ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ หรือ ปลูกผักอะควาโปนิกส์ ในรูปแบบ ปลูกผักแนวตั้ง หากปลูกผักสลัด 25 ต้น ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกประมาณ 1 ตารางเมตร
แต่ในพื้นที่เดียวกันนี้หากนำมา ปลูกผักแนวตั้ง ในระบบไฮโดรโปนิกส์แนวตั้ง จะสามารถปลูกได้มากถึง 160 ต้น นี่คือแนวคิดหลักของ Hoka Farm ที่พัฒนารูปแบบการปลูกผักสลัดให้ประหยัดพื้นที่ โดยมี คุณพต – บรรพต และ คุณบี – แคทลียา คู่สามีภรรยาผู้ที่เป็นเจ้าของฟาร์มแห่งนี้
ระบบปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์แนวตั้ง คือ หนึ่งในรูปแบบการ ปลูกผักแนวตั้ง ด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ โดยมีปั๊มน้ำทำหน้าที่ส่งน้ำที่มีสารอาหารไปยังรากพืช ซึ่งช่วยให้สามารถปลูกผักในพื้นที่จำกัดได้เป็นอย่างดี
คุณบี เล่าว่า “สมัยก่อนตอนเป็นนักวิ่ง มีมินิมาราธอนบ้าง ฟูลมาราธอนบ้าง พออายุเริ่มมากขึ้น ก็เลยหันมาดูแลสุขภาพกันนิดนึง อยากจะปลูกผักกินเอง ก็ลงมือกันเลยค่ะ ซื้ออุปกรณ์มาทำมาลองปลูกผักที่ข้างบ้าน”
คุณพต เล่าว่า “ส่วนผมเป็นวิศวกรไฟฟ้าเคยทำงานเซลล์โปรเจคครับ ก็จะรู้จักรู้ราคาอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบกับเป็นคนที่ชอบทำงาน DIY เลยหาซื้อของมาลองทำ ก็มาเจอของต่างประเทศที่ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในแนวตั้งโดยใช้ท่อพีวีซี แล้วมันก็ตอบโจทย์คนในเมืองที่มีพื้นที่น้อยด้วย ก็เลยลองทำดู ซึ่งช่วงแรกก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ”
หลังจากที่คุณพตได้ทดลองทำ ก็พบว่า ท่อพีวีซี 4 นิ้วเจาะรู ช่วยทำให้ปลูกผักได้ จึงเปิดบัญชีอินสตาแกรม hokafarm โพสต์รูประบบที่ทำ จนเริ่มมีคนสนใจอยากซื้อระบบไปปลูกบ้าง แต่กว่าระบบจะพร้อมจำหน่ายคุณพตก็ได้มีการพัฒนาอยู่ตลอดเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี รวมถึงเทคนิคต่างๆ ซึ่งเราจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกันจากการเล่าเรื่องของคุณพต
อุปกรณ์ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และระบบการทำงานของการ ปลูกผักแนวตั้ง
เซตปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในแนวตั้ง ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลัก 4 ชิ้น คือ
1.ถังบรรจุน้ำ จะอยู่ด้านล่างสุดของเซตปลูก ใช้บรรจุน้ำที่ผสมธาตุอาหาร (ปุ๋ยAB) ขนาดความจุถังน้ำจะขึ้นอยู่กับจำนวนชั้นปลูกด้านบน ขั้นต่ำแนะนำที่ความจุ 10 ลิตร ถ้าใช้ถังน้ำที่มีขนาดเล็กก็อาจจะต้องเติมน้ำบ่อยหน่อย แต่ถ้าใช้ถังที่มีขนาดใหญ่เกินไปก็จะเปลืองปุ๋ยที่ใช้ผสม ในถังจะมีปั๊มน้ำ จะวางแช่อยู่ ทำหน้าที่ส่งน้ำในถังขึ้นไปยังชั้นจ่ายน้ำที่อยู่ด้านบน
2.ฐานปลูกและเสาแกนกลาง ทำหน้าที่รับน้ำหนักชั้นจ่ายน้ำและชั้นปลูกที่อยู่ด้านบน
3.ชั้นจ่ายน้ำ อยู่ด้านบนสุดของเซตปลูก ทำหน้าที่จ่ายน้ำให้ชั้นปลูกที่อยู่ด้านล่าง
4.ชั้นปลูก จะมีช่องสำหรับใส่ต้นผักที่ปลูก แต่ละชั้นถูกออกแบบให้สามารถเก็บน้ำไว้ใช้เลี้ยงผักที่ปลูกได้
ปั๊มน้ำจะส่งน้ำจากในถังน้ำด้านล่างขึ้นไปที่ชั้นจ่ายน้ำด้านบนสุด น้ำจะไหลลงไปที่ชั้นปลูกผักที่อยู่ชั้นล่างถัดไป เมื่อถึงระดับที่กำหนดน้ำส่วนเกินก็จะไหลล้นลงไปชั้นถัดไป น้ำที่ล้นจากชั้นปลูกอันล่างสุดก็จะไหลกลับลงถัง หมุนเวียนเป็นระบบ ซึ่งข้อดีของระบบน้ำล้นนี้คือ จะช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เติมอากาศให้กับผักที่ปลูก
ข้อดีของการทำชั้นปลูกแยกก็คือ กรณีที่ไฟดับ ปั๊มไม่ทำงาน ในชั้นปลูกก็ยังมีน้ำสำหรับเลี้ยงผักไม่จำเป็นต้องพึ่งปั๊มตลอดเวลา เมื่อน้ำในชั้นจ่ายน้ำลดลงก็แค่เติมน้ำใส่ลงไปให้เต็ม ปั๊มน้ำจะทำหน้าที่รันระบบให้น้ำหมุนเวียนตลอดเวลาโดยที่เราไม่ต้องดูแลมากนัก แม้ว่าจะเปิดปั๊มตลอด 24 ชั่วโมงก็กินไฟแค่ 2 หน่วย หรือประมาณแค่ 12 บาท/เดือนเท่านั้น
วิธีการ ปลูกผักแนวตั้ง และการดูแล
การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ก็เหมือนการปลูกผักทั่วไป เริ่มต้นจากการเพาะเมล็ด เราจะเพาะเมล็ดในฟองน้ำที่ใช้ปลูกโดยตรง โดยการหยอดเมล็ดลงในฟองน้ำ หรือจะเพาะในทิชชู่ที่วางในกล่อง แล้วค่อยเลือกต้นที่งอกย้ายลงปลูกในฟองน้ำต่ออีกทีก็ได้เช่นกัน โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 14 วัน จึงจะย้ายไปปลูกที่เซตปลูกต่อไป วัสดุปลูกอาจจะเปลี่ยนจากฟองน้ำเป็นเพอร์ไลท์ หรือเวอร์มิคูไลท์ก็ได้ แต่ต้องปลูกในถ้วยปลูกโดยเฉพาะ สำหรับกรณีที่ปลูกในฟองน้ำเราจะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตผักแล้ว
“ผมออกแบบให้ระยะห่างระหว่างช่องปลูกอยู่ห่างกันพอสมควร ผักที่โตเต็มที่ไม่ควรมีเส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 20 เซนติเมตร ส่วนความสูงไม่ใช่ปัญหาครับ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราสามารถปลูกผักได้เกือบทุกชนิดที่มีขนาดทรงพุ่มไม่เกิน 20 เซนติเมตร ทั้งเคล ผักบุ้ง พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า กะเพรา โหระพา สตรอเบอรี่ มะเขือเทศ แตงกวา เมลอน ถั่วฝักยาว สำหรับผักที่เติบโตแบบเลื้อยอาจจะต้องใช้เชือกผูกไว้เพื่อช่วยดึงยอด หรือช่วยพยุงน้ำหนักผล รวมไปถึงดอกไม้กินได้ด้วยครับ”
ปุ๋ยสำหรับ ปลูกผักแนวตั้ง
“จริงๆ แล้วปริมาณธาตุอาหารในน้ำผสมปุ๋ย AB ก็เพียงพอแล้วครับ ไม่จำเป็นจะต้องให้ปุ๋ยทางใบอื่นๆ เพิ่ม แต่ก็ สามารถให้ได้ถ้าต้องการ และนอกจากปุ๋ย AB ที่นิยมใช้สำหรับการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แล้ว ในปัจจุบันยังมีปุ๋ยออร์แกนิคแบบน้ำที่นำมาใช้แทนกันได้ครับ สำหรับปัญหาโรคที่เคยเจอส่วนใหญ่จะเป็นโรคจากเชื้อราครับ เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือเกิดจากความชื้นที่มากเกินไป”
คำแนะนำพื้นฐานในการ ปลูกผักแนวตั้ง
- บริเวณที่ตั้งเซตปลูกต้องได้รับแสงแดดต่อเนื่องอย่างน้อย 4 ชั่วโมง/วัน และไม่โดนฝนโดยตรงเพราะจะทำให้ใบ ช้ำ และเกิดโรคเชื้อราได้
- สามารถใช้น้ำประปา หรือน้ำ RO ได้ น้ำที่ใช้ควรมีค่า pH 6-7
- หมั่นตรวจเช็คระดับน้ำในชั้นปลูกแต่ละชั้น อย่าให้ต่ำกว่าจุดระดับน้ำล้น
- กรณีที่ใช้ปั๊มน้ำต้องคอยตรวจเช็คให้ปั๊มแช่อยู่ใต้น้ำเสมอ
- ความถี่ในการเติมปุ๋ยขึ้นอยู่กับขนาดถังน้ำที่ใช้ ถ้าน้ำในถังยุบก็เติมน้ำผสมปุ๋ยเพิ่มลงไป
- เปลี่ยนเป็นให้น้ำเปล่าแทนการให้น้ำผสมปุ๋ย 2-3 วันก่อนเก็บผัก ซึ่งจะช่วยลดค่าไนเตรทที่ตกค้างในผักได้มาก
- หลังเก็บผักหมดแล้วต้องล้างทำความสะอาดเซตปลูกทุกครั้ง
- ถ้าเป็นไปได้ควรควบคุมอุณหภูมิในบริเวณที่ปลูกให้เหมาะสม อย่าให้ร้อนเกินไป
อะควาโปนิกส์ (Aquaponics)
โดยหลักการก็คือการใช้ของเสียจากสิ่งมีชีวิต เช่น ปลา มาใช้เป็นอาหารสำหรับผักที่ปลูก
“ในฉี่และขี้ปลาจะมีแอมโมเนียซึ่งเป็นพิษกับปลา ผมจะมีระบบกรองเพิ่มครับ วัสดุกรองที่ใช้ เช่น หินภูเขาไฟ ซึ่งจะมีแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่กินแอมโมเนียและเปลี่ยนเป็นไนไตรท์ (NO2-) หรือไนเตรต (NO3-) ซึ่งเป็นประโยชน์กับพึช ผมใช้เวลาอยู่ 2-3 เดือนกว่าจะเริ่มลงตัว คำนวณหาปริมาณปลาที่จะเลี้ยงเพื่อผลิตปุ๋ยได้เพียงพอสำหรับการเติบโตของผักที่ปลูก ส่วนผักที่เหมาะจะใช้ปลูกเพื่อทดสอบ คือ ผักบุ้ง เนื่องจากผักบุ้งที่โตตามคลองก็สามารถเติบโตอยู่ได้สภาพธรรมชาติ ถ้าสังเกตว่าใบของผักบุ้งมีสีเขียวแสดงว่าปริมาณปุ๋ยในน้ำและปริมาณปลาที่เลี้ยงเพียงพอแล้วครับ”
สาเหตุหนึ่งที่คุณพตทดลองทำนู่นทำนี่ ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะสามารถตอบคำถามลูกค้าได้ทุกคำถาม ทั้งยังมีคอนเทนต์ไปโพสที่เพจและอินสตาแกรมอีกด้วย
การปลูกผักแบบแอโรโปนิกส์เหมือนการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ไหม?
แอโรโปนิกส์ (Aeroponics) เป็นการปลูกพืชโดยที่รากพืชจะลอยอยู่ในอากาศ ไม่สัมผัสกับน้ำหรือวัสดุปลูกอื่นๆ ซึ่งระบบนี้จะมีการฉีดพ่นน้ำและสารละลายธาตุอาหารให้เป็นฝอยละเอียดเป็นระยะๆ บริเวณรากพืช ส่วนไฮโดรโปนิกส์ รากพืชจะแช่อยู่สารละลายธาตุอาหาร
ลงทุนหลักล้านจะไปต่อหรือพอแค่นี้
จากจุดเริ่มต้นที่แค่อยากลอง ปลูกผักแนวตั้ง ทำแล้วได้ผลจนคนอยากได้บ้าง ยิ่งทำก็ยิ่งสนุกและมองเห็นว่าน่าจะทำเงินให้ได้ ลงมือกันทั้งทีก็ทำเป็นอาชีพเสริมไปซะเลย
“การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แนวตั้งที่เห็นฝรั่งทำจะเป็นท่อพีวีซีกลวง ใช้ระบบฉีดน้ำขึ้นไปเลี้ยงผัก ถ้าไฟดับปั๊มน้ำก็หยุด ถ้าขาดน้ำผักก็ตายซิครับ ผมก็มานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้ท่อมันเก็บน้ำได้ การเจาะรูท่อพีวีซีเพื่อจะทำเป็นช่องปลูกค่อนข้างจะเสียเวลา และต้องใส่ข้อต่อต่างๆ ซึ่งอาจเกิดปัญหารั่วซึมได้ แค่เกิดรูรั่วเท่าตามด วันหนึ่งน้ำที่ซึมหายไป 1-2 ลิตรเลยนะครับ แล้วถ้าเราทำแยกเป็นชั้นๆ ให้เก็บน้ำไว้ได้ ทำช่องปลูกโดยที่ไม่ต้องมาเจาะรูเพิ่มหล่ะ มันน่าจะเวิร์กกว่า”
“ผมพอมีฝีมือขีดๆ เขียนๆ อยู่บ้าง เลยวาดแบบคิดจะไปฉีดพลาสติกหล่อเป็นชิ้นขึ้นมาเลย เช็คราคาดูแล้วเฉพาะค่าทำแม่พิมพ์ชิ้นหนึ่งก็หลักล้านแล้วครับ แล้วแบบที่ผมคิดไว้มีส่วนประกอบตั้ง 4 ชิ้น ไม่น่าจะไหวนะครับ!!!!”
“เปลี่ยนวิธีใหม่ลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) มาทำต้นแบบลองใช้ปลูกจริง เพื่อดูว่าแบบที่ผมคิดมันเวิร์กไหม ปลูกผักได้จริงไหม ผักจะโตจะสวยไหม ลองผิดลองถูกทำไปประมาณ 30 เวอร์ชั่นได้ครับ ถ้าว่ากันจริงๆ แล้ววิธีนี้ก็เสียเงินไปไม่ใช่น้อยเลยนะครับ ผมปรับแบบเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ทำอยู่ประมาณ 2 ปีกว่าแบบจะนิ่งลงตัวอย่างที่เห็นทุกวันนี้”
“ที่ดีไปกว่านั้นคือเราหาที่ทำแม่พิมพ์ตามแบบที่อยากได้ในราคาที่สู้ไหวครับ พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดเป็น Food Grade การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แนวตั้งในตอนนั้นน่าจะมีคนทำบ้างแล้ว แต่ถ้าพูดว่าผมเป็นรายแรกๆ ที่ทำขายก็น่าจะพอได้ ตอนที่เริ่มทำก็กลัวอยู่นะครับ กลัวว่าทำไปแล้วจะโดนฟ้องว่าเราไปลอกเลียนแบบใครเขารึเปล่า แต่ก็ไม่เจอว่ามีใครเคยจดสิทธิบัตรไว้ ผมเลยขอจดสิทธิบัตรไว้ซะเลย”
“ตอนนี้เข้าปีที่ 3 ที่ทำขายแล้วครับ ทุกวันนี้ก็ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่เรื่อยๆ นะครับ มีการปรับแก้ดีเทลเล็กๆ น้อยๆ กระจุกกระจิกที่ได้รับคอมเม้นท์มาจากลูกค้า ก็เหมือนการอัพเดตเฟิร์มแวร์นั้นหล่ะครับ”
“ช่วงแรกที่ขายผมไปส่งของให้ลูกค้าเองเลยครับ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนในเมืองที่อยู่คอนโด ทาวน์เฮาส์ หรือตามบ้านที่มีพื้นที่จำกัดครับ หลังๆ เริ่มมีกลุ่มลูกค้าที่มีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือไปปลูกบนระเบียงบ้าน บนดาดฟ้า และมีกลุ่มที่เปลี่ยนจากที่เคยปลูกต้นไม้ตามกระแส หลังจากหมดความนิยมก็หันมาปลูกผักแทน มีทั้งที่ปลูกเป็นงานอดิเรก ปลูกไว้กินเองในบ้าน และต่อยอดเป็นธุรกิจเพื่อจำหน่ายผัก และตอนนี้มีลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วด้วยครับ”
หากผู้อ่านสนใจอยากทราบข้อมูล อยากเข้าเยี่ยมชม สามารถติดต่อผ่านได้ทาง Line Official @hokafarm หรือติดตามความเคลื่อนไหว อัพเดทคอนเทนต์ที่น่าสนใจได้ทางเฟซบุ๊คเพจและอินสตาแกรม HOKA Farm คุณพตยินดีให้คำปรึกษาและตอบทุกคำถามครับ
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, ธวัชชัย ทิพย์โยธา