“เพอร์มาคัลเจอร์”(Permaculture) หลักการทำเกษตรที่มีมายาวนาน และเป็นที่รู้จักในทวีปยุโรป ปัจจุบันเกษตรกรได้มีการนำหลักการ เพอร์มาคัลเจอร์ วิธีทำ ตัวอย่างจากที่ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งกับพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ และแปลงสวนครัวในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด
ข้อมูลจากหนังสือ กะเศษแปลงร่าง ได้อธิบายถึงหลัก เพอร์มาคัลเจอร์ วิธีทำ ไว้ว่า เป็นการทำเกษตรวิถีธรรมชาติเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เกิดขึ้นใน ค.ศ.1978 ด้วยการออกแบบวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันให้อยู่ร่วมกัน เน้นทำน้อยแต่ได้ผลมาก เพราะหากทำสำเร็จสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทำเกษตรจะเกิดการเกือหนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งหัวใจสำคัญของหลักออกแบบคือการปรับใช้กับวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ นำเรื่องการออกแบบพลังงานมาใช้ร่วมกับการทำเกษตร การจัดการระบบน้ำแบบบูรณาการ เป็นรูปแบบที่ยืมระบบนิเวศในธรรมชาติมาใช้ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืน
เพอร์มาคัลเจอร์ยังเป็นระบบการดำเนินชีวิตที่อาศัยพลังงานที่มีอยู่โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษใหม่ขึ้ นและเป็นระบบที่นำทรัพยากรธรรมชาติอยู่ทั่วไปมาใช้ผลิตอาหาร โดยไม่ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่น จึงป็นการทำสวนแบบ “ชิดธรรมชาติ” ที่ปรับใช้กับการออกแบบฟาร์มได้ โดยมีหลักใหญ่ใจความสำคัญสองประการ คือ การออกแบบต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ชุมชนที่อยู่รอบข้าง และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งในหนังสือ กะเศษแปลงร่าง ได้จำแนกหลักการออกเป็นหลัก 11 ประการด้วยกัน

1. ที่ตั้งแบบสัมพันธภาพ
จัดวางองค์ประกอบแต่ละอย่างให้เกื้อกูลสนับสนุนกัน คือวางแนวทางออกแบบฟาร์มแบบสัมพันธ์กันด้วยการ จัดวางองค์ประกอบ แต่ละอย่าง ให้เกื้อกูลกัน หรือสนับสนุนกัน เช่น
- สระน้ำอยู่บนเนินสูงกว่าพื้นที่การเกษตร ปล่อยให้น้ำลงแปลงโดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ
- แนวต้นไม้ส่งผลเชิงบวกกับตัวบ้าน เช่น ช่วยบังแดดหรือลดความร้อน เป็นต้น
- แปลงผักสวนครัว อยู่หลังบ้านติดกับครัว เกิดการใช้งานที่สัมพันกัน
- เล้าไก่ แปลงปุยหมักที่ใช้กำจัดขยะอินทรีย์ ควรอยู่ใกล้กับครัว เพื่อความสะดวกในการขนย้าย
- การแบ่งพื้นที่เล้าไก่ วางตำแหน่งรังออกไข่ที่เก็บได้จากด้านนอกโรงเรือน ไม่ต้องเข้าเล้า

2.องค์ประกอบหนึ่ง ๆ มีหลายหน้าที่ ใช้ประโยชน์หลายอย่าง
- แนวต้นไม้เป็นร่มเงา บังแดดให้กับตัวอาคารที่พัก ใช้ประโยชน์จากใบเป็นอาหารสัตว์หรือทำปุ๋ยหมักได้
- ทำบ่อน้ำเพื่อใช้ในการทำเกษตร แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นแนวกันไฟได้ด้วย
- ผนังไม้เลื้อยใช้บังแดด บังฝน เป็นเหมือนฉากกั้น แบ่งแยกพื้นที่ออกแบบส่วน ใช้พื้นที่จอดรถยนต์เป็นพื้นที่รับแสงแดด เพื่อทำน้ำอุ่น โดยวางท่อทองแดงไว้ใต้พื้นปูน

3.บทบาทสำคัญมีหลายองค์ประกอบสนับสนุน
- มีระบบทำน้ำอุ่น จากพลังงานแสงอาทิตย์
- ควบคุมไฟไหม้สวน (ไฟป่า) โดยบ่อน้ำ ถนนมีแนวต้นไม้กันลม ร่องระบายน้ำ(สำหรับสวนในต่างจังหวัดที่มีความเสี่ยงไฟไหม้)
- ใช้แหล่งน้ำจากหลายที่ เช่น จากน้ำฝน น้ำคลอง น้ำผิวดิน
- มีระบบพลังงานไฟฟาโซลาร์เชลล์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากอินทรียวัตถุ

4.ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งพลังงานคน และพลังงานอื่น
- ใช้แสงจากธรรมชาติช่วยส่องสว่างในบ้าน
- ใช้แสงแดดเพิ่มความอบอุ่นให้บ้าน ในฤดูหนาว
- ใช้แรงโน้มถ่วงในการส่งน้ำไปสู่พื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่า

5.ทรัพยากรชีวภาพ
- อาศัยธรรมชาติของไก่ที่ชอบขุดคุ้ยดิน ช่วยขุดดินในแปลงปลูก กำจัดวัชพืชและแมลงในแปลง
- ใช้การจัดการบำบัดน้ำเสียด้วย “บึงประดิษฐ์ ” (wetland) เพื่อบำบัดน้ำเสียเบื้องต้น
- ใช้วัว หรือ ห่าน ในการกำจัดวัชพืช

6.ใช้พลังงานซ้ำ ใช้งานหมุนเวียน
- ใช้เศษอาหารไปทำก๊าซชีวภาพ กากตะกอนจากการหมักก๊ซชีวภาพนำไปใช้เป็นปุ๋ยหมักในแปลงผัก
- ใช้ประโยชน์จากน้ำฝน เช่นใช้สำหรับล้างมือ ล้างผักหลังเก็บเกี่ยว

7.ใช้พื้นที่ขนาดเล็กอย่างเข้มข้น ประณีต และคุ้มค่า
- ทำเกษตรบนที่ดินแปลง ที่ทำงานโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือ หรือเครื่องทุ่นแรง เหมาะกับกำลังแรงงาน
- ปล่อยพื้นที่เหลือให้เป็นพื้นที่ธรรมชาติหรือวนเกษตร

8 หลักการเร่งลำดับตามวิวัฒนาการ สำหรับใช้ในการฟื้นฟูนิเวศ
- ใช้ลวดลายธรรมชาติในการออกแบบแปลง เช่น ทำแปลงเป็นรูปดอก

9.มีความหลากหลาย
- ปลูกพืชหลากหลายชนิดและสายพันธุ์
- ความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลของพืช-พืช พืช-สัตว์ สัตว์- สัตว์

10.ผลของบริเวณเขตแดน/รอยต่อ Edge Effect
- บริเวณ “รอยต่อ” มีลักษณะพิเศษ โดยใช้ลวดลายธรรมชาติ (ที่มีแบบแผน) สร้างเป็นแนวเขตแดนให้พืชเติบโตได้ดี

11.สร้างทัศนคติที่เข้าใจธรรมชาติ
การทำเกษตรอินทรีย์แบบเพอร์มาคัลเจอร์ อาจจะต้องเวลาในการฟื้นฟูดิน อย่างการใช้วัชพืชที่เจริญเติบโตได้รวดเร็วมาปลูกในพื้นที่ดินที่เสียหาย ให้เป็นพืชบุกเบิกและผลิตอินทรียวัตถุ หรือการทำแปลงฮูกูลคัลเจอร์ที่ให้เศษกิ่งไม้ใบไม้มาสร้างแปลงปลูก ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เวลา จึงต้องมีทัศนคติที่ยอมรับธรรมชาติที่ทำงานอย่างใช้เวลา การจัดการแมลงด้วยตัวห้ำตัวเบียน ทุกอย่างจะไม่รวดเร็วเหมือนกับการใช้เคมี แต่จะรักษาระบบนิเวศธรรมชาติได้ดีซึ่งเป็นวิธีสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมของโลกอีกวิธีหนึ่งด้วย
เรียบเรียงจากหนังสือ กะเศษแปลงร่าง โดย เครือข่ายหมุนเวียนเปลี่ยนเมือง
ภาพประกอบ มนธีรา มนกลาง
ปลูกผักให้ประหยัดและทำง่ายด้วย Farm Reuse สไตล์วินเทจ
คุณโพและคุณหนูดี กับการ ปลูกผักอินทรีย์ บนพื้นที่ที่เคยเป็นกองขยะ