ถอดรหัสบทเรียนชีวิต สู่ความสำเร็จของ บ้านไร่ไออรุณ

บ้านไร่ไออรุณ ระนอง ฟาร์มสเตย์ที่เป็นจุดหมายของใครหลายๆ คน ด้วยเอกลักษณ์การตกแต่งจากวัสดุท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ พร้อมกับบรรยากาศที่สุดแสนจะธรรมชาติ ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้ได้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนปัจจุบันมีบ้านพักมากถึง 17 หลัง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 50 ไร่ มีผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กเกือบ 9 แสนคน มีบริษัทออกแบบเป็นของตัวเอง และขยายสาขาสร้างคาเฟ่ในกรุงเทพฯ ก็ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

ภายใต้แบรนด์ ฟาร์มสเตย์ บ้านไร่ไออรุณ ระนอง เริ่มขึ้นโดยผู้ก่อตั้งมากความสามารถ คุณเบส – วิโรจน์ ฉิมมี ลูกหลานเกษตรกรที่ผันตัวเป็นสถาปนิก จากความฝันที่อยากทำบ้านให้กับคุณพ่อและคุณแม่ คุณเบส เล่าว่า “เราเกิดมาในครอบครัวที่เป็นเกษตรกร และทุกวันที่ไปโรงเรียนก็จะเดินเห็นบ้านคนอื่น ซึ่งสวยมาก เลยเกิดความทะเยอทะยาน อยากมีเหมือนคนอื่น จึงตัดสินใจเรียน คณะสถาปัตย์ เพื่อทำให้ความฝันเป็นจริง”

บ้านไร่ไออรุณ ระนอง
คุณเบส – วิโรจน์ ฉิมมี ผู้ก่อตั้งบ้านไร่ไออรุณ

หลังจากนั้นคุณเบสก็ได้เล่าเรียนฝึกทักษะในการออกแบบ และก็ผันตัวไปเป็นสถาปนิกอยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนคนทั่วไป แต่ในใจลึกๆ ก็อยากกลับมาทำบ้านให้พ่อแม่อยู่ตลอด ทำให้ต้องต่อสู้ระหว่างความฝันและความหวังจากคนในครอบครัวที่อยากให้ทำงานเป็นสถาปนิกในเมืองกรุงฯ จนสุดท้ายก็ลาออก แล้วก็ได้พบเจอกับความท้าทาย เมื่อแผนที่วางไว้ไม่เป็นไปตามที่คิด

“ตอนนั้นในวัย 26 ปี หลังจากที่ทำงานไป 3 ปีกว่า ก็ตัดสินใจลาออกจากงาน มาตามหาความฝัน ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ และสังคมรอบข้างจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งเราก็เริ่มรู้สึกตั้งแต่ปีที่ 2 แล้ว เลยเขียนแผนธุรกิจเตรียมไว้ สำหรับไปยื่นกู้ธนาคารเป็นจำนวนเงิน 5 ล้านบาท เพื่อที่จะมาสร้างรีสอร์ตที่บ้านเกิด แต่ธนาคารก็ให้คำตอบว่าเราไม่สามารถทำโครงการนี้ได้ เพราะว่า โลเคชั่นไม่ได้อยู่เมืองท่องเที่ยว”

“ตอนนั้นคิดว่าการที่กู้ธนาคารเป็นสิ่งที่ทุกคนทำกัน สำหรับคนที่จะเริ่มทำธุรกิจ เราก็รู้สึกว่าเงินคือจุดเริ่มต้นในการสร้างรายได้ แต่พอไม่ผ่านแล้ว มันเลยทำให้เราย้อนกลับไปมองสิ่งที่เรามีจริงๆ เรามีที่ดิน มีแปลงผัก มีงานจักสานจากความสามารถของคนในครอบครัว”

จากความผิดหวังทีเกิดขึ้น ทำให้คุณเบสต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองมี โดยใช้ความสร้างสรรค์และทักษะ รวมถึงไขว่คว้ากับโอกาสที่เข้ามา ผ่านการเล่าเรื่องของคุณเบสไว้อย่างน่าสนใจ พร้อมกับสอดแทรกข้อคิดดีๆ สำหรับคนที่อยากทำฟาร์มสเตย์ไว้ด้วย

ปลูกผักขายรายได้ที่หล่อเลี้ยง บ้านไร่ไออรุณ ระนอง

“เราเริ่มจากปลูกผักขาย โดยชวนพ่อและแม่มาปลูกผักแบบออร์แกนิกจริงจัง แล้วก็ไปทำแผงผักในตลาด เราเองก็ต้องหาเงินด้วย เนื่องจาก มีภาระที่ต้องผ่อนอยู่ แต่แผงผักของเรามันไม่สวย เราก็ใช้ทักษะในการออกแบบมาปรับปรุงแผงผักให้มีหน้าตาน่ารัก ตกแต่งด้วยงานจักสาน เอาโคมไฟไปแขวน เอาใบจากไปทำผนังข้างหลัง และเริ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์”

“นอกจากนี้ ก็ถ่ายรูปโพสบนเฟสบุ๊กของตัวเองและทำเพจ บ้านไร่ไออรุณ พร้อมลงรูปเพื่อให้พี่ที่ทำงานเห็นว่าเรากลับมาทำอะไรบ้าง และเป็นการกระตุ้นตัวเองในแต่ละวัน เพราะพอกลับมาเราไม่มีเจ้านายที่มาสั่งเรา เราต้องกดดันตัวเองด้วยการโพสรูป เล่าสิ่งที่เราคิดและทำลงไปในโซเชียลออนไลน์ ก็คิดว่าวันหนึ่งมันจะมีคุณค่าในวันที่มีคนเห็นมัน”

หลังจากนั้นคุณเบสเริ่มสนุกกับการค้าขายจึงเริ่มขยายร้าน ไปจำหน่ายที่ถนนคนเดินในตัวเมืองจังหวัดระนอง นอกจากผักแล้วก็มี กล้วยทอด ทุเรียนทอด ส่วนต้นทุนก็ไม่สูงมากเนื่องจากปลูกเอง แปรรูปเอง ขายเอง และส่วนที่ขาดไม่ได้เลย คือ ยังคงเอกลักษณ์การใช้วัสดุจากท้องถิ่นมาตกแต่ง จึงเริ่มมีคนรู้จักและอุดหนุนมากขึ้น

บ้านไร่ไออรุณ ระนอง
รูปบ้านเก่าของคุณเบสที่โพสบนเฟซบุ๊ก

จากประโยคสั้นๆ ในเฟซบุ๊ก กระตุ้นความฝันให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง

“พอผ่านไป 7 เดือน ก็ปกติที่เราทำอะไรก็จะบันทึกเอาไว้ในโพสเฟสบุ๊ก แต่มีอยู่วันหนึ่ง มีคนหนึ่งชมว่า บ้านสวยจังเลย บรรยากาศน่าอยู่จัง จากรูปธรรมดา ในวันที่เราถ่ายรูปเอาไว้ เป็นรูปเก่าๆ ที่ไม่มีอะไรเลย สู่แรงบันดาลใจให้เราอยากทำอะไรต่อ เรามีดีสิ ที่ดินเราสวย ถึงแม้ว่าจะเฟลจากธนาคาร ไม่มีเงิน เราจึงไปขอไม้ไผ่จากวัด ขอเศษไม้จากหมู่บ้าน มาตกแต่งบ้านกับคุณพ่อ เพื่อสร้างตามความฝันในวัยเด็ก”

การประกวด Show Me Your Home

“ในระหว่างนั้น ก็มีโครงการ Show Me Your Home ของ บ้านและสวน My Home เราก็เลยส่งไปประกวด โดยเขียนบนกระดาษพร้อมรูป เล่าเรื่องราวของเรา แล้วปรากฏว่าก็ได้รางวัลที่ 1 เขาก็ติดต่อมาให้เราไปรับรางวัล และเป็นจุดเริ่มต้น ให้เราพัฒนาต่อยอดไปเป็นที่พักเหมือนที่เราคิดเอาไว้ให้ได้ จากที่ไม่เคยมีคนรู้จัก เริ่มมีคนพูดถึง ได้ลงหนังสือ ได้ออกรายการทีวี”

“แต่สิ่งที่ได้มากกว่ารางวัลคือ ความภูมิใจของครอบครัวที่เราทำบ้านกันเองกับคุณพ่อ คุณแม่ก็เริ่มเปิดใจมากขึ้น การที่ได้รับรางวัลในวันนั้น เป็นจุดเปลี่ยนของครอบครัวเราเลยว่าเด็กสถาปัตย์จบมาทำบ้านได้ ทำสวนผักก็ได้ ทำให้เรามี passion มากขึ้นไปอีก พอคนสนใจมากขึ้น เราขายผักดีขึ้น แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีที่พักนะ มีแค่บ้านของเราเอง”

คุณเบส เล่าว่า บ้านที่ส่งประกวดตอนนั้น ทาสีตกแต่งด้วยสีขาว และใช้งานไม้งานจักสานเข้ามาตกแต่ง โดยมี Mood & Tone ที่เป็นสีขาวกับไม้ มีไฟสีส้มที่ให้ความรู้สึกที่อบอุ่น มีช่องหน้าต่างเป็นเฟรม ส่วนชื่อ บ้านไร่ไออรุณ มาจากแสงอาทิตย์ในตอนเช้า มีหมอกฝน แล้วกลายเป็นไออรุณ รู้สึกว่าคอนเซ็ปต์นี้ใช้ได้ หลังจากที่ส่งบ้านไปประกวดแล้วเราได้รางวัล แสดงว่ามีคนยืนยันว่าเป็นสิ่งที่คนชื่นชอบ จึงใช้ธีมนี้มาพัฒนาต่อยอดเป็นคาแรคเตอร์หลัก จนมาถึงทุกวันนี้

บ้านไร่ไออรุณ ระนอง

พัฒนาเพื่อไขว่คว้าโอกาสที่เข้ามา

“หลังจากงานประกวดจบไป เราก็หาเงินจากที่ขายผัก มาสะสมทำห้องครัวและบ้านพักอีก 2 หลัง ใช้เวลาปีกว่าๆ หรือประมาณ 2 ปีที่กลับมา ก็เริ่มมีคนเข้ามาชม รู้จักมากขึ้น และเปิดเป็นที่พัก เราเริ่มมีรายได้จากที่พัก มีคนเข้ามาแชร์กัน เพจมาติดตามกันมากขึ้น เปิดเพจสัปดาห์เดียว คนมาติดตามนับแสนคน เหมือนเป็นไวรัล จากโอกาสที่เข้ามาเราก็เลยต้องพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะเราก็ไม่รู้ว่าโอกาสแบบนี้มันจะหมดไปเมื่อไหร่ แม้ว่าเราจะไม่มีต้นทุนในเรื่องของเงินก็ตาม แต่เราก็ได้เงินจากการขายของในตลาด และออนไลน์ พร้อมกับคนที่มาพัก”

หลังจากนั้นอีกประมาณ 3 เดือน คุณเบสก็สร้างหลังที่ 3 และเริ่มมีหลังถัดไป ตามมาเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว จากตอนแรกที่มีพนักงาน 6 คน จาก คุณพ่อ คุณแม่ คุณเบส คุณลุง คุณป้า แม่ครัว จนผ่านมาเข้าปีที่ 8 แล้ว ปัจจุบันบ้านไร่ไออรุณมีพนักงาน 54 คน บ้านพัก 17 หลัง มีร้านอาหาร บาร์ ที่พัก และคาเฟ่ที่กรุงเทพฯ

บ้านไร่ไออรุณ ระนอง

ความคิดสร้างสรรค์ เอกลักษณ์ของ บ้านไร่ไออรุณ ระนอง

“ความคิดสร้างสรรค์ของเรา คือ เราไม่ได้ใช้ของแพง แต่เราหยิบจับอะไรที่เรามีอยู่ในท้องถิ่น มาใช้ได้บ้าง เราพยายามทำที่นี่ให้เป็น อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง เราพยายามนำเสนอสิ่งที่เราหาได้ในพื้นที่ โดยใช้ความสามารถของคนในชุมชน”

นอกจากการใช้วัสดุท้องถิ่น คุณเบสยังออกแบบบ้านพักให้มีฟังก์ชันแตกต่างจากบ้านในเมือง หรือจากในโครงการรีสอร์ตต่างๆ ให้มีลูกเล่นมากขึ้น เพิ่มความสนุกสนาน เพื่อให้คนที่มาพักได้มีประสบการณ์ใหม่ ทำให้ที่นี่มีคาร์แรคเตอร์ชัดเจน และความสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

บ้านไร่ไออรุณ ระนอง
จากพื้นที่ที่ล้อมรอบไปด้วยต้นปาล์ม คุณเบสเพิ่มลูกเล่นให้กับบ้านพักโดยสร้างชั้นบนสุดที่เป็นห้องนอน ให้สูงขึ้นมาเหนือยอดปาล์ม ทำให้สามารถมองเห็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดระนอง “ยอดเขาพ่อตาโชงโดง” เป็นอีกวิวที่น่าประทับใจของการมาเยือนสถานที่แห่งนี้
ส่วน Landscape คุณเบสสร้างลำธาร ฝายน้ำล้น ทำพื้นที่แปลงผัก ปลูกดอกไม้ทานได้ เลี้ยงไก่ จากพื้นที่ธรรมดาให้มีการเคลื่อนที่มากขึ้น มีเสียงน้ำไหล มีต้นไม้ดอกไม้ มีสวนเกษตรผสมผสานในส่วนของที่พัก รวมถึงร้านอาหาร ที่ใช้ทุกอย่างที่ในฟาร์มเสตย์และวัตถุดิบจากชุมชน

มื้ออาหารจากวัตถุดิบในชุมชน

“ที่นี่อยู่ไม่ไกลจากทะเลมาก ประมาณ 10 กิโลเมตร แต่ชุมชนแห่งนี้อยู่ติดทะเลเลย มีทั้งแหล่งท่องเที่ยว มีอุทยานแห่งชาติแหลมสน ทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นมีอาชีพหลักๆ คือ เกษตรกรรม กับ ประมง และลูกหลานของชาวบ้านก็จะมาทำงานกับเราที่นี่ เราก็จะรับซื้อวัตถุดิบจากพนักงานมาประกอบอาหาร ทำให้เมนูอาหารที่ได้ส่วนใหญ่มาจากทะเลและฟาร์มผัก นำมาปรุงรสตามที่คนใต้กินกัน กลายเป็นอาหารของเราง่ายๆ ขึ้นมา”

วัตถุดิบที่ใช้ไม่ใช่แค่อาหารทะเลหรือพืชผักเท่านั้น แต่คุณเบสยังใช้วัตถุดิบจากชุมชนอย่าง ไม้ไผ่ ดอกไม้แห้ง งานจักสาน มาต่อยอดเป็นสินค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อกลับไปเป็นของฝากของใช้ได้อีกด้วย เป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอีกช่องทางหนึ่ง รวมถึงก็มีสินค้างานคราฟต์จากจังหวัดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

พนักงานจากชุมชนกะเปอร์

ตอนนี้มีทีมงานทั้งหมด 54 คน แบ่งเป็น 5 ทีม มี ทีมล็อบบี้ ทีมคนสวน ทีมช่าง ทีมแม่บ้าน และทีมครัว ทุกคนล้วนแล้วเป็นคนในหมู่บ้าน

“เราไม่ได้ทำ 6 คนเหมือนเมื่อก่อน แต่เราทำร่วมกันกับชาวบ้านในชุมชน โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราพยายามที่จะพัฒนาเรื่องของคนเป็นหลัก เพราะ โควิด 19 เราผ่านอะไรมาได้เพราะคนจริงๆ เราก็เลยอยากที่จะให้ความสำคัญกับคน เราเชื่อว่ามวลความสุขภายในของพนักงานทุกคนมีเยอะมากพอ เขาก็จะส่งออกมาในงานต่างๆ ได้ดี การสร้างอาคารให้สวยงามยังไม่เท่าสร้างคนให้สวยงามเลย สิ่งที่ลงทุนตรงนี้ไม่ใช่แค่อาคารแต่รวมถึงคนด้วย”

สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ไปอยู่ที่นี่ คือ เราสามารถรู้สึกถึงสิ่งที่พนักงานส่งมอบให้จาก แววตา รอยยิ้ม และน้ำเสียง ล้วนแล้วมีความอบอุ่นที่ออกมาจากใจ

ธารน้ำและพลับพลึงธาร

บริเวณนี้เป็นพื้นที่ลาดเอียงทำให้เวลาฝนตกน้ำจะไหลผ่านกระจายทั่วพื้นที่ และไม่สามารถเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้งได้ คุณเบสจึงริเริ่มขุดร่องน้ำร่วมกับคุณพ่อ แล้วทำเป็นฝายแม้วตามทฤษฎีของในหลวง เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับพื้นที่และช่วยให้พื้นที่อิ่มน้ำขึ้น ต้นไม้ก็จะดูเขียวอชุ่มมากขึ้น

“จนทุกวันนี้เกิน 8 ปีที่ทำมา มันก็กลายเป็นลำธารแบบจริงจัง แล้วพอปลูกพลับพลึงธารเข้าไป ก็อาจทำให้เราเป็นติดอันดับโลกได้ เพราะ พลับพลึงธารหาได้แค่ 1% ในโลกนี้ ระหว่างชุมชนรอยต่อระหว่างพังงากับระนอง แสดงว่าพื้นที่ของเราต้องมีความพิเศษ และชาวบ้านก็อนุรักษ์ด้วย ช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ชาวต่างชาติก็เริ่มมาดู เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราทำลำธาร ฝายน้ำล้น และขยายพลับพลึงธาร”

สวนบริเวณ Lobby สำหรับลูกค้าที่จองบ้านพักเพื่อรอเข้า Check-in

ความท้าทายของ บ้านไร่ไออรุณ ระนอง

“ความท้าทายของบ้านไร่ไออรุณ คือ เป็นโลเคชั่นที่ไม่สามารถเป็นรีสอร์ตได้ ธนาคารเองก็ไม่สามารถให้สินเชื่อได้ ซึ่งวันนั้นเราก็เข้าใจนะ เพราะ โลเคชั่นไม่สวย ไม่สามารถเป็นรีสอร์ตได้เลย ไม่เห็นภูเขา ไม่ติดทะเล ไม่มี flight บิน ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่าน แถมยังเข้ามาในถนนซอยลึก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา ที่เห็นอยู่นี้คือ ทำเข้ามาเองนะ”

“แต่เราก็ใช้วิธีของเรา คือ เราได้มาเท่าไหร่เราก็สร้างเท่านั้น เราต่อยอดมาได้ถึงทุกวันนี้ จากการสร้างจุดขายขึ้นมาจนกลายเป็นโลเคชั่นที่สามารถขายที่พักที่แพงที่สุดในระนองได้ เราต้องเริ่มจากทำให้คนรู้จัก มีคนเข้ามา มีความเป็นไปได้ สุดท้ายก็จะมีรายได้เกิดขึ้น”

แรงบันดาลใจของ บ้านไร่ไออรุณ ระนอง

“ไอเดียหลายๆ อย่างก็ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มีแรงบันดาลใจจาก Pinterest บ้าง ไปเห็นไอเดียต่างๆ ของต่างประเทศบ้าง แล้วเราก็มาลองทำเอง แต่มันก็จะไม่เหมือนของเขา เพราะเราต้องมาประยุกต์ใช้ตามที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และวัสดุในชุมชนที่เราหาได้ รวมถึงเงินในบัญชีที่เรามีตอนนั้นด้วย ก็เลยออกมาเป็นเราในทุกวันนี้”

“แต่ตอนนี้ของเราก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้เหมือนกัน มันก็ส่งเสริมในทุกๆ อย่าง จากที่เราได้เรียนจากคนอื่นมา วันนี้สถานที่ของเราก็เป็นไอเดียให้กับหลายๆ คน เราก็รู้สึกดี”

ความฝันที่ตกผลึก

“ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แล้วเราก็ชัดเจนในคำตอบที่ว่าทำไมเราต้องกลับมาที่บ้านในวัย 26 ปี เพราะความสำเร็จนั้น เราอยากให้คุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย ก่อนที่เราจะหายกันไป แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ถึงแม้ว่าวันนี้คุณแม่จะไม่อยู่ด้วยแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ได้กลับมาทำในวันนั้น คือ การทำหน้าที่ของลูกที่ดี กลับมาพัฒนาพื้นที่ของคุณพ่อคุณแม่ให้มีรายได้เกิดขึ้น ครอบครัวเรามีฐานะดีขึ้น รวมถึงคนในชุมชนที่อยู่ในหมู่บ้านตรงนี้ด้วย”

สำหรับคนที่อยากทำฟาร์มสเตย์

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเริ่มต้นทุกอย่าง เราต้องรู้จักตัวเองก่อน มันไม่ใช่ว่าเราเห็นคนอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จ แล้วเราจะทำตามเลย แต่ว่าตัวเขาไม่ได้มีสกิลด้านนี้ ไม่มีต้นทุนแบบนี้ มันก็อาจจะไม่เหมาะที่จะลงมือ กลับบางคนมีสิ่งที่สามารถต่อยอดพัฒนาได้ อันนี้น่าจะดีกว่า แทนที่ไปทำอะไรใหม่ทั้งหมด”

“แล้วก็อยากให้ทุกคนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน กลับมาเป็น startup เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในสังคมต่างจังหวัด มีอะไรให้ทำเยอะแยะมากมาย มันจะได้เกิดการขยายเมือง เดี๋ยวนี้ทั้งภาครัฐ หน่วยงาน ธนาคารต่างๆ ก็มีการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่อยากจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด”

“สุดท้ายนี้ หากคุณมีความฝัน มี passion มีความคิดสร้างสรรค์ มีที่ดิน หรือมีเงิน ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณไม่ลงมือทำมัน การลงมือทำของเราเท่านั้น คือ คำตอบของทุกๆอย่าง”

เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

กินอาหารอีสานพื้นบ้าน นอนพักสัมผัสวิถีชีวิต ที่ ฟาร์มสเตย์ มีกินฟาร์ม จ.ขอนแก่น

ไร่ภูผาสัก คาเฟ่ในป่าลับ บาริสต้า และผลไม้อบแห้ง