ระบบระบายน้ำในกระบะปลูกผัก สำคัญอย่างไร? ในช่วงหน้าฝนเมื่อฝนตกกระหน่ำจะทำอย่างไรไม่ให้แปลงผักเกิดน้ำขัง โดยเฉพาะแปลงผักบนพื้นคอนกรีตซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในพื้นที่เมือง
วิธีป้องกันปัญหานี้ทำได้ง่ายๆ ด้วยการวาง ระบบระบายน้ำในกระบะปลูกผัก เริ่มจากจัดการส่วนผสมของวัสดุปลูกให้โปร่งระบายน้ำได้ดี อย่าปล่อยให้ดินอัดแน่น และวางระบบระบายน้ำในแปลงให้สามารถระบายน้ำได้ดี ลดปัญหาโรคพืชที่จะตามมาหากเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
การวางระบบแปลงปลูกให้ระบายน้ำได้คล่อง ทำได้หลายวิธีตามระดับความสูงของแปลงและความสะดวกในการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ จะมีอะไรบ้างนั้น ลองนำไปปรับใช้กันได้เลย
1 | ระบบระบายน้ำในกระบะปลูกผัก ขนาดสูง

ชนิดวัสดุ : แปลงปลูกอะลูมิเนียม ซิงก์
ความสูง : 45-50 เซนติเมตร
ชั้นดิน : ใช้เศษอินทรีย์วัตถุเป็นหลัก โดยไล่เรียงเป็นละดับชั้นจากขนาดใหญ่ไว้ชั้นล่างสุด เช่น ขอนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้แห้ง และสุดท้ายคือดินปลูก
ข้อดี : ประหยัดค่าใช้จ่าย
ข้อด้อย : การวางระบบแบบนี้ เมื่อใช้ไปนานๆ อินทรีย์วัตถุอย่างขอยไม้ กิ่งไม้ จะเริ่มย่อยสลาย ทำให้หน้าดินจะหยุบลงเรื่อยๆ จึงต้องหมั่นเติมดินปลูกอยู่เสมอ
พืชเหมาะสม : ด้วยความสูงของขนาดแปลง จึงเหมาะที่จะปลูกพืชกินหัว กินผล หรือพืชที่มีระบบรากลึก เช่น แครอต เคล มะเขือเทศ เลมอน ฟิก ดอกดาวกระจาย
2 | ระบบระบายน้ำในแปลงผักขนาดกลาง

วัสดุ : แปลงคอนกรีต,อิฐก่อ
ความสูง : 30-45 เซนติเมตร
ชั้นดิน : เริ่มจากวางแผ่น Drain Grid ที่ก้นกะบะและด้านข้าง แล้วหุ้มด้วยแผ่น Geotextile จากนั้นโรยก้อนกรวดช่วยระบายน้ำได้เร็วขึ้น แล้วค่อยใส่ดินปลูกชั้นสุดท้าย วิธีนี้แปลงปลูกจะต้องเจาะช่องระบายน้ำด้วย
ข้อดี : อายุการใช้งานยาวนาน
ข้อด้อย : มีค่าใช้จ่ายสูง
พืชที่เหมาะสม : ปลูกพืชที่มีระบบรากลึก หรือพืชที่มีอายุยืนได้ ทั้ง พืชกินหัว ผักพืนบ้าน สมุนไพรฝรั่ง เช่น แครอต หัวไชเท้า โรสแมรี่ มินต์ ลาเวนเดอร์ กะเพรา ขิง ตะไคร้ เป็นต้น
3 | ระบบระบายน้ำในแปลงผักขนาดตื้น

วัสดุ : แปลงไม้ แผ่นกระเบื้อง
ความสูง : 15-20 เซนติเมตร
ชั้นดิน : ปูก้นกระบะด้วยผ้า Geotextile ตามด้วยเศษใบไม้แห้ง ปิดท้ายด้วยดินปลูกชั้นบนสุด
ข้อดี : การรองก้นกระบะด้วย Geotextile จะช่วยป้องกันให้ธาตุอาหารของพืชชะล้างลงไปตามพื้นดิน
ข้อด้อย : การรองก้นกระบะด้วย Geotextile มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวัสดุอื่นๆ
พืชที่เหมาะ : พืชรากสั้น ผักกินใบ เช่น ผักสลัด กรีนโอ๊ก คอส บัตเตอร์เฮด ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง
วิธีวางระบบระบายน้ำในกระบะปลูกผักทั้ง 3 แบบ สามารถปรับประยุกต์ตามความเหมาะสมได้ โดยให้ยึดธรรมชาติของพืชที่ปลูกเป็นหลัก รวมทั้งบริบทรอบข้าง อย่างแปลงคอนกรีตเหมาะสำหรับพื้นที่ในเมืองที่เป็นพื้นคอนกรีตเป็นหลัก ส่วนแปลงไม้ที่มีความลึกไม่มาก เหมาะจะวางกับพื้นดินมากกว่า ส่วนแปลงอะลูมิเนียมซิงก์ เคลื่อนย้ายง่าย มีขนาดกะทัดรัดจึงเหมาะกับพื้นที่ในเมือง เป็นต้น