ทำแปลงฮูกูลฯ ปลูกพืชผัก ทำถูกหลักอยู่นานนับ 10 ปี

แปลงคีย์โฮล อาจจะเป็นแปลงปุ๋ยหมักจากเศษอาหารที่หลายคนรู้จัก แต่รู้หรือไม่ยังมี เกษตรเนินดิน รูปแบบการทำแปลงทำปุ๋ยหมักพร้อมปลูกผักอีกรูปแบบในชื่อ ฮูกูลคัลเจอร์ (Hugelkultur)ที่อยู่ได้นานนับ 10 ปี

ฮูกูลคัลเจอร์ หรือ เกษตรเนินดิน เป็นวัฒนธรรมการปลูกของชาวเยอรมนีและแถบยุโรป เกิดจากการสังเกตเห็นว่าบริเวณที่มีต้นไม้ล้มเกิดซากทับถมจะรักษาความชื้นได้ดีและมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าบริเวณอื่น จึงมีการพัฒนานำท่อนไม้ขนาดใหญ่ กิ่งไม้ เศษไม้ผุพัง มากองเป็นเนินสูงทับด้วยใบไม้ใบหญ้า มูลสัตว์ และเศษอินทรีย์อื่นๆ กองสุมให้เป็นชั้นๆ ในระดับความสูงตามต้องการ แล้วปิดทับด้วยดินเพื่อทำเป็นแปลงปลูกพืช

แปลงฮูกูลฯ นิยมทำในบริเวณป่าเขาที่มีต้นไม้ใหญ่ และห่างไกลแหล่งน้ำ ซึ่งชาวเยอรมันและยุโรปตะวันออกทำสืบต่อกันมาหลายร้อยปี ขั้นตอนการทำแปลงฮูกูลทำอย่างไร ในเมืองไทยสามารถทำไหม มีข้อดีข้อด้อยอย่างไรไปทำความรู้จักพร้อมๆ กัน

เกษตรเนินดิน

หลักการทำงานของแปลงฮูกูลฯ เกษตรเนินดิน

แปลงฮูกูลฯ เป็นการใช้ท่อนไม้กิ่งไม้ เศษใบไม้ใบหญ้าต่างๆมากองเป็นฐานก่อเป็นแปลงผักให้สูงขึ้นเพื่อใช้ในการปลูกผักวัสดุที่ทับถมเป็นกองสุมจะเกิดกระบวนการย่อยสลายเป็นระยะเวลานาน ทำให้ปลดปล่อยสารอาหารออกมาอย่างช้าๆ และช่วยเก็บกักธาตุอาหารส่วนเกินไว้ในดินด้านบนแทนที่จะถูกชะลงสู่ชั้นดินด้านล่างหรือน้ำใต้ดินจึงเป็นแหล่งของสารอาหารสำหรับพืชที่มั่นคงในระยะยาว

ประโยชน์หลักๆ ของแปลงฮูกูลฯ คือ การเก็บกักน้ำได้ดีกว่าการปลูกบนดินอย่างเดียว เศษไม้ผุที่ถูกฝังดินจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนเหมือนฟองน้ำ ทำให้มีน้ำสำหรับให้รากพืชดูดซึมได้ตลอดเวลา ในขณะที่วัสดุอื่นๆ ที่ย่อยสลายเร็วจะวางไว้ข้างบน เมื่อเริ่มย่อยสลายจะเกิดสภาวะร้อนขึ้นและเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ที่ดีที่จะคอยช่วยทำให้ท่อนไม้และวัสดุต่างๆย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ จนทำให้เกิดเป็นฮิวมัสซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่เกิดจากการทับถมและย่อยสลายของซากพืช กระบวนการย่อยสลายจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆเป็นระยะเวลานานจึงแทบไม่ต้องมีการรดน้ำและใส่ปุ๋ยในแปลงฮูกูลฯ

แปลง เกษตรเนินดิน ฮูกูลคัลเจอร์แบบต่างๆ

วิธีการทำแปลงฮูกูลมีหลากหลายวิธีตามความเหมาะสมของสภาพพื้นดินและความต้องการของผู้ปลูก ดังนี้

วิธีที่ 1แบบวางบนดิน เหมาะสำหรับพื้นที่หน้าดินตื้น ขุดดินยาก ทำง่ายด้วยการวางสุมท่อนไม้และวัสดุตามลำดับ

วิธีที่ 2 แบบฝังใต้ดินเป็นการขุดดินให้มีความลึกประมาณ 30 – 60 ชม.แล้วเอาท่อนไม้มาวางกองไว้ในบริเวณที่ขุดดินไว้ จากนั้นโรยดินที่ขุดทับกองไม้อีกครั้ง

วิธีที่ 3แบบฝังใต้ดินและขุดร่องน้ำวิธีนี้จะคล้ายกับวิธีที่ 2 แต่จะขุดร่องข้างๆกอง เพื่อไว้สำหรับกักเก็บน้ำไว้ ทำให้ไม่ต้องรดน้ำบ่อยๆ เพราะท่อนไม้ภายในกองจะทำหน้าที่เป็นฟองน้ำคอยส่งน้ำขึ้นไปด้านบน

รูปแบบแปลงฮูกูลคัลเจอร์

รูปทรงของแปลงฮูกูลสามารถออกแบบได้ตามความต้องการ โดยต้องคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ และการใช้ประโยชน์การทำแปลงฮูกูลเปรียบเสมือนการสร้างอุโมงห้องแบบปิด ทำให้ความชื้นที่เกิดภายในระเหยลอยขึ้นไปยังรากพืชด้านบน และสะท้อนกลับกลั่นลงมาด้านล่างอีกครั้ง แปลงฮูกูลที่สูง 1 – 1.5 เมตร สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้นานถึง3 สัปดาห์ ยิ่งมีความสูงมากยิ่งสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้นานขึ้น

โดยทั่วไปนิยมทำแปลงที่มีความกว้างประมาณ 1 – 1.5 เมตร หากแปลงมีความสูงน้อยเกินไปจะทำให้ไม่เห็นผลของเทคนิคนี้เท่าที่ควร เนื่องจากปริมาณของเศษไม้ไม่มากพอ การทำแปลงที่มีความสูงและความกว้างเหมาะสม จะเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชได้มากกว่าแปลงที่มีความกว้างหรือเตี้ยเกินไป

รูปทรงของแปลงฮูกูลจึงสัมพันกันทั้งความกว้างและความสูง หลักๆ แล้วมี 6 แบบด้วยกันคือ ทรงปกติ ,ทรงผอมสูง, ทรงสามเหลี่ยม, แบบขั้นขอบด้วยหินขนาดใหญ่, แบบกั้นขอบด้วยท่อนไม้

ขั้นตอนการทำ

วัสดุและอุปกรณ์

  1. ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้
  2. มูลสัตว์ มูลไก่ วัว 
  3. เศษอาหาร 
  4. ดิน
  5. ฟาง 
  6. จุลินทรีย์
  7. อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น จอบ บัวรดน้ำ

ขั้นตอนการขึ้นแปลงฮูกูล

1. กำหนดพื้นที่ทำแปลง กว้าง 1-1.5 เมตร ความยาวกำหนดได้ตามความต้องการ โดยปรับขนาดให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีได้ หากทำแปลงแบบฝังใต้ดิน ให้ทำการขุดดินให้เป็นหลุมลงไปประมาณ 30 – 60 ชม. เพื่อให้สามารถไว้วางท่อนไม้ได้ ทำให้ช่วยประหยัดการใช้ดินคลุมด้านบน และยังช่วยให้เกิดกระบวนการย่อยสลายง่ายขึ้น

2. วางท่อนไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในชั้นแรก จากนั้นวางกิ่งไม้ขนาดเล็กลงมาด้านบนเป็นชั้นๆ ให้สูงตามต้องการ แล้วนำน้ำที่ผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หรือ PSB มารดท่อนไม้และกิ่งไม้ให้ชุ่ม

3. หลังจากนั้นให้นำใบไม้ เศษอาหาร และมูลสัตว์ มาใส่ลงในช่องว่างของกิ่งไม้ให้เต็มเป็นการเพิ่มธาตุ

ภายในกองจะเรียงวัสดุขนาดใหญ่ที่ย่อยสลายช้าไว้ด้านล่าง และค่อยๆไล่ลำดับเป็นวัสดุที่เล็กลงซึ่งย่อยสลายเร็วกว่า เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายอยู่ตลอด ทำให้ต้นพืชได้รับสารอาหารอย่างต่อเนื่อง

4. ปิดคลุมชั้นบนด้วยดิน ให้มีความหนาประมาณ 2 นิ้วแล้วคลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง รดด้วยน้ำที่ผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงหรือ PSB รดให้ทั้งแปลง

หลังจากทำแปลงเสร็จ ควรปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนเริ่มปลูกพืช เพื่อให้เกิดการย่อยสลายของสารอินทรีย์อย่างสมบูรณ์ และเพื่อให้สามารถปรับบริเวณที่ยุบตัวให้เท่ากัน ทั้งนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อนจากการย่อยสลาย เพราะเมื่อมีการใช้ท่อนไม้ขนาดใหญ่ และไม่ใช่การสุมอัดลงในพื้นที่จำกัดเหมือนการทำปุ๋ยหมักที่ต้องทับถมกันจนแน่น ความร้อนจากแปลงฮูกูลจึงน้อยมาก รวมทั้งวิธีปล่อยให้ย่อยสลายไปก่อน ในช่วงเวลาหนึ่งจึงมั่นใจได้ว่าระบบการย่อยสลายหลังการปลูกพืชแล้วจะไม่กระทบกับรากพืชอย่างแน่นอน

เกษตรเนินดิน

ข้อดี ข้อด้อย

นอกจากจะเป็นการกำจัดขยะอาหาร เศษใบไม้ ท่อนไม้ แล้วแปลงฮูกูลฯ ยังเป็นประโยชน์ต่อพืช สามารถเจริญเติบโตได้ดี รากเดินขยายได้เร็ว โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยใดๆ เพิ่ม ที่สำคัญคือลดการใช้น้ำในการดูแลพืช ใช้งานได้นานถึง 10 ปี แต่ทั้งนี้ แปลงฮูกูลฯ อาจจะเป็นอาจกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลวก จึงควรทำให้ห่างจากตัวบ้านพอสมควร และต้องรักษาความชื้นให้มากพอเพื่อป้องกันปลวกมาทำรังอีกทาง และพื้นที่ที่เหมาะไม่ควรตั้งอยู่ขวางทางน้ำที่อาจจะถูกพัดลอยไปตามน้ำได้

เรื่อง JOMM YB

ภาพประกอบ มนธีรา มนกลาง   

ไอเดียปลูกผัก หลากหลายในแปลงเดียว

บ้านสวนเกษตรผสมผสานฯ โครงการเกษตรจัดสรรแห่งแรกในไทย

อัปเดทความรู้ในการทำฟาร์ม