู่ไปกับการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและใช้แต่พอดี

แหล่งน้ำบาดาลคืออะไร?
น้ำบาดาลเป็นน้ำที่ถูกกักเก็บหรือสะสมอยู่ใต้พื้นดินลึกลงไปจากหน้าดิน ชั้นดิน ชั้นหิน แทรกอยู่ระหว่างกรวดและทรายใต้ผิวดิน น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โซนที่มีทั้งน้ำและอากาศ (unsaturated zone) จะอยู่หรือจากผิวดินประมาณ 1-2 เมตร ซึ่งจะเป็นแหล่งหาอาหารของรากต้นไม้และเป็นที่อยู่ของสัตว์และแมลงบางชนิด และ โซนที่มีแต่น้ำเท่านั้น (saturated zone) โซนนี้ถือว่าเป็นโซนน้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินอย่างแท้จริง
เจาะบาดาล ต้องทำอย่างไร?
เริ่มจากการสำรวจพื้นที่หาตำแหน่งที่มีน้ำใต้ดิน เช่น การใช้แผนที่น้ำบาดาล การใช้เครื่องมือทางธรณีวิทยาหรือจะใช้วิธีหาแหล่งน้ำใต้ดินแบบชาวบ้านก็ยังมีอยู่ เมื่อพบแหล่งน้ำแล้วก็จะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการอย่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพจะต้องได้รับอนุญาตก่อนทำการเจาะน้ำบาดาล เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็จะดำเนินการเจาะน้ำบาดาลได้ ควรใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงน้ำชั้นใต้ดิน

พื้นที่ไหนสามารถ เจาะบาดาล ได้บ้าง?
หากอยากทราบว่าพื้นที่ไหนเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้บ้าง สามารถตรวจสอบได้ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล พื้นที่ในประเทศไทยที่สามารถเจาะน้ำบาดาลมาใช้ได้จะเป็นพื้นที่แอนตะกอนหรือแอ่งหินชั้นบริเวณที่ราบลุ่มหรือพื้นที่ริมแม่น้ำ
ส่วนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการเจาะน้ำบาดาลจะเป็นพื้นที่ภูเขาหินแกรนิตหรือหินแปรอย่างในบางพื้นที่ของภาคเหนือและภาคใต้ที่ไม่มีช่องว่างใต้ดินพอให้มีน้ำสะสม พื้นที่ที่เป็นดินเค็มหรือใกล้ทะเลก็ไม่ควรเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพราะเสี่ยงต่อการเจอน้ำกร่อยหรือน้ำทะเลรั่วไหลเข้าชั้นน้ำใต้ดินและอีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่เหมาะสมต่อการเจาะน้ำบาดาลคือพื้นที่ดินดาน หรือชั้นดินเหนียวหนาเพราะน้ำจะซึมผ่านได้ยากหรือเมื่อเจาะแล้วอาจจะได้น้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการใช้สอย

เจาะบาดาลด้วยตัวเองต้องมีงบเท่าไหร่?
การเจาะน้ำบาดาลในแต่ละพื้นที่มีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ โดยปัจจัยที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายในการเจาะน้ำดาบาล ประกอบไปด้วย
- พื้นที่และระดับความลึกของชั้นน้ำบาดาลที่สามารถใช้งานได้ โดยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีระดับน้ำบาดาลที่ตื้นกว่าภาคเหนือหรือภาคกลาง ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกกว่าภาคอื่นๆ
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีราคา 8,000 – 40,000 บาท
– ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ มีราคา 40,000 – 120,000 บาท - ชนิดของชั้นดินชั้นหิน โดยพื้นที่ที่เป็นชั้นหินจะใช้วิธีการเจาะด้วยลม ส่วนพื้นที่ที่เป็นชั้นกรวดทรายจะใช้วิธีการเจาะด้วยระบบน้ำโคลน
- ขนาดของบ่อน้ำบาดาล โดยบ่อที่มีขนาดเล็กกว่า จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า
- ชนิดของวัสดุในการสร้างบ่อน้ำดาบาล โดยบ่อที่ใช้ท่อ PVC จะมีราคาถูกกว่า บ่อที่ใช้ท่อเหล็ก

วิธีเลือกปั๊มน้ำบาดาลให้เหมาะสมกับบ่อ
ปั๊มน้ำบาดาลหรือปั๊มซับเมิร์ส (Submersible Pump) เป็นตัวช่วยในการสูบน้ำขึ้นมาจากแหล่งน้ำใต้ดินที่มีความลึกมาก ให้เราได้ใช้อย่างง่ายดาย โดยการติดตั้งและโครงสร้างของปั๊มน้ำจะต้องมีความแข็งแรงทนทานและแน่นหนา เพราะว่าปั๊มจะต้องแช่อยู่ในบ่อตลอดการใช้งาน
โดยเกณฑ์ในการเลือกปั๊มน้ำบาดาลเบื้องต้นมี 3 ข้อ ที่ต้องพิจารณาตามนี้
- รู้ความกว้างของบ่อน้ำบาดาล เพื่อเลือกขนาดของปั๊มน้ำบาดาลให้เหมาะสม โดยทั่วไปขนาดของบ่อจะมีความกว้างประมาณ 3-5 นิ้ว
- รู้ระยะความลึกที่เจอน้ำ เพื่อกำหนดความลึกที่จะหย่อนปั๊มน้ำบาดาล โดยจะหย่อนให้ปั๊มบาดาลอยู่ต่ำกว่าระยะที่เจอน้ำเป็น 1.5-2 เท่า เช่น ถ้าเจอน้ำที่ความลึก 10 เมตร ก็จะหย่อนให้ปั๊มบาดาลลงไปอีก 15-20 เมตร จากระยะที่เจอน้ำ เนื่องจากน้ำบาดาลมีโอกาสน้ำขึ้น-ลง ตามช่วงเวลาต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ปั๊มบาดาลขาดน้ำและชำรุดในที่สุด รวมถึงควรให้ตัวปั๊มลอยอยู่เหนือก้นบ่อประมาณ 5 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ปั๊มน้ำดูดโคลน ทรายหรือเศษหินต่างๆ ขึ้นมากับน้ำ
- รู้อัตราการให้น้ำของบ่อบาดาล เพื่อเลือกสเปกปั๊มให้เหมาะสม โดยสามารถสอบถามได้จากช่างเจาะบ่อบาดาล เพราะถ้าหากติดตั้งปั๊มน้ำแล้ว แต่ปริมาณน้ำมีไม่พอต่อการใช้งานจะทำให้ปั๊มน้ำเสียหายได้ แต่ถ้าหากปริมาณน้ำมีมากเพียงพอการเลือกปั๊มน้ำที่มีแรงม้าสูงก็จะช่วยให้การดูดน้ำเร็วและแรงมากขึ้น

ข้อดีและข้อเสียของแหล่งน้ำบาดาล
ข้อดีของการเจาะบ่อน้ำบาดาลช่วยให้มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปีเหมาะกับพื้นที่ทำการเกษตรที่ฝนตกน้อยหรือพื้นที่ที่แห้งแล้ง ลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง การเจาะบ่อน้ำบาดาลจะช่วยประหยัดพื้นที่ในการสร้างแหล่งน้ำบนดินไม่ต้องขุดสระเพื่อขังน้ำไว้ใช้ เป็นแหล่งน้ำสำรองกรณีน้ำประปาขาดแคลน
ส่วนข้อเสียและข้อควรระวังคือน้ำใต้ดินอาจมีสารปนเปื้อนหรือแร่ธาตุที่เกิดมาตรฐาน เช่น เหล็ก แมงกะนีส หรือมีหินปูนที่ปะปนมากับน้ำหากใช้เพื่อการบริโภคจะต้องตรวจคุณภาพน้ำก่อนใช้ และถ้าหากใช้น้ำเกินพอดีอาจทำให้ระดับน้ำใต้ดินลดลง พื้นดินบริเวณนั้นอาจยุบตัวลงได้ ในบางพื้นที่ไม่สามารถเจาะน้ำบาดาลมาใช้ได้เพราะไม่มีแหล่งน้ำใต้ดินที่เพียงพอ เช่น บริเวณภูเขาหินทางตอนเหนือของประเทศ หรือชายฝั่งทะเล และที่สำคัญต้นทุนการเจาะและการติดตั้งค่อนข้างสูงยิ่งในพื้นที่ที่น้ำใต้ดินอยู่ลึกมากๆ ก็จะยิ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้น
เรื่อง : สรวิศ บุญประสพ
อ้างอิง : กรมทรัพยากรน้ำบาดาล