จุดเริ่มต้นของแหล่งอาหารที่ทุกคนรับประทาน ล้วนแล้วมาจากการเกษตร เรียกได้ว่า เป็นสิ่งที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงประชากรให้มีอาหารไว้รับประทาน
แต่การทำเกษตรในยุคปัจจุบัน กลับกำลังเจอปัญหาที่กำลังก่อตัวขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาแรงงานขาดแคลน สภาพอากาศแปรปรวน พื้นที่การทำเกษตรลดน้อยลง จากการขยายตัวของเมือง รวมถึงโรค และ แมลงต่างๆ ปัจจุบัน จึงมี เทคโนโลยีเกษตร ที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ผลผลิตที่ได้จากภาคเกษตรมีจำนวนน้อยลง สวนทางกับความต้องการอาหารที่สูงขึ้น ตามการเจริญเติบโตของประชากร ดังนั้น เทคโนโลยีเกษตร จึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ การใช้โดรนเพื่อการเกษตร การปลูกพืชในโรงเรือนอัจฉริยะ การใช้ Ai ตรวจสอบโรคพืช เป็นต้น รวมถึงเพิ่มคุณภาพของผลผลิตให้ดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
1 I เทคโนโลยีเกษตร โดรนเพื่อการเกษตร
โดรนเพื่อการเกษตร เป็นโดรนขนาดใหญ่ที่มีถังไว้สำหรับบรรจุเมล็ดพันธุ์หรือปุ๋ยต่างๆ ทำหน้าที่ในการหว่านปุ๋ย หว่านเมล็ดพันธุ์ ฉีดพ่นปุ๋ยต่างๆ ซึ่ง โดรนนั้นมีการทำงานที่รวดเร็ว ทำให้ ช่วยลดค่าแรงงานลงได้ นอกจากนี้ ก็มีโดรน เพื่อการเกษตรอีกประเภท ที่ใช้สำรวจพื้นที่เพาะปลูก ตรวจโรคแมลงศัตรูพืช เพื่อ ให้เกษตรกรสามารถอัพเดทสถานการณ์ และ แก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
2 I เทคโนโลยีเกษตร โรงเรือนอัจฉริยะ (Smart Greenhouse)
เป็นการทำฟาร์มในร่มโดยใช้โรงเรือนอัจฉริยะ ควบคุมการเพาะปลูกโดยอัตโนมัติ ทั้งระดับอุณหภูมิ ความชื้น การให้น้ำ ปริมาณปุ๋ย ความเข้มของแสง เพื่อ ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกอยู่ภายในโรงเรือน นอกจากนี้ ตัวโครงสร้างของโรงเรือนเองก็ ช่วยป้องกันความแปรปรวนจากสภาพแวดล้อมภายนอก รวมถึงศัตรูพืชต่างๆ ด้วย
3 I เทคโนโลยีเกษตร โรงงานผลิตพืช (Plant Factory with Artificial Light)
มีการควบคุมปัจจัยภายในคล้ายกับโรงเรือนอัจฉริยะ แต่จะแตกต่างตรงที่ระบบนี้มีการทำฟาร์มภายในอาคารที่ สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม และ ปัจจัยต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ต้องพึ่งพาฤดูกาล รวมถึงควบคุมการสังเคราะห์แสงของพืชโดยใช้แสงเทียม (Artificial Light) ในการปลูก สามารถมีผลผลิตได้ตลอดทั้งปีในทุกพื้นที่ และ สามารถปลูกพืชในแนวตั้งได้ ทำให้ มีพื้นที่ในการปลูกหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับการปลูกแบบปกติ
4 I เทคโนโลยีเกษตร Ai ตรวจสอบสายพันธุ์ และ คุณภาพของข้าว
จากปัญหาในการตรวจสอบข้าวที่ใช้ระยะเวลานาน และ อาจเกิดความผิดพลาดได้ จึงมีตัวช่วยที่เข้ามาตรวจสอบข้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งด้านเวลา และ ความแม่นยำ โดยใช้ Ai เข้ามาช่วยผ่านการเรียนรู้แบบ Deep Learning ผ่านภาพถ่าย จากปกติที่ใช้เวลาในการตรวจสอบสายพันธุ์ข้าว 100 เมล็ด จะใช้เวลา 30 นาที แต่ถ้าใช้ Ai สามารถลดระยะเวลาเหลือเพียงแค่ 3-5 นาที ต่อตัวอย่างข้าว 400-600 เมล็ด ส่วนการตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร ใช้เวลาแค่ 3 นาที ต่อข้าว 20 กรัม ซึ่งเร็วกว่าแบบเดิมที่ใช้เวลา 30-60 นาที
5 I เทคโนโลยีเกษตร ตรวจสุขภาพข้าวผ่านไลน์บอทโรคข้าว
ตัวช่วยที่เข้ามาวินิจฉัยโรคข้าวได้ โดยที่ชาวนาไม่ต้องตามหาผู้เชี่ยวชาญ และ ไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังประหยัดเวลาได้อย่างมาก วิธีการทำงานเริ่มจากให้ชาวนาถ่ายรูปข้าวที่คาดว่าเป็นโรค ส่งรูปไปยังแอปพลิเคชันไลน์ จากนั้น ทางไลน์บอทก็จะวิเคราะห์โรคที่พบเจอ พร้อมกับแนะนำวิธีการจัดการโรค ใช้งานฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ทราบผลเร็วภายใน 5 วินาที และ ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
6 I ดาวเทียม กับ Digital Platform
จากความสามารถของดาวเทียม THEOS-2 ดาวเทียมตัวใหม่ของไทย ที่สามารถจำแนก และ ระบุสิ่งที่คลุมอยู่บนพื้นผิวโลกได้ค่อนข้างดี ทำให้ สามารถนำข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมมาใช้ผ่าน Digital Platform ในรูปแบบของแอปพลิเคชั่น แมลงปอ (Dragonfly) ในการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ เพื่อ ให้เกษตรกรสามารถติดตามความสมบูรณ์ของพืช แจ้งเตือนสภาพอากาศ ภัยแล้ง และ น้ำท่วม ภายในแปลงเกษตรของตนเองได้
7 I ไฮโดรโปรนิกส์แนวตั้ง (Vertical Hydroponic)
หนึ่งในรูปแบบการปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ แต่แตกต่างตรงที่ พืชจะถูกปลูกตามแนวตั้ง โดยมีปั๊มน้ำทำหน้าที่ส่งน้ำที่มีสารอาหารไปยังด้านบนของระบบ ซึ่งภายในจะมีช่องให้น้ำไหลสัมผัสกับรากพืช ทำให้ พืชสามารถได้รับสารอาหาร และ เจริญเติบโตได้ ด้วยการออกแบบให้ปลูกพืชตามแนวดิ่ง ทำให้ สามารถปลูกผักในพื้นที่จำกัดได้เป็นอย่างดี
8 I กระถางย่อยสลาย NU Bio Bags
เป็นกระถางย่อยสลายที่ผลิตจาก ไบโอคอมโพสิตฟิล์ม PLA ผสมกากกาแฟ เป็นภาชนะสำหรับปลูกพืชที่สามารถย่อยสลายได้ และ ไม่มีสารเคมีตกค้าง เมื่อกระถางเริ่มย่อยสลาย จะปลดปล่อยธาตุอาหารจากกากแฟ ซึ่งพืชสามารถดูดซึมนำไปใช้ได้ อีกทั้งสามารถป้องกันรังสียูวี ทำให้ รากพืชไม่เกิดความเสียหายในขณะที่ปลูกอยู่ในภาชนะอีกด้วย
9 I การปรับปรุงพันธุ์พืชให้ไร้เมล็ด
วิธีการที่ทำให้พืชไร้เมล็ด และ เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ การใช้สารโคลชิซีน (Colchicine) โดยสารนี้จะไปเพิ่มชุดจำนวนโครโมโซมของพืชให้มีจำนวนคู่มากกว่าปกติ จากนั้น จึงนำเกสรตัวผู้ของพืชปกติ มาผสมเข้ากับเกสรตัวเมียของพืชที่ได้รับสาร ก็จะเกิดเป็นผล ที่มีเมล็ดพันธุ์พืชไร้เมล็ดอยู่ภายใน แต่พอนำเมล็ดไปเพาะ พืชที่ได้จะเป็นหมัน จึงต้องใช้เกสรตัวผู้ของพืชปกติมาผสมพันธุ์อีกครั้ง เพื่อ ให้เกิดเป็นผลที่ไร้เมล็ด (เมล็ดลีบแบน อ่อนนิ่ม สามารถทานได้) ซึ่งผลไม้ที่ไร้เมล็ดจะมีราคาที่สูงกว่าผลไม้ทั่วไป ทำให้ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมากขึ้นตามไปด้วย
10 I การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Plant Tissue Culture)
เป็นวิธีในการขยายพืชแบบไม่ใช้เพศ สามารถเพิ่มจำนวนได้มากในระยะเวลาสั้นๆ ได้ต้นที่มีลักษณะตรงตามต้นแม่พันธุ์ ต้นพืชที่ได้มีความสม่ำเสมอ ปลอดเชื้อโรค และ มีความแข็งแรง วิธีขยายพันธุ์ เริ่มจากการตัดส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อเจริญของพืช มาเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ และ นำไปเลี้ยงต่อในสภาพแวดล้อมที่ปลอดเชื้อ สามารถใช้กับพืชได้หลากหลายชนิด โดยจะนิยมกับพืชที่มีราคาสูง
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องราว นวัตกรรม และ เทคโนโลยีตัวช่วยทำฟาร์มในยุคดิจิทัล สามารถศึกษาเพิ่มเติม ได้ที่ หนังสือ บ้านและสวน Garden&Farm เกษตรอัจฉริยะ Smart Farming Vol.18