รู้ก่อนพลาด! อยากขุดสระเก็บน้ำต้องอ่านก่อนทำ

การ ขุดสระ จัดการทรัพยากรน้ำ เป็นหัวใจสำคัญ เมื่อมีแผนจะปรับพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการอยู่อาศัยให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตร อย่าง ทำสวน ปลูกผักสวนครัว ปลูกต้นไม้ พืชพรรณต่างๆ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทั้ง 5 ระดับ รวมถึงใช้ประโยชน์พื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว หรือแม้กระทั่งเลี้ยงปลา

วัตถุประสงค์การใช้สอยพื้นที่ข้างต้นดังกล่าว ระบบการจัดการทรัพยากรน้ำ ขุดสระ ขุดคลอง ในพื้นที่จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนการจัดการ เพื่อรองรับกิจกรรมการอยู่อาศัยของทั้งคนและสัตว์ การเจริญเติบโตของต้นไม้ รวมถึงระบบนิเวศในภาพกว้าง แต่หลายต่อหลายครั้ง เกษตรกรได้ลงทุนลงแรงกับการขุดสระเก็บน้ำโดยไมผ่านการศึกษาอย่างถี่ถ้วน นำมาซึ่งความล้มเหลวได้ง่าย ทั้งที่แท้จริงแล้วการขุดสระทำเกษตรนั้น เป็นเรื่องที่ต้องศึกษารายละเอียดมากพอตัว

ขุดสระ

ก่อนเริ่ม ขุดสระ ต้องรู้อะไรบ้าง

ก่อนอื่นเราต้องวางแผนระบบการจัดเก็บทรัพยากรน้ำ ทั้งจากธรรมชาติและน้ำจากการสร้างขึ้นมาโดยคนให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝนและน้ำที่ผุดจากใต้ดิน น้ำจากคลองสาธารณะ ซึ่งเมื่อก่อนวิธีการเก็บน้ำของบรรพบุรุษจะใช้ทั้งภาชนะจำพวก โอ่งใหญ่ และการขุดหนองเล็กๆ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้งานในช่วงเวลากิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี ซึ่งการขุดสระก็เป็นหนึ่งในการวางแผนจัดเก็บน้ำ ซึ่งสิ่งที่ต้องจัดเตรียมจัดทำก่อนเริ่มขุดสระได้แก่

ขุดสระ

สำรวจพื้นที่เชิงกายภาพ

เริ่มแรกก่อนทำ การขุดสระ เราต้องลงพื้นที่สำรวจที่ดินโดยรอบของแปลง สำรวจรูปร่างที่ดิน เช่น ที่ดินเป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือรูปร่างอื่นๆ มีส่วนไหนของพื้นที่บ้างที่เป็นพื้นที่เว้า ส่วนใดเป็นพื้นที่แหว่ง ให้ใช้วิธีบันทึกด้วยมือง่ายๆ เป็นเบื้องต้น หลังจากการสำรวจพื้นที่เชิงกายภาพแล้วให้ทำการสำรวจเชิงการวิเคราะห์รอบด้านโดยใช้หลักคิด “รู้เรา รู้เขา รู้ฟ้าดิน รู้สถานการณ์”

1. สภาพของดิน เพื่อสร้างความเข้าใจสภาพดินในพื้นที่ ทั้งลักษณะของดิน และปัญหาของดิน ให้ทำการสำรวจสภาพของดิน ทั้งสภาพดินบนบก สำรวจลักษณะดินว่า ขนาดของดิน อุ้มน้ำได้ไหม เป็นดินร่วนซุย ดินเหนียว ดินลูกรัง ดินหิน ดินดาน หรือดินทราย มีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น แข็งกระด้าง หรืออุดมสมบูรณ์ มีความอุ้มน้ำ มีความฉ่ำน้ำภายใน และปัญหาต่างๆ ของดิน เช่น ดินแห้งแตกระแหง

หากต้องการความแม่นยำมากขึ้นในการสำรวจให้ลงลึกถึงโครงสร้างของดิน และชั้นของดินว่าเป็นอย่างไร ให้ใช้วิธีการขุดด้วยเครื่องจักรรถแบคโฮ ขุดให้ลึกให้จมบูมหนึ่งหลุม จะสามารถสำรวจชั้นดิน ทำการประเมินปริมาณเนื้องาน ปริมาณดิน และระยะเวลาการทำงานของเครื่องจักรได้

สภาพดินในน้ำ ในบางกรณีต้องขุดหนองน้ำเดิมเพื่อขยายหรือเพื่อนำดินมาทำโคก ควรระบายน้ำหรือสูบน้ำออกเสียก่อน เพื่อดูสภาพของดินในพื้นหนองน้ำ และเพื่อง่ายต่อการขุด โดยส่วนใหญ่ฤดูกาลขุดต้องทำในหน้าแล้ง หรือถ้าไม่สูบน้ำออกก็ใช้โป๊ะ (เรือบรรทุกรถแบคโฮ) ลอยน้ำ ขุดดินขึ้นจากน้ำ เป็นต้น

2.สภาพน้ำ ให้เราทำการสำรวจ 3 จุดหลัก ๆ โดยเริ่มจากหนึ่งทำการสำรวจทิศทางการไหลของน้ำของพื้นที่ จุดไหนเป็นทางเข้าและทางออกของน้ำ สังเกตพฤติกรรมการไหลของน้ำทางธรรมชาติของพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร และต้องสำรวจจุดรวมของน้ำโดยธรรมชาติหรือเรียกว่าพื้นที่รับน้ำเดิมของพื้นที่ โดยตั้งข้อสังเกตว่า หากเรายังไม่ได้ทำการขุด ปรับ พื้นที่ มวลน้ำธรรมชาติจะไหลไปรวมกันที่จุดใดของพื้นที่

สองสำรวจแหล่งน้ำหรือต้นทุนของทรัพยากรน้ำ หรือน้ำที่มีอยู่แล้ว อยู่จุดไหน หรือเป็นเพียงน้ำผ่านให้เราสำรวจพื้นที่รับน้ำแทน (Water shade) เช่น ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ต่อปี หนอง คลอง ที่มีอยู่เดิม แปลงที่ดินติดกับคลองชลประทาน คลองสาธารณะหรือไม่เป็นต้น และส่วนสุดท้ายคือความสามารถในการกระจายน้ำของพื้นที่ สังเกตตำแหน่งของน้ำอยู่ที่ต่ำหรือสูงกว่าพื้นที่ สามารถใช้ได้ทั้งแทงก์น้ำ คลองไส้ไก่ หลุมขนมครก ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ดินและต้นไม้ได้ทั่วถึง

3.สภาพลม เป็นการสำรวจให้รู้ถึงทิศทางของลม และช่องลมของพื้นที่ ตลอดทั้งปี มีผลต่อการวางผังพื้นที่ใช้สอยภายในบริเวณเพื่อให้ทุกพื้นที่ได้รับลมดี สร้างความน่าสบายต่อการอยู่อาศัย ทั้งตำแหน่งที่ตั้งตัวบ้าน สระน้ำ แนวต้นไม้ หรือแปลงผัก เป็นต้น อีกทั้งเรื่องของลมพายุ ลมฝนจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ และที่สำคัญลมยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชพรรณ เช่นช่วงการผสมเกสรดอกไม้อีกด้วย

4.สภาพไฟหรือทิศทางของแสงอาทิตย์ ที่มีผลต่อการอยู่อาศัยและการเจริญเติบโตของพืชพรรณ ต้นไม้น้อยใหญ่ เช่นเดียวกับลมที่เราต้องคำนึงถึงการหันหน้าบ้านสู้แดด หรือหันหลังให้แดด พื้นที่ส่วนไหนต้องการให้เกิดร่มเงา สร้างความร่มเย็นให้บ้าน เรื่องแสงพระอาทิตย์มีผลมาก ๆ เช่นกัน

5.ระดับความสูงต่ำของที่ดิน เส้นชันความสูง (Contour Line) และเงื่อนไขข้อจำกัดที่สำคัญ ทั้ง ช่วงเวลา ฤดูกาล และระเบียบข้อกำหนดด้านกฎหมายท้องถิ่นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่

สำรวจตำแหน่งที่ตั้งสำคัญ

หลังจากที่ได้สำรวจข้อมูลขั้นพื้นฐานของพื้นที่แล้ว มาถึงขั้นตอนของการจัดวางตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ภายในแปลง ไม่ว่าจะเป็น โคก หนอง นา ว่าจะต้องอยู่บริเวณใด ทิศใด ตั้งบนพื้นที่ที่มีลักษณะของพื้นที่เป็นแบบใด ที่ราบลุ่ม ที่ราบเอียงสูงชัน และตามแนวเส้นทางการจัดการน้ำในพื้นที่ไหม ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะเน้นเฉพาะวิธีการจัดการน้ำในรูปแบบของการขุดสระ ขุดหนอง เป็นสำคัญ 

ขุดสระ

วิธี ขุดสระ ด้วยเครื่องจักร

โดยส่วนมากพื้นที่ขุดสระมี 3 รูปแบบ หนึ่งขุดบนพื้นที่สูง สองขุดบนที่ราบ และสุดท้ายเป็นการขุดบนน้ำ แต่ละพื้นที่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน ซึ่งการขุดจะมีงาน 3 อย่างหลัก คือ ขุด ปั้น แต่ง

1.เคลียร์ริ่ง คือการขุดเอาวัชพืช รากไม้ กิ่งไม้ ขยะ ถากหญ้า ทั้งบนดินและในน้ำเอาออก

2.ขุดหนอง ปั้นทำโคก ทำคลองไส้ไก่

3.ตกแต่งขอบบนดิน เนินดิน ตามแบบโคกหนองนา

การขุดบนพื้นที่สูง บนพื้นที่สูงเช่นอยู่บนต้นน้ำบนภูเขา มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการซับน้ำให้อยู่บนโคกบนดอยให้มากที่สุด และเพื่อไม่ให้น้ำไหลหลาก ชะล้างพังทลายหน้าดิน เราจะมีรูปแบบในการขุดเป็นทั้งลักษณะของหนอง การขุดหนองหรือสระ ต้องใช้แนวระดับ Contour line (เส้นชั้นความสูง) และแนว slope (ความลาดชัน) เป็นหลัก ผสมผสานกับการทำนาขั้นบันไดที่มีความลาดชั้นไม่เกินกว่า 30%  รวมถึงการทำคลองไส้ไก่ หรือคลองที่ใช้เชื่อมต่อระหว่าง สระ กับ นา และเป็นเสมือนท่อส่งน้ำ กระจายน้ำไปยังจุดต่างๆ

การขุดบนที่ราบ หากพื้นที่แปลงรับน้ำฝนอย่างเดียวต้องออกแบบการขุด ที่ต้องขุดให้ลึกที่สุด หรือต้องลึกเกินกว่า 4 เมตร หรือขุดลึกมากที่สุดที่ 8 เมตร เนื่องจากต้องคำนึงถึงเรื่องการระเหยและซึมผ่านของน้ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของที่ดิน ทางเข้าออกของน้ำ การไหลของน้ำ และหากต้องการชะลอเก็บน้ำได้ในบริเวณคลองใส้ไก่ให้ปรับ slope ของคลองไส้ไก่ที่ 1% เพื่อให้น้ำวิ่งช้าๆ และรวมน้ำลงไปที่จุดหลุมขนมครก ในขณะที่บนพื้นที่มีต้นทุนทรัพยากรน้ำอยู่บ้าง เช่นที่ติดคลอง มีหนองเก่า ให้เราขุดหนองลึกเพียง 5-7 เมตร ก็เพียงพอ โดยให้เพิ่มระบบการกระจายน้ำ  

วิธี ขุดหนอง คลองไส้ไก่ และนา

ต้องเริ่มขุดจากด้านบนก่อน วางหนองไว้ด้านบนสุดเพื่อกระจายน้ำ ลำดับถัดไปเป็นพื้นที่ นา ไล่ลงมาเป็น คลองไส้ไก่ ซึ่งคลองไส้ไก่ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นเพียงคลองส่งน้ำเท่านั้น ยังทำหน้าที่เป็นคลองเก็บกักน้ำจากน้ำฝนอีกด้วย หรือน้ำจากหนองด้านบนที่กระจายส่งน้ำมาให้ พฤติกรรมการไหลของน้ำจะไหลลงตาม Contour line (เส้นชั้นความสูง) ไม่ได้ไหลลงในแนวดิ่ง จะไหลลงมาได้ถึง 20 เมตร แล้วแต่ชนิดของดิน เช่น ถ้าดินที่เป็นหินก็ไหลมาเร็วภายในหนึ่งชั่วโมง ดังนั้นแนะนำควรทำให้คลองไส้ไก่มีระยะห่าง  4-5 เมตร

การขุดบนน้ำ เป็นไปในลักษณะของความต้องการดินบนพื้นที่ที่รถขุดเข้าไม่ถึง เพราะมีน้ำเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เราสามารถนำเครื่องจักรรถแบคโฮขึ้นโป๊ะ โป๊ะมีลักษณะเหมือนเรือ วิธีนี้ทำให้เกิดการทำงานที่ได้ประโยชน์สูงและประหยัดสุด ถือว่าคุ้มค่า เนื่องจากในบางกรณีที่เราต้องการรักษาน้ำไว้ เพื่อรักษาพันธุ์ปลา หรือแม้แต่เรื่องของต้นทุนในการสูบน้ำออกที่สูงกว่าการใช้วิธีนี้ในการลอกดินออกจากน้ำ

ก่อนทำการขุดบนน้ำต้องดูอะไรบ้าง

เราต้องสำรวจความลึกของหนองน้ำ ต้องไม่ต่ำกว่า 2-3 เมตร เพื่อให้ท้องโป๊ะเรือไม่ติดดินดอน ใช้รถแบคโฮขนาดกลางถึงใหญ่ การขุดบนน้ำต้องใช้ทักษะการขุดที่แตกต่างกับการขุดบนที่ราบบนบก เป็นการทำงานที่ยากกว่า และช้ากว่า ปริมาณงานหรือจำนวนคิวที่ได้นั้นน้อยกว่าการทำงานบนบกเท่าตัว เช่นขุดบนบกได้จำนวนดินประมาณ 100 คิวต่อ 1วัน ในขณะที่บนน้ำได้ประมาณ 50 คิวต่อวัน

TIP! เทคนิคพิเศษ : ขุดดินเลนเหลว

  1. การขุดหนองดินเลน ในกรณีที่ต้องขุดลึกมาก (ระดับ 8 เมตรขึ้นไป) แขนรถจักรเอื้อมไม่ถึง และต้องนำเครื่องจักรลงขุดด้านล่าง ต้องเอาดินแข็งด้านบนลงมารองพื้นก่อนหนึ่งชั้น เพื่อให้รถสามารถลงมาทำงานได้
  2. การพักดินให้หมาด เมื่อขุดเลนมาแล้ว หาร่องให้อยู่ หรือหาลานตากให้ดินโดยแนะนำให้มีผนังซ้ายขวาเพื่อป้องกันดินเลนไหล ทำการพักเลน รอให้เลนหมาดจึงนำมาใช้งาน
  3. ทำการกันน้ำรั่วคันดิน โดยเอาดินเลนไปผสมกับมูลควายแล้วนำมาเคลือบปาดทับหน้าดินไว้
  4. เปิดลานผสมดิน หากดินส่วนใหญ่เป็นดินเลน ไม่สามารถสร้างโคกได้ เมื่อตักดินขึ้นมาแล้วรอให้แห้ง แต่หากไม่มีเวลามากนักให้แก้ปัญหาโดยใช้วิธีการผสมดิน โดยนำดินแห้งผสมเข้ากับดินเลน เพื่อให้ดินหมาดเร็วขึ้น แล้วนำไปเคลือบปาดบนโคกได้คล้ายการปาดหน้าเค้ก

สระน้ำทรงอิสระ รักษาระบบนิเวศได้

การขุดหนองน้ำ หรือสระ ในอดีต ส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับการขุดให้เป็นรูปร่างสี่เหลี่ยม เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณปริมาตรต่างๆ เช่น ปริมาณน้ำ ปริมาณดิน รวมถึงประเมินค่าใช้จ่ายต่างๆ ในเบื้องต้น แต่ในปัจจุบันเริ่มเห็นการขุดเป็นรูปร่างเลียนแบบธรรมชาติมากขึ้น จะมีทั้งลักษณะ โค้ง คดเคี้ยว และมีตะพัก ที่มีเส้นสายที่อิสระมากขึ้น เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศแห่งการเกื้อกูลในการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายในพื้นที่

การขุดสระจึงต้องมีตะพัก ตะพักนอกจากทำหน้าที่ลดการชะล้างพังทลายของขอบสระขอบหนอง ยังเป็นที่อยู่อาศัยของปลานานาชนิด ซึ่งปลาจะมาวางไข่ในระดับความลึกไม่เกินหนึ่งเมตร มีแสงส่องถึงไข่ เพื่อให้ตัวอ่อนได้เจริญเติบโต ซึ่งเป็นการดึงระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์กลับคืนสู่ธรรมชาติ

หากเราขุดหนองลึกๆ จะเป็นการเก็บน้ำได้เพียงอย่างเดียว สัตว์น้ำจำพวกปลาไม่สามารถรังวางไข่ได้ เมื่อปลาว่ายน้ำได้อย่างอิสระ ในหนองรูปทรงธรรมชาติ ปลาได้ออกกำลังกาย ก็จะโตไว ในขณะเดียวกันเรายังสามารถปลูกพันธุ์ไม้น้ำได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ต้นเตย ที่ต้องปลูกลึกได้เพียง 50 เซนติเมตร หรือ 1 ฟุต เท่านั้น ซึ่งไม้พรรณพวกนี้จะสามารถเติบโตได้ริมขอบหนองน้ำ เพื่อเป็นที่อยู่ของปลาได้ด้วย ส่วนชั้นที่ลึกลงไป อย่างเช่น บัว ปลูกลึกไม่เกิน 3 เมตร ก็จะสามารถโผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้

ความสำคัญของการขุดสระ ไม่ได้มุ่งเน้นเจาะจงไปเรื่องของสระ หรือบ่อน้ำเพียงเท่านั้น ยังมีปัจจัยเกื้อกูลของระบบนิเวศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการปฏิบัติอย่างยั่งยืนที่ต้องคำนึงถึงก่อนการขุดสระ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม สภาพทางกายภาพของทรัพยากรต่างๆ รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยร่วมกันบนพื้นที่เดียวกันอีกด้วย  รวมถึงความสุนทรียภาพในงานศิลปะอยู่ร่วมด้วยเช่นกัน

เรื่องและภาพ : ลิตานาวา

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm

เกษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร ? ไปรู้จักพร้อมหลักการเกษตรอื่นๆ