วิธีรับมือกับอากาศร้อน สำหรับคนเลี้ยงไก่ไข่

ไข่ไก่เป็นวัตถุดิบที่อยู่คู่ครัวไทยแทบทุกหลังคาเรือน และก็มีหลายบ้านที่เลี้ยงไก่ไข่ไว้เก็บไข่ทานเอง แต่พอเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่อากาศมีอุณหภูมิสูงจัด แม่ไก่เริ่มมีอาการแปลกๆ อีกทั้งปริมาณและคุณภาพไข่ไก่ก็ไม่ดีเหมือนที่เคยผู้ที่ เลี้ยงไก่ไข่หน้าร้อน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ

การ เลี้ยงไก่ไข่หน้าร้อน แล้วพบว่าอาการและคุณภาพไข่ไก่ที่ลดลงนี้เหล่านี้ เป็นไปได้ว่าแม่ไก่อยู่ในภาวะความเครียดจากความร้อน และไก่ยังเป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อช่วยระบายความร้อนเหมือนกับคน มีขนปกคลุมทั่วทั้งตัว ทำให้การระบายความร้อนของไก่ทำได้ยาก หากไม่รีบจัดการอาจทำให้เกิดการสูญเสียขึ้นได้

การจัดการกับแม่ไก่ไม่ให้เกิดภาวะเครียดจากความร้อน จึงต้องรู้ตั้งแต่อาการที่พบเจอ วิธีการจัดการกับเล้าไก่อย่างเหมาะสม การปรับสูตรอาหาร รวมถึงวิธีที่ทำให้ไข่ไก่ยังคงคุณภาพไว้ให้ได้ดีดังเดิม

เลี้ยงไก่ไข่หน้าร้อน

1 I อากาศร้อนส่งผลต่อแม่ไก่อย่างไร?

อากาศร้อนจะทำให้แม่ไก่เกิดภาวะความเครียดจากความร้อน หรือที่เรียกว่า Heat stress และถ้าอุณหภูมิในเล้าสูงขึ้นเกินกว่า 39 องศาเซลเซียส แม่ไก่ก็อาจจะทยอยตายได้ โดยอาการเริ่มแรกจะมี ดังนี้

  • กระหายน้ำ กินน้ำมากขึ้น
  • กินอาหารได้น้อยลง หรือความอยากอาหารลดลง
  • หน้าซีด หงอนซีด ลักษณะเหมือนไม่สบาย
  • มูลไก่มีลักษณะเหลว
  • อ้าปากหอบตลอดเวลาเพื่อระบายความร้อน ทำให้สูญเสียพลังงานเป็นอย่างมาก
เลี้ยงไก่ไข่หน้าร้อน

2 I เลี้ยงไก่ไข่หน้าร้อน กับ วิธีการจัดการกับเล้าไก่ในช่วงหน้าร้อน

การลดความร้อนให้กับไก่ไข่ ให้เริ่มจากลดความร้อนจากหลังคาเล้าไก่ โดยการบุแผ่นฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา หรือทำหลังคาจากวัสดุธรรมชาติเพิ่มอีก 1 ชั้น ใต้หลังคาสังกะสีหรือหลังคากระเบื้องเพื่อลดความร้อน การลดความร้อนอีกวิธีหนึ่ง คือ ติดสปริงเกอร์และเปิดน้ำเพื่อลดความร้อนก่อนที่อากาศร้อนเริ่มร้อน ในช่วง 10.00 – 15.00 น. รวมถึงติดตั้งพัดลมระบายอากาศและระบบพ่นหมอกภายในเล้าไก่

เลี้ยงไก่ไข่หน้าร้อน

3 I การจัดการกับสภาพแวดล้อมโดยรอบของเล้าไก่

ปลูกต้นไม้รอบๆ โรงเรือนเพื่อบังแสงแดดส่องเข้ามาในโรงเรือนก็จะช่วยให้ความร้อนภายในโรงเรือนและบริเวณโดยรอบลดลงได้

เลี้ยงไก่ไข่หน้าร้อน

4 I สาเหตุที่ทำให้ช่วงหน้าร้อนคุณภาพไข่ไก่ลดลง

เมื่ออากาศร้อนแม่ไก่จะแสดงอาการหอบ ส่งผลทำให้แม่ไก่สูญเสียคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ช่วยในกระบวนการสร้างไข่ ทำให้เปลือกไข่บางลง ไข่แดงมีสีซีด ขนาดของไข่เล็กลง รวมไปถึงผลผลิตไข่ลดลงอีกด้วย การลดความร้อนในเล้าไก่ลงได้ จึงมีส่วนช่วยในการรักษาคุณภาพของไข่ไก่ไว้ดังเดิม แต่ต้องควรคู่กับการดูแลเรื่องอาหารด้วยเช่นกัน

5 I เลี้ยงไก่ไข่หน้าร้อน กับ การดูแลอาหารของแม่ไก่

ในส่วนของการจัดการอาหารก็เป็นสิ่งที่สามารถช่วยลดความเครียดของแม่ไก่ลงได้ ควรมีการปรับสมดุลของสารอาหารที่แม่ไก่จะได้รับในแต่ละวัน ควรมีโปรตีนประมาณ 13-15 % คาร์โบไฮเดรตที่เป็นแหล่งพลังงานประมาณ 38-61% และอยู่่ในรูปที่ย่อยง่าย เช่น น้ำตาลและแป้ง

นอกจากนี้แล้วอาหารในส่วนของไขมันจะช่วยลดความร้อนภายในตัวของแม่ไก่ได้ดี ช่วยให้เกิดกระบวนการเผาผลาญพลังงานได้ ควบคู่กับการเสริมแคลเซียม โพแทสเซียม และกรดอะมิโนบางชนิดเพื่อให้แม่ไก่แข็งแรงมากขึ้น

6 I การปรับเวลาในการให้อาหาร

ปรับเวลาการให้อาหาร มื้อเช้า เริ่มให้อาหารประมาณ 05.00-06.00 น. มื้อบ่ายจะเริ่มให้ 17.00-18.00 น. เนื่องจากในช่วงเวลากลางวันถ้าอากาศร้อนแม่ไก่จะกินอาหารน้อยลง และควรเพิ่มรอบการกินอาหารในช่วงเวลากลางคืนประมาณ 23.00-00.00 น. อีกรอบ

7 I น้ำที่แม่ไก่ต้องการในช่วงหน้าร้อน

ถังพักน้ำอยู่ควรในร่ม หรือต้องไม่ถูกแสงแดดส่องถึง เมื่อปล่อยน้ำให้ไก่กิน น้ำจะได้มีอุณหภูมิปกติ ไม่ร้อน ควรจัดหาน้ำสะอาดให้เพียงพอ และอุณหภูมิของน้ำควรอยู่ที่ประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส เพื่อให้อุณหภูมิในตัวแม่ไก่ลดลง

เรื่อง : สรวิศ บุญประสพ

อ้างอิง : Sanimals / CPF Feed Solution

เทคนิคเลี้ยงไก่และเลือกพันธุ์ไก่ ให้ออกไข่ทุกวัน

ทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ เป็นอาชีพ ลงทุนให้ทำกำไร