ฝนทิ้งช่วงหนักๆ น้ำบาดาล เป็นเหมือนทางออกของเกษตรกรเพื่อให้มีน้ำใช้ทำเกษตร นอกเหนือจากแหล่งน้ำชลประทาน ซึ่งบางครั้งก็มีการปล่อยน้ำในปร้มาณจำกัดซึ่งผันแปรไปตามปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนหรือฝายด้วย
แต่การ เจาะ น้ำบาดาล มาใช้ประโยชน์นั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ประกอบกับไม่ใช่ทุกพื้นที่ที่จะสามารถเจาะน้ำบาดาลได้ ความเสี่ยงในการเจาะแล้วไม่เจอแหล่งน้ำใต้ดินสูญสิ้นงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ก็มีเช่นกัน
น้ำบาดาล (Groundwater) คือ น้ำใต้ดินที่ถูกกักเก็บและสะสมอยู่ภายในช่องว่างและรอยแตกของชั้นหินและชั้นดินตะกอนลึกลงไปใต้พื้นดิน จากการหมุนเวียนของ “วัฏจักรน้ำ” (Hydrologic Cycle) ในธรรมชาติ ซึ่งมีจุดกำเนิดจากน้ำในบรรยากาศ (Atmospheric Water) ทั้งในรูปของน้ำฝน หิมะ เมฆหมอก หรือไอน้ำ ที่ตกลงสู่ผืนดินจนกลายเป็นน้ำผิวดิน (Surface Water) ให้กำเนิดแม่น้ำ ลำคลอง และมหาสมุทร น้ำผิวดินบางส่วนไหลลงสู่ใต้ดิน ซึมอยู่ภายในช่องว่างของเม็ดดินกลายเป็นน้ำในดินที่สามารถระเหยกลับไปเป็นน้ำฟ้าอีกครั้ง แต่ยังน้ำบางส่วนที่ไหลลึกลงไปสู่ชั้นหินและชั้นดินตะกอนด้านล่าง เติมเต็มช่องว่างและรอยแตกของชั้นหินเหล่านั้น จนกลายเป็นจุดกำเนิดของแหล่งน้ำใต้ดิน (Subsurface Water) หรือน้ำบาดาลนั่นเอง (อ้างอิง)
น้ำบาดาลจึงสามารถใช้ประโยชน์ทั้งอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำประปา ส่วนใหญ่มักขุดเจาะบาดาลเพื่อใช้น้ำในการทำเกษตร ดูแลพืชสวนนาไร่ในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ทั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล เนื่องจากแหล่งที่มาจากชั้นใต้ดินทำให้น้ำบาดาลมีทั้งสารปนเปื้อน สารฟลูออไรต์สูง มีหินปูนเจือปน มีกลิ่นและสิ่งสกปรกอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างสบายใจ
น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรจากธรรมชาติจึงมีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแลคือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการน้ำบาดาล ทั้งแผนนโยบาย บริหารจัดการ อนุรักษ์ฟื้นฟูจัดการปัญหา กำหนดมาตรฐานและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งหนึ่งนโยบายที่น่าสนใจคือ โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะ เจาะน้ำบาดาลฟรี ให้กับกลุ่มเกษตรกร (ไม่เจาะให้รายบุคคล) เพื่อให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอในการทำเกษตรตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมจะต้องดำเนินการดังนี้
ขั้นตอนการเข้ารว่มโครงการ น้ำบาดาล เพื่อการเกษตร
ขั้นตอนขอรับการสนับสนุน โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร เกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มตั้งแต่ 8-15 ราย พื้นที่การเกษตรไม่น้อยกว่า 60-500 ไร่ คุณสมบัติกลุ่มเกษตรกรต้องมีความพร้อมในการจัดตั้งกลุ่ม สามารถจัดตั้งกองทุนและร่วมกันกำหนดข้อตกลงสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรร่มกันได้ พื้นที่ที่เสนอขอรับการสนับสนุนโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่หาแหล่งน้ำยาก หรือประสบภัยแล้ง สมาชิกกลุ่มต้องยินยอมให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ของสมาชิกกลุ่มและเจ้าของพื้นที่ที่ตั้งบ่อน้ำบาดาลต้องยินยอมให้สมาชิกของกลุ่มใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลร่วมกัน
เมื่อจัดตั้งกลุ่มสำเร็จ จะต้องยื่นเรื่องผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. หรือ เทศบาล) และส่งเรื่องไปที่สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1-12 ที่รับผิดชอบพื้นที่แต่ละจังหวัด จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบคุณสมบัติ และเดินทางไปสำรวจพื้นที่ว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะเจาะบ่อน้ำบาดาล และจัดทำโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณต่อไป
3 กลุ่มเกษตร และสิ่งที่จะได้รับในการ เจาะ น้ำบาดาล เพื่อการเกษตร
1 | พื้นที่ได้รับประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 60 ไร่ กลุ่มเกษตรไม่น้อยกว่า 8 ราย
องค์ประกอบที่จะได้รับ
- บ่อน้ำบาดาลขนาด 6 นิ้ว (1 บ่อ)
- เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดมอเตอร์จุ่มใต้น้ำ ขนาด 3 แรงม้า 220 โวลด์ 3 เฟส (1 ชุด)
- ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดรวมไม่น้อยกว่า 4,800 วัตต์ (1 ชุค) และระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยระบบซอฟเทนเนอร์ อัตราการกรอง 300-500 ลิตร/วัน (1 ชุด)
- เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ขนาดไม่น้อยกว่า 8,000 วัตต์ (1 ชุด)
- หอถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาดความจุ 20 ลบ.ม. (1 ถัง)
- ป้ายโครงการ (1 ป้าย)
- ระบบกระจายน้ำบาดาล (1 ระบบ)
2 | พื้นที่ได้รับประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 300 ไร่ กลุ่มเกษตรไม่น้อยกว่า 10 ราย
องค์ประกอบที่จะได้รับ
- บ่อน้ำบาดาลขนาด 6 นิ้ว (3 บ่อ)
- เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดมอเตอร์จุ่มใต้น้ำ ขนาด 3 แรงม้า 220 โวลด์ 3 เฟส (3 ชุด)
- ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดรวมไม่น้อยกว่า 4,800 วัตต์ (3 ชุค) และระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยระบบซอฟเทนเนอร์ อัตราการกรอง 300-500 สิตร/วัน (1 ชุด)
- เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ขนาดไม่น้อยกว่า 8,000 วัตต์ (3 ชุด)
- หอถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาดความจุ 130 ลบ.ม. (1 ถัง)
- ป้ายโครงการ (1 ป้าย)
- ระบบกระจายน้ำบาดาล (1 ระบบ)
3 | พื้นที่ได้รับประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 500 ไร่ กลุ่มเกษตรไม่น้อยกว่า 15 ราย
องค์ประกอบที่จะได้รับ
- บ่อน้ำบาดาลขนาด 6 นิ้ว (6 บ่อ)
- เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบมอเตอร์จุ่มใต้น้ำ ขนาด 3 แรงม้า 220 โวลต์ 3 เฟส (6 ชุด)
- ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดรวมไม่น้อยกว่า 4,800 วัตต์ (6 ชุด)และระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยระบบซอฟเทนเนอร์ อัตราการกรอง 300-500 ลิตร/วัน (1 ชุด)
- เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ขนาดไม่น้อยกว่า 8,000 วัตต์ (6 ชุด)
- หอถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาดความจุ 130 ลบ.ม. (2 ถัง)
- ป้ายโครงการ (1 ป้าย)
- ระบบกระจายน้ำบาดาล (1 ระบบ)
ทั้งนี้การขอรับโครงการไม่สามารถเจาะได้ในทันที จำเป็นต้องรออนุมัติโครงการตามแผนงบประมาณประจำปีต่อไป ตามลำดับคิวคำขอ นั่นหมายความว่า ยื่นคำร้องปีนี้ อาจจะได้คิวขุดเจาะในปีหน้า ฉะนั้นจึงควรวางแผนใช้น้ำทำเกษตรอย่างรอบคอบด้วย
ไม่ได้รวมกลุ่มแต่อยากเจาะน้ำบาดาล ต้องทำอย่างไร
เกษตรกรรายบุคคล สามารถเลือกใช้บริการขุดเจาะน้ำบาดาลเอกชนได้ โดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดทำทะเบียนช่างเจาะบาดาลที่ผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาติขุดเจาะ เพื่อยกระดับมาตรฐานให้น่าเชื่อถือ มีองค์ความรู้ ประกอบการตัดสินใจของเกษตรกรในการเลือกช่างเจาะที่มีคุณภาพ ส่วนเจ้าของบ่อบาดาลจะต้องได้รับใบอนุญาติใช้น้ำบาดาล และชำระค่าบริการตามที่กรมกำหนดไว้ ยกเว้นการใช้เพื่อการเกษตร เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ไม่มีน้ำประปาบริการจะได้รับการยกเว้นค่าบริการ (ใช้ไม่เกิน 50 ลบ.ม./วัน ลดหย่อยส่วนที่เกินกว่า 50 ลบ.ม.เก็บเพียง 30% ของปริมาณน้ำ)
ราคาค่าขุดเจาะน้ำบาดาลโดยเอกชนที่ได้รับใบอนุญาติตามจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้กำหนดมาตรฐานไว้คือบ่อน้ำบาดาลขนาด 4 นิ้ว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีราคาตั้งแต่ 8,000 – 40,000 บาท ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีราคาตั้งแต่ 40,000 – 120,000 บาท
จะเห็นว่า ช่วงราคาที่ระยะที่กว้าง เพราะมีปัจจัยเรื่องพื้นที่และระดับความลึกของชั้นน้ำบาดาล ชนิดของชั้นดินชั้นหินของพื้นที่ ขนาดบ่อน้ำบาดาล ชนิดของวัสดุสร้างบ่อน้ำบาดาล เข้ามาเป็นตัวแปรของราคาค่าจ้าง ฉะนั้นจึงควรตกลงว่าจ้างกันอย่างชัดเจน เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหลัง
ข้อมูลจาก
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล https://www.dgr.go.th/th/home